รัฐบาลต้องเคร่งครัดบริหารงบประมาณและใช้เงินอนาคตของประชาชนอย่างมีทิศทาง มียุทธศาสตร์ และมีประสิทธิภาพ

วันนี้เรามีโจทย์ใหญ่สำคัญ 2 ประการ ที่กำลังคุกคามโลกและประเทศไทย คือ   
   
1) วิกฤติ “โควิด-19” การติดเชื้อและความเจ็บป่วยที่กำลังก่อผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนทั้งโลกอย่างรุนแรง รวดเร็ว การขยายตัวในปริมาณและพื้นที่ในวงกว้างระดับโลก จนคาดเดาไม่ได้ว่ารัฐบาลแต่ละประเทศจะสามารถจัดการและประคับประคองสถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นนี้ให้ประชาชนในประเทศของตนเผชิญอันตรายและสูญเสียน้อยที่สุดได้อย่างไร
   
2) วิกฤติ “เศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดของไวรัส “โควิด-19” อันเป็นผลที่ตามมาและจะก่อผลสะเทือนที่ขยายวงกว้างไปทั้งโลก สถานการณ์เศรษฐกิจของแทบทุกประเทศไม่สามารถดำเนินไปในทิศทางเดิมได้อีก เกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ ทั้งปัญหาแรงงาน การยุติการลงทุน การท่องเที่ยว การเดินทางสื่อสารระหว่างกันของประชาชนมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดวิกฤติที่ทับซ้อนเข้ามาคุกคามประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย
 
วิกฤติทั้งสองนี้ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่ และมีผลกระทบต่อทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น มากเกินกว่าจะคาดคิด… หากรัฐบาลหรือผู้นำประเทศใดไม่มีศักยภาพมากเพียงพอที่จะสามารถกอบกู้วิกฤติครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ ผลที่ติดตามมาจะส่งผลเสียหายต่อประชาชนในประเทศนั้นอย่างรุนแรงยิ่ง
 
สถานการณ์ดังกล่าว คือข้อท้าทายภาวะการนำที่มีศักยภาพ ที่ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการทดสอบวิสัยทัศน์ การคิดเชิงยุทธศาสตร์ในอนาคตว่า ผู้นำมีความสามารถในการนำความรู้ด้านการบริหาร ประสานกับความรู้เฉพาะทางจากวิชาชีพที่เชี่ยวชาญ การจัดการงบประมาณและทรัพยากรทุกด้านที่จำเป็น มีความเป็นผู้นำที่สามารถสื่อสารอย่างน่าเชื่อถือในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในประเทศของตนอย่างไร
 
จากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ เราได้เห็นความโดดเด่นในการแก้ไขปัญหาของผู้นำหลายประเทศ ที่แสดงถึงศักยภาพการบริหารประเทศภายใต้ภาวะวิกฤติ ซึ่งมีความชัดเจน เด็ดขาด ตรงไปตรงมา มองเห็นภาพรวมทั้งระบบในการแก้ไขปัญหา ทำให้คนทั้งประเทศมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจ สามารถทำให้ผู้คนพร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญ
 
ผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำลังก้าวเข้าสู่บททดสอบสำคัญ ถึงความสามารถในการบริหารประเทศยามวิกฤติ และต่างกำลังพยายามใช้ทุกวิถีทางในการบริหารจัดการประเทศของตน ให้ก้าวพ้นปัญหา และเลือกใช้มาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ และร่วมประคับประคองประเทศให้พ้นวิกฤติ
 
ผมขอยกตัวอย่างประเทศใกล้บ้านเราอย่างเช่นสิงคโปร์ วันนี้เขารับมือกับวิกฤติโดยบริหารงบประมาณของประเทศจำนวนมากถึง 3 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำมากระตุ้นและเตรียมรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยมุ่งรับมือกับความถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกที่กำลังจะมาถึง และเตรียมรับมือกับวิกฤติที่เป็นผลกระทบจากการระบาดที่ร้ายแรงของ “โควิด-19” โดยใช้นโยบาย 3 ประสาน คือ นโยบายการเงินการคลัง นโยบายสาธารณสุขที่สู้กับการระบาดของโรค และนโยบายการช่วยเหลือดูแลหน่วยธุรกิจต่างๆ ทุกระดับของประเทศ พร้อมกับการประคับประคองเยียวยาประชาชนและคนยากคนจนของสิงคโปร์ให้อยู่รอดได้ นั่นเพราะเขาให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ในฐานะที่เป็นพลังสำคัญสำหรับการฟื้นฟูและผลักดันให้ประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว ด้วยการใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด มาทุ่มเท เตรียมรับมือและฟื้นฟูประเทศ เพื่อเตรียมก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะมาถึง
 
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สร้าง “ผู้นำ” ฉันใด สถานการณ์ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความล้มเหลวของ “ผู้นำ” ได้ฉันนั้น
   
เมื่อมองกลับมาที่สถานการณ์ของประเทศไทยเราในวันนี้ จึงเป็นบททดสอบสำคัญต่อ “นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี” ว่ามีศักยภาพเพียงพอในการเป็นผู้นำในยามวิกฤติหรือไม่ และจะสามารถนำพาประเทศของเราให้ก้าวข้ามพ้นวิกฤติได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งผมได้เคยบอกกล่าวไปแล้วว่าในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เราพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่
 
หากแต่วันนี้ เรายังไม่เห็นถึงความชัดเจนของรัฐบาลในนโยบายสำคัญด้านการเงินการคลัง ว่ามีแผนจะจัดการปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณปี 2563 อย่างไร เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทั้งทางชีวิต สุขภาพ การป้องกันตนเอง และการเร่งเยียวยาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมทั้งหน่วยเศรษฐกิจ บริษัท ห้างร้านในระดับต่างๆ ที่ต้องมีมาตรการการดูแลไม่ให้เสียหายมากจนเกินไป เพราะส่งผลผูกพันกับพนักงาน แรงงานจำนวนมหาศาล รวมถึงกลุ่มเกษตรกรในภาคการผลิตที่ขาดการดูแลและประกันรายได้ รัฐบาลควรมีแผนการเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ของประเทศ คู่ขนานไปกับการแก้วิกฤติสุขภาพ โดยควรกำหนดทิศทางให้ชัดเจนว่า จะมีนโยบายเตรียมพร้อมเศรษฐกิจของประเทศในทุกภาคส่วนอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเห็นแนวโน้มและจังหวะก้าวของชีวิตในอนาคต พร้อมกับการเตรียมการรับมือเศรษฐกิจครัวเรือนของตนอย่างมีความหวัง
 
นอกจากผมจะยังไม่เห็นความชัดเจนในการปรับงบประมาณปี 2563 แล้ว ผมยังมีความเป็นห่วงต่อการที่รัฐบาลเตรียมการจะขอออกพระราชกำหนดสำคัญทางการเงิน โดยเฉพาะพระราชกำหนดกู้เงิน ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่มีคุณภาพ เราอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการนำเงินเก็บก้อนใหญ่อันเป็นเงินในอนาคตของประเทศ มาใช้อย่างขาดหลักประกัน ผมพร้อมสนับสนุนหากรัฐบาลนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาของประเทศและพี่น้องประชาชนอย่างมีแผน อย่างเป็นระบบ ครบถ้วนรอบด้าน ทั่วถึง และโปร่งใส อันจะเป็นผลต่อการเยียวยาชีวิตให้กับคนไทยทุกชนชั้น ทั้งแผ่นดิน
 
แต่วันนี้…ผมยังไม่เห็นแผนการใช้งบประมาณที่ชัดเจนเลยครับ
 
ผมขออนุญาตส่งเสียงเตือนรัฐบาลอย่างจริงจัง เพราะนี่คือ “เรื่องสำคัญอย่างยิ่งของประเทศ”
 
ผมอยากเห็นการบริหารประเทศ ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลาและเท่าทันสถานการณ์
ไม่อยากเห็นการบริหารงาน ที่ไร้ทิศทาง ไร้ยุทธศาสตร์ ทำลายอนาคต ทำลายโอกาสของประเทศ และทำลายความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชน   
 
ผมและพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งประชาชนคนไทยจะเฝ้าติดตามการบริหารงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด
 
และหวังว่าเสียงสะท้อนของพวกเรา จะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วม ที่รัฐบาลพึงรับฟัง เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างดี
 
สมพงษ์ อมรวิวัฒน์
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
8 เมษายน 2563