“ลาดกระบัง” มุมใหม่ที่น้อยคนจะรู้จักกับ ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์
เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น
น้อยคนที่จะทราบว่ายังมีพื้นที่ซึ่งมีความลงตัวระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมกับธรรมชาติ
วิถีชีวิตแบบใหม่กับวิถีชีวิตดั้งเดิม และหากบอกว่าเขตพื้นที่นั้นคือ เขตลาดกระบัง แน่นอนว่าหลายคนคงไม่อยากจะเชื่อ
เพราะเมื่อพูดถึงเขตลาดกระบังแล้ว คนทั่วไปมักจะนึกถึงเขตพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่
พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิและพื้นที่ตั้งของแหล่งขนส่งขนาดใหญ่ของบริษัทขนส่งต่างๆ
วันนี้ ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตลาดกระบัง จะพาไปรู้จักลาดกระบังในแบบที่เราท่านไม่เคยรู้จักมาก่อน
@ ในฐานะที่เป็นอดีต
ส.ส. ในพื้นที่เขตลาดกระบัง
และครอบครัวทำงานด้านการเมืองในพื้นที่เขตลาดกระบังมาเป็นเวลานาน
ช่วยให้คำจำกัดความของเขตพื้นที่ลาดกระบัง
ดร.ธีรรัตน์
: เขตลาดกระบัง เป็น 1 ใน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่กว้างเป็นอันดับสองรองจากเขตหนองจอก
ประชากรมีความหลากหลายอาศัยอยู่ร่วมกัน เพราะเป็นเขตที่มีทั้งพื้นที่สีเขียว ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม
และพื้นที่เขตอุตสาหกรรม จึงมีพี่น้องจากจังหวัดต่างๆ ย้ายเข้ามาทำงานมากมาย
นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมต่างๆ ที่อนุรักษ์ไว้ เช่น ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ
ของชาวรามัญ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน
และในพื้นที่นี้มีคูคลองหลายสายที่ปัจจุบันยังเป็นเส้นทางสัญจรที่ใช้กันอยู่ของชาวบ้าน
@ พื้นที่เขตลาดกระบังอยู่ติดกับเขตของสนามบินสุวรรณภูมิ
อยากทราบว่าการที่เขตพื้นที่อยู่ติดกับสนามบินเช่นนี้มีประโยชน์อย่างไรบ้าง
และคิดว่าควรพัฒนาไปในทิศทางไหน
ดร.ธีรรัตน์
: ถือเป็นการนำความเจริญแบบก้าวกระโดด
เกิดการเปลี่ยนแปลงกับพื้นที่บริเวณที่ติดกับสนามบินอย่างชัดเจน
มีการเกิดขึ้นของร้านอาหาร สถานบันเทิงห้องพัก โรงแรมมากมาย
ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชาวบ้าน
แต่ปัญหาคือ
ก่อนที่สนามบินจะเข้ามาเราขาดการเตรียมพร้อม วางแผน เพื่อรองรับความเจริญที่เข้ามา
ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายในการพัฒนากันต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาแวะพัก
1-2 วัน ก่อนต่อเครื่องไปประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมากทีเดียว
จึงมองว่าเราสามารถเพิ่มรายได้เข้าประเทศ โดยมองหาจุดเด่นของเขตลาดกระบัง
มาเป็นจุดขาย เช่น บ้านเราคลองเยอะ
บ้านเรือนริมคลองยังมีวีถีชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติอยู่ เราก็เลยจัดกิจกรรมล่องเรือ
1 Day Trip ชมธรรมชาติเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
เรามีวัดที่ติดคลองเยอะ เราก็พานักท่องเที่ยวไปชมวัดวาอารามที่สวยงามของเราได้ เป็นเรื่องที่คิดร่วมกับชุมชน
ซึ่งแค่คิดรายละเอียดก็สนุกแล้ว
@ เขตลาดกระบังมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
คือ ตลาดโบราณหัวตะเข้ อายุกว่า 100 ปี ซึ่งทางดร.ธีรรัตน์ได้เข้าไปร่วมกับชุมชนเพื่อพัฒนาตลาดโบราณแห่งนี้ อยากทราบแนวทางที่ทำงานร่วมกับชุมชนตลาดแห่งนี้และร่วมกันวางแผนพัฒนาอย่างไร
ดร.ธีรรัตน์
: ตรงนี้จะต่อเนื่องมาจากแนวคิด 1 Day Trip ล่องเรือชมธรรมชาติ
ตลาดนี้อยู่ริมคลองประเวศบุรีรมย์ เราสามารถนำนักท่องเที่ยวมาแวะพักที่นี่ได้
เดิมเป็นบ้านพักอาศัยของพ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายในตลาดสดฝั่งตรงข้าม
แต่ปัจจุบันมีการย้ายออกไปบ้าง จึงมีอาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่าจากสถาบันในพื้นที่
เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาลัยช่างศิลป์ ได้เข้ามาช่วยกันปรับปรุงบ้านไม้เก่าเสื่อมโทรม
ให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง มี Gallery แสดงภาพวาดของนักศึกษา
มีการสอนเด็กๆ ในชุมชนใกล้เคียงให้เรียนรู้งานศิลปะด้านต่างๆ ด้วย
ก่อนหน้านี้เราได้ปรับปรุงสะพานไม้ข้ามคลองที่ใกล้จะพัง
โดยการประสานกับกรมชลประทานและสำนักงานเขตให้แก้ไข
ทำให้การเดินทางเพื่อเข้าถึงตลาดแห่งนี้สะดวกยิ่งขึ้น อีกอย่างคือเนื่องจากเป็นตลาดไม้
ทำให้ชาวบ้านต้องระวังเรื่องฟืนไฟ เราควรต้องเข้ามาวางระบบป้องกันอัคคีภัยอย่างเร่งด่วนให้
ที่สำคัญคือ
เมื่อมีของดีแล้วต้องบอกต่อ ต้องประชาสัมพันธ์ให้คนมาเที่ยว คนกรุงเทพฯ
ไม่ต้องไปไกล ในกรุงเทพฯ ก็มีตลาดไม้ที่รอการมาเยือนของทุกคนอยู่
@ อีกจุดเด่นสำคัญ คือ
เขตลาดกระบังมีพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งน่าสนใจมากเพราะคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่ากรุงเทพฯ
ไม่น่าจะมีพื้นที่ในการทำการเกษตรขนาดใหญ่แบบนี้แล้ว
ดร.ธีรรัตน์:
ลาดกระบังยังมีนาปลูกข้าวอยู่มาก ซึ่งหาไม่ง่ายแล้วจริงๆ ทำให้เราอยู่ตรงนี้ ได้มองเห็นชีวิตหลายแบบ ชีวิตคนเมือง
รถติดวุ่นวาย ก็มีที่นี่ ชีวิตแบบสงบ เลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกข้าว ที่นี่ก็มี
เราเองบ่อยๆ ก็ไปคุยกับชาวนา ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกัน คุยไปคุยมา
บ้านใครมีมะม่วงก็เก็บให้เรากิน บ้านใครเลี้ยงปลาก็ฝากมาให้แม่
บ้านไหนปลูกข้าวก็ฝากความคิดถึงคุณพ่อ เพราะแต่ก่อนคุณพ่อพายเรือรับซื้อข้าวจากชาวนาอยู่แถวนี้
จะบอกว่าพื้นที่นาตรงนี้มีประโยชน์ไม่ใช่แต่กับชาวนานะ ยังสามารถเป็นปอดให้กับคนกรุงเทพฯ
ด้วย ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เราเคยหารือที่สภาฯ
ไว้ว่าอยากให้เป็นเส้นทางจักรยานของนักปั่นชมธรรมชาติ
ซึ่งตอนนี้ก็มีชมรมนักปั่นเริ่มมาสำรวจเส้นทางกันบ้างแล้ว
แต่ต้องพัฒนาอีกเยอะเนื่องจากถนนหนทางมันพังเยอะเลย ถนนบางเส้นยังแคบอยู่
อาจเป็นอันตรายได้ เราต้องไปขยายถนนเพิ่ม
ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐจึงจะสำเร็จ
@ สุดท้าย จะฝากอะไรถึงพี่น้องประชาชนในฐานะตัวแทนของชาวลาดกระบัง
ดร.ธีรรัตน์
: อยากจะฝากไปถึงผู้ชมที่เข้ามาเยี่ยมเว็บไซต์พรรค หรือว่านักท่องเที่ยว ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่อยากให้มาเยือน
ชาวลาดกระบังเองก็ยินดีต้อนรับ เพราะเป็นสถานที่ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อท่านมาเที่ยวแล้ว
จะได้รับความรู้สึกเหมือนได้ไปท่องเที่ยวตามต่างจังหวัด ยังมีอากาศที่บริสุทธิ์
ยังมีการติดต่อค้าขายที่เหมือนญาติสนิทกัน เหมือนพี่เหมือนน้อง
พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นการหลีกหนีจากความวุ่นวายในเมือง
ลาดกระบังยังมีอีกหลายๆ จุดที่อยากจะแนะนำ มีอีกหลายโครงการที่ต้องการการพัฒนาและหากมีโอกาสจะสานต่อให้สำเร็จ
ซึ่งหากสำเร็จได้โดยได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ คิดว่าจะเป็นจุดสำคัญที่จะมีประโยชน์ในทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นชุมชนและนักท่องเที่ยว.