9 สถานที่ไหว้พระขอพรในเทศกาลตรุษจีน

1.วัดเล่งเน่ยยี่ 


ภาพจาก : www.painaidii.com

วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ “วัดมังกรกมลาวาส” (ซอยเจริญกรุง 19 และ 21) เป็นวัดจีนที่เป็นที่มีคนรู้จักมากที่สุดในประเทศไทย ไม่ใช่เพียงเพราะสถานที่จะตั้งอยู่ใกล้กับเยาวราชซึ่งเป็นชุมชนคนจีนที่เก่าแก่ที่สุดของไทยเท่านั้น แต่ก็ยังขึ้นชื่อในเรื่องการไหว้พระขอพรเป็นอันดับต้นๆเลยทีเดียว ชื่อวัดเล่งเน่ยยี่ มาจากภาษาจีนสำเนียงกวางตุ้ง คำว่า “เล่ง” หรือ “เล้ง” แปลว่ามังกร คำว่า “เน่ย” แปลว่า ดอกบัว ส่วนคำว่า “ยี่” แปลว่า วัด รวมความจึงแปลว่า วัดมังกรดอกบัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานนามของวัดนี้ว่า “วัดมังกรกมลาวาส” 

2. วัดบรมราชากาญจนานุสรณ์ 


ภาพจาก : th.wikipedia.org

วัดบรมราชากาญจนานุสรณ์ หรือ “วัดเล่งเน่ยยี่ 2” (อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี) ถือเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีผู้คนให้ความสนใจไปไหว้พระขอพรเป็นจำนวนมากเช่นกัน เพราะนอกจากจะเป็นวัดสาขาของวัดเล่งเน่ยยี่แล้ว ในด้านสถาปัตยกรรมก็ยังมีความโดดเด่นยิ่งนัก เนื่องจากใช้รูปแบบของพระราชวังต้องห้ามมาเป็นต้นแบบ อีกทั้งยังสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี อีกด้วย

3. วัดกัลยาณมิตร


ภาพจาก : www.thailandholidayclub.com

วัดกัลยาณมิตร หรือ “วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” เป็นวัดที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ต้นสกุลกัลยาณมิตร ได้อุทิศบ้านและพื้นที่รอบข้างสร้างขึ้น ซึ่งแต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้มีคณะสงฆ์จีนพำนักอยู่ จึงกลายเป็นชื่อเรียกชุมชนแถบนี้ว่า “หมู่บ้านกุฎีจีน” ต่อมาจึงได้มีการถวายวัดนี้ให้เป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระราชทานนามของวัดนี้ว่า “วัดกัลยาณมิตร” โดยวัดกัลยาณมิตรนี้มีหลวงพ่อโต (ซัมปอกง) องค์ใหญ่ สูงกว่า 7 วา เป็นที่เคารพสักการะยิ่งโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีนที่นิยมมาไหว้พระขอพรในโอกาสต่างๆเรื่อยมา

4. ศาลเจ้าพ่อเสือ


ภาพจาก : www.pantip.com

ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ศาลเจ้าพ่อเสือ” เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร คนจีนเรียกศาลเจ้านี้ว่า “ตั่วเหล่าเอี้ย” โดยเป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้, รูปเจ้าพ่อเสือ, รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม ว่ากันว่าตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ขยายถนนบำรุงเมือง ได้โปรดให้ย้ายศาลมาไว้ที่ทางสามแพร่งถนนตะนาว จนถึงปัจจุบัน

5. วัดไตรมิตร


ภาพจาก : www.oknation.net

วัดไตรมิตร หรือ ชื่อเต็มคือ “วัดไตรมิตรวิทยาราม” ตั้งอยู่ที่ถนนมิตรภาพไทย-จีน แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เป็นวัดโบราณอยู่ในที่ลุ่ม พระอารามเป็นเรือนไม้ มีชื่อเดิมว่า “วัดสามจีน” เข้าใจกันว่า ชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ ว่ากันว่ามีตำนานใกล้เคียงกับวัดนางปลื้ม (วัดสามปลื้ม) หรือวัดจักรวรรดิฯ ภายในอุโบสถมี “พระพุทธทศทลญาณ” เป็นพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้น ลงรักปิดทอง ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อโต” บ้าง “หลวงพ่อวัดสามจีน” มีประชาชนมาบนบานกันเสมอ ๆ ด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ และได้ตรัสยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก

6. ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง


ภาพจาก : followtrip.blogspot.com

ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย หรือ “จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง”  เป็นศาลเจ้าจีนในจังหวัดภูเก็ต คนภูเก็ตเรียกศาลเจ้าว่า “อ๊าม” ตั้งอยู่ที่ซอยภูธร ถนนระนอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยความหมายของคำว่าจุ้ยตุ่ยนั้น “จุ้ย” แปลว่า น้ำ “ตุ่ย” แปลว่า ครกตำข้าว สมัยก่อนนั้น หน้าบริเวณศาลเจ้าเป็นคลองกว้าง มีน้ำมาก ชาวบ้านจึงสร้างกังหันขึ้น เพื่อใช้กำลังจากน้ำมาตำข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะชาวภูเก็ตเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ตเนื่องในเทศกาลตรุษจีนและกินเจ ก็มักจะนิยมเข้าไปกราบไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิในศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยนี้เสมอๆ 

7. ศาลเจ้านาซาไห้จื้อ 


ภาพจาก : 1081009.tourismthailand.org

ศาลเจ้านาจา หรือ “ศาลเจ้านาซาไห้จื้อ” ตั้งอยู่ที่บริเวณวิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม เป็นศาลเจ้าจีนที่ก่อสร้างโดยมูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์อย่างสวยงามใหญ่โต ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว สวยงามอลังการมาก ประดับประดาด้วยสีสันลวดลายมังกร ทั้งสีทอง สีแดง สีเขียว เวลาต้องแสงอาทิตย์แล้วงดงามเกินบรรยาย ตั้งอยู่ที่ตำบลอ่างศิลา มีเนื้อที่ 4 ไร่ มีตึก 4 ชั้น ภายในโอ่โถงตระการตาด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน ประดิษฐานรูปเคารพของเทพเจ้าจีนมากมายหลายองค์ เช่น เทพเจ้าหน่าจาซาไห้จื้อ เจ้าแม่กวนอิมพันมือ เป็นต้น หาดขึ้นไปชั้นบนก็สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ชายทะเลได้สวยงาม 

8. ศาลเจ้าพ่อหลักเมิองสุพรรณ


ภาพจาก : monkeycorners.blogspot.com

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ ซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่า “ศาลเทพารักษ์หลักเมือง” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดสุพรรณบุรีและประชาชนทั่วไปมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว ศาลเทพารักษ์หลังเดิมเชื่อกันว่าสร้างตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้มีการบูรณะใหม่สร้างอาคารครอบหลังเดิมไว้ เมื่อกราบไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเรียบร้อยแล้ว ที่เดียวกันนี้เองก็ยังมีบริเวณอันกว้างใหญ่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆที่เรียกว่าอุทยานมังกรสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวให้เดินชมและพักผ่อนด้วย นอกจากจะได้ไหว้พระขอพรแล้ว ที่นี่ก็ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ในเขตเมืองโบราณสุพรรณบุรี ถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

9. ศาลเจ้าปุงเถ่ากง เชียงใหม่


ภาพจาก : www.myrcosmeticssolution.com

ศาลเจ้าปุงเถ่ากง เชียงใหม่ เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในเชียงใหม่สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของเหล่าบรรพชนชาวจีนโพ้นทะเล โดยอาคารหลังเดิมสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และได้พบตัวเลข 2419 สลักอยู่บนไม้อกไก่ของหลังคา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นปีที่ก่อสร้าง เนื่องจากอาคารหลังเดิมมีสภาพหลังคาเตี้ย คับแคบ ชำรุดทรุดโทรมมาก ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ.2539 ตรงกับปีกาญจนาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองราชย์ครบ 50 พรรษา ซึ่งตรงกับวาระสมโภชน์ 700 ปี นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่ จึงได้มีการวางศิลาฤกษ์และดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลเจ้าหลังใหม่จนเสร็จสมบูรณ์