“Make It Happen” วันสตรีสากลวันแห่งศักดิ์ศรีและความเท่าเทียม

วันสตรีสากล (International Women’s Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งอดีตที่ผ่านมาสตรีมักเป็นฝ่ายที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของชาย
ไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพอย่างที่ควรจะได้รับ และการเอารัดเอาเปรียบที่มีต่อสตรีในสังคม
สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้สตรีส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม
และความเท่าเทียมกันในสังคม
[1]

ในปีนี้ 2015International
Women’s Day ได้จัดให้วันสตรีสากลปีนี้เน้นสร้างความเสมอภาคให้เป็นจริง ตามธีม “Make It
Happen” เพราะจากประวัติความเป็นมาของวันสตรีสากลนั้นเป็นการต่อสู้จากการถูกเอาเปรียบ
กดขี่ขูดรีด[2]

ดังนั้น
จึงมีการรณรงค์ในปี 2015 และถือเป็นโอกาสเฉลิมฉลองความสำเร็จของเหล่าสตรี
รวมทั้งมีความจำเป็นต้องสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นเป็นจริง
ส่งเสริมการเคลื่อนไหวให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าและการยอมรับมาสู่สตรีทั่วโลก

และเพื่อให้สอดคล้องกับการรณรงค์ให้ความเสมอภาคเป็นจริงในปี
2015
กองบรรณาธิการเว็บพรรคเพื่อไทยจึงขอนำเสนอเรื่องราวของผู้นำสตรีทั่วโลก เพื่อเป็นเกร็ดความรู้เรื่องแนวทางพัฒนาสังคมไทยต่อไป

ย้อนอดีตมองเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี

เริ่มตั้งแต่วันที่
8 มีนาคม ค.ศ.1857 กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีจากโรงงานทอผ้าและตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม
ได้พากันเดินขบวนประท้วงในกรุงนิวยอร์ก
เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงานและให้มีการรับรองสภาพการทำงานของสตรีที่ดียิ่งขึ้น
โดยเรียกร้องเพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงาน

แต่แล้วเหตุการณ์ก็จบลงด้วยการฆาตกรรมคนงานหญิง
119 คน
โดยการเผาโรงเรียนในขณะที่คนงานหญิงกำลังประท้วงอยู่[3]

ในปี ค.ศ.1866 การประชุมสมัชชาของบรรดาสมาคมผู้ใช้แรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 1 ได้มีการออกมติเกี่ยวกับการทำงานอาชีพของสตรี ถือเป็นการท้าทายอย่างเปิดเผยต่อขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมในสมัยนั้นที่กำหนดให้สตรีต้องอยู่แต่เฉพาะในบ้านเท่านั้น

 ปี ค.ศ.1907 กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่
ขูดรีด ทารุณจากนายจ้าง ที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา[4]

โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงาน
จากวันละ 12-15 ชั่วโมงให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงานและให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย
ในการเรียกร้องครั้งนี้แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม
แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก

8 มีนาคม ค.ศ.1910 ได้มีการประชุมครั้งที่ 2 ของสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ (International Conference of
Socialist Women) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีคลาร่า เซทกิ้น
นักสังคมนิยมจากเยอรมันในฐานะที่เป็นเลขาธิการของสตรีสากล ได้เสนอให้วันที่ 8
มีนาคมเป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของคนงานหญิงโรงงานทอผ้าในกรุงนิวยอร์ก

ปี ค.ศ.1914 วันสตรีสากลได้จัดขึ้น โดยได้เชิดชูคำขวัญของขบวนการสันติภาพ
ทั้งนี้เพื่อต่อต้านสงครามที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในยุโรป หลังจากนั้นเป็นต้นมาการฉลองวันสตรีสากลก็ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สตรีในทวีปต่างๆ ทั้งแอฟริกา เอเชียและละตินอเมริกาต่างก็ร่วมมือกันต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมกัน
เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม
รวมทั้งร่วมกันผลักดันให้มีการตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนของสตรีอย่างสมบูรณ์

 ปี ค.ศ.1957 องค์การสหประชาชาติได้เห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วม
โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้มีมติที่ 32/142 ในการเชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลกกำหนดให้วันหนึ่งวันใดเป็นวันฉลองแห่งชาติว่าด้วยสิทธิสตรีและสันติภาพสากล
โดยทั้งนี้ให้ขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณีและสภาพทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ.