เล่าเรื่องผู้นำสตรี : นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ถ้าใครถามว่าสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกในปัจจุบันนี้คือใคร เมื่อดูจากการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ได้ให้
นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธรัฐเยอรมนีเป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกถึง
3 ปีซ้อน
แต่ทว่าเส้นทางการเมืองและชีวิตของนางอังเกลา แมร์เคิลไม่ง่ายเลยกว่าจะมีความสำเร็จเช่นวันนี้
 

นางอังเกลา
แมร์เคิลเป็นผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองให้กับประเทศเยอรมนีเป็นอย่างมาก  เริ่มตั้งแต่การเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ  เป็นผู้นำประเทศคนแรกที่มาจากเยอรมนีตะวันออกและยังสามารถชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถึงสามสมัยในปี
2556

จากพื้นฐานชีวิตที่มาสายวิทยาศาสตร์ตั้งแต่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกทางด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยไลพ์ซิจและเข้าสู่การทำงานที่สถาบันวิทยาศาสตร์เยอรมนี
ในเยอรมนีตะวันออกทำให้นางอังเกลามีกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก

การเข้าสู่เส้นทางการเมืองของนางอังเกลาเริ่มต้นที่เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม
Democratic Renewable เพื่อต่อต้านรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกในยุคทศวรรษที่ 80 และเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอด 10 ปี โดยเมื่อมีการรวมประเทศเยอรมนีเข้าด้วยกันแล้ว  นางอังเกลาได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคสหภาพคริสเตียนประชาธิปไตย (CDU) จนได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภาในฐานะตัวแทนของรัฐเมคเลนบูร์ก-ฟอร์พอมเมิร์นในปี 2543 และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงครอบครัวและผู้หญิงและกระทรวงสิ่งแวดล้อมจนถือได้ว่าเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดและยังเป็นรัฐมนตรีหญิงอีกด้วย

ในเส้นทางการเมืองของนางอังเกลานับว่าไม่ง่ายแม้แต่น้อย  ส่วนหนึ่งมาจากความเป็นคนเยอรมนีตะวันออก
ความเป็นผู้หญิง รวมถึงด้านครอบครัวที่ผ่านการหย่าร้างมาหนึ่งครั้ง  มีการแต่งงานใหม่และไม่มีลูก เพราะพรรค CDU เป็นพรรคที่เคร่งศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิก
แต่เธอนับถือนิกายโปแตสแตนท์ รวมทั้งพรรค CDUถือว่าเป็นพรรคที่ผู้ชายเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมาก แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานการเมืองและถือว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ในเวลานั้น
นับว่าหาได้ยากที่ผู้หญิงจากอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ที่มาแข่งขันในระบอบประชาธิปไตยทั้งภายในพรรคและสนามการเลือกตั้ง  จะสามารถชนะการเลือกตั้งได้ง่าย
แต่ทว่าเธอก็ทำได้จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค CDU ในปี 2000

ภายในเวลา 5 ปี
นางอังเกลาสามารถชนะการเลือกตั้งก้าวขึ้นเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศเยอรมนีในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยจัดตั้งรัฐบาลผสม
มีพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) และพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี
(SPD) ร่วมจัดตั้งรัฐบาลขึ้น  

ผลงานที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น  ถือว่าได้เป็นช่วงของความท้าทายอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและยูโรโซน  โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ
3 ซึ่งนับว่าไม่น้อยสำหรับประเทศเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลกและยังสามารถส่งออกสินค้าได้เป็นอันดับหนึ่งของยุโรป

ขณะเดียวกันการใช้เวทีการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะเวทีสหภาพยุโรป  ในหลายครั้งทำให้เธอได้รับเลือกเป็นประธานคณะมนตรีแห่งยุโรปในปี
2550 และยังได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มประเทศ G8  ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก  โดยเป็นผู้หญิงคนที่สองที่ได้เป็นประธานกลุ่ม G8
ต่อจากนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์

สิ่งที่วัดความสามารถในการนำพาประเทศเยอรมนีได้ดีที่สุดคือ
วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่เป็นผลจากทั้งวิกฤตการเงินในสหรัฐและวิกฤตเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศ
PIGS ได้แก่ กรีซ อิตาลี สเปนและโปรตุเกส
จนทุกวันนี้เศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นจากวิกฤต
แต่เศรษฐกิจเยอรมนีกลับแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก 
มีอัตราการเติบโตทุกปี
รวมทั้งภาวการณ์ว่างงานที่ต่ำแต่มีอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และทำให้เยอรมนีเป็นเสาหลักที่สำคัญในการกอบกู้เศรษฐกิจยุโรป
โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีต้องทรุดตามไปด้วย

แต่ภาพของความเป็นนายกรัฐมนตรีที่แข็งแกร่ง
สามารถนำพาประเทศเยอรมนีผ่านวิกฤตสำคัญมาได้ 
ส่วนหนึ่งมาจากความเป็นคนธรรมดาเดินดิน ภาพของการเดินตลาด จ่ายของในตลาด ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นคนธรรมดา
ติดดิน ไม่ได้เสแสร้งแต่อย่างใดและยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานในการทำงานทั้งด้านการเมืองและการบริหารประเทศ
นั่นทำให้นางอังเกลา สามารถชนะใจชาวเยอรมนีในการเลือกตั้งถึง 
3  ครั้งติดต่อกันนับเป็นผู้นำหญิงของชาวเยอรมนีอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันประเทศไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์กันมายาวนานจนนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับประเทศยืนนานนับร้อยปี
เมื่อครั้งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อดีตนายกรัฐมนตรี เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ นางอังเกลา
แมร์เคิลได้กล่าวถึงประเทศไทยไว้ช่วงหนึ่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าเยอรมนีมีความใกล้ชิดและติดตามสถานการณ์ของไทยมาโดยตลอด
โดยกล่าวว่า “การเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ  17 ปี ดิฉันมีความยินดีเป็นพิเศษด้วยที่ปี 2555
เป็นปีที่ประเทศไทยและเยอรมนีฉลองวาระครบ 150 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต
เราทั้งสองประเทศมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางบุคคลที่แน่นแฟ้น

พวกเรามีความยินดีที่ได้ทราบว่า
นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน
มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาภูมิภาคต่างๆ รวมถึงภาคใต้อย่างจริงจัง
ซึ่งเราเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางการเมือง
เพราะในท้ายที่สุดประชาชนต้องการเห็นความก้าวหน้าในชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง”

(แปลจากคำแถลงข่าวร่วมของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
วันที่18 กรกฎาคม 2555)

จะเห็นได้ว่าเส้นทางการการเมืองของนางอังเกลา
แมร์เคิล ที่ผ่านมาเป็นเส้นทางของนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ผ่านการพิสูจน์ความยากลำบากตั้งแต่ครั้งในเยอรมนีตะวันออกจนมาถึงการชนะการเลือกตั้งถึง 3 สมัย
และความสามารถต่างๆได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้นำหญิงว่าไม่ได้ด้อยไปกว่านายกรัฐมนตรีผู้ชายแต่อย่างใดเลย