เล่าเรื่องผู้นำสตรี : นางคริสตินา เฟอร์นันเดซ เดอ เคิร์ชเนอร์ สตรีผู้ทรงอิทธิพลแห่งอาร์เจนตินา

จะมีผู้หญิงซักกี่คนในโลกที่เคยเป็นทั้งสตรีหมายเลขหนึ่ง  และก้าวมาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ
หนึ่งในไม่กี่คนนั้นคือ
คริสตินา เฟอร์นันเดซ เดอ เคิร์ชเนอร์” ซึ่งเป็นทั้งภรรยาของอดีตประธานาธิบดีเนสเตอร์ เคิร์ชเนอร์
แห่งอาร์เจนตินา
และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอาร์เจนตินาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ที่สำคัญเธอคนนี้สามารถชนะการเลือกตั้งมาแล้วถึง 2 สมัย

เส้นทางชีวิตและการเมืองของคริสตินานั้น 
ถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก
เพราะความสนใจทางด้านการเมืองของเธอเริ่มต้นตั้งแต่ในสมัยที่เธอเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในช่วงทศวรรษ
70 ซึ่งเธอได้พบกับสามีของเธอ “เนสเตอร์
เคริชเนอร์” ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1975

แม้ว่าเธอและสามีจะไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในช่วงที่เรียน
แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าเธอและสามีเป็นผู้ที่มีแนวคิดสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของลัทธิเปโร
(Peronism) ซึ่งเป็นแนวคิดทางการเมืองที่มีผู้สนับสนุนเป็นอย่างมากในช่วงปี
1955-1976 โดยมีหลักการเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม
สร้างอิสรภาพทางเศรษฐกิจและสร้างอำนาจอธิปไตยทางการเมือง

แนวคิดของลัทธิเปโรนี้ถือว่ามีบทบาทในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของอาร์เจนตินาเป็นอย่างมาก
เพราะเป็นแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
เนื่องจากเป็นแนวทางการเมืองที่ทำให้สังคมของอาร์เจนตินาค่อยๆ เปลี่ยนผ่านความเท่าเทียมทางสังคมโดยรวมอย่างประนีประนอม
ในช่วงที่โลกกำลังอยู่ในความขัดแย้งของสงครามเย็นระหว่าง
2 ขั้วแนวคิด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่อาร์เจนตินาเกิดการรัฐประหารในปี 1976 ทั้งคริสตินาและสามีของเธอได้ย้ายไปยังเมือง
Río Gallegos จังหวัด Santa Cruz
เพื่อทำงานเป็นทนายความ ซึ่งในช่วงปลายทศวรรษ 1980
ทั้งคริสตินาและสามีเริ่มต้นบทบาททางการเมือง
โดยเนสเตอร์ชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมือง Río Gallegos
ในปี 1987 ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการจังหวัด Santa
Cruz ในปี 1991
ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่คริสตินาได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของจังหวัด
Santa Cruz ในปี 1989 และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี
1993

ในช่วงปี 1995
คริสตินาได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1997  ต่อมาในปี 2001
เธอได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาอีกสมัย ในช่วงปี 2003
เธอมีบทบาทอย่างมากในการเมืองของอาร์เจนตินา จากการร่วมหาเสียงกับสามีของเธอ
“เนสเตอร์ เคิร์ชเนอร์”
เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งอาร์เจนตินา 

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี
2003 แม้ว่าเนสเตอร์จะชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีแห่งอาร์เจนตินา
แต่ถือว่าเขามีคะแนนการโหวตจากประชาชนต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 22% เท่านั้น แต่การบริหารงานของเนสเตอร์ก็ทำให้ประชาชนอาร์เจนตินายอมรับ
เนื่องจากช่วงที่เนสเตอร์เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี อาร์เจนตินากำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
แต่เนสเตอร์สามารถบริหารเศรษฐกิจของประเทศจนสามารถผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจมาได้

ช่วงที่สามีของเธอดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
คริสตินาในฐานะสตรีหมายเลข
1 ได้ทำหน้าที่เป็นทูตเฉพาะกิจของรัฐบาลอาร์เจนตินาไปด้วย
โดยเธอมีบทบาทเป็นอย่างมากในการช่วยเจรจาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะในเรื่องของความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้บทบาทภายในประเทศในฐานะสตรีหมายเลข 1
ของเธอยังได้รับการยกย่องว่าการพูดต่อสาธารณชนของเธอนั้นดีเยี่ยม
จนมีผู้เปรียบเทียบว่าคริสตินามีลักษณะเฉพาะที่เหมือนกับ “เอวา
เปรอง หรือเอวิต้า” สตรีหมายเลข 1
ผู้ถูกเรียกขานว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวอาร์เจนตินา

เรียกได้ว่าความสำเร็จของประธานาธิบดีเนสเตอร์
ส่วนสำคัญมาจากการทำงานอย่างเข้มแข็งของหลังบ้านอย่างคริสตินา
ซึ่งหลังจากดำรงตำแหน่งครบ
4 ปี
ประธานาธิบดีเนสเตอร์ก็ปฏิเสธที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง
เพื่อสนับสนุนให้คริสตินาได้มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี และในปี 2007 เธอก็สามารถชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงสูงถึง 45.3% ทิ้งห่างคู่แข่งมากกว่า 20% ทำให้เธอเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอาร์เจนตินาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

หลังจากคริสตินาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครบ
4 ปี
เธอได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง
ทั้งนี้เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีเนสเตอร์
สามีของเธอซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีแทนเธอในปี 2011 เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจไปเสียก่อนในปี 2010 ทำให้คริสตินาตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง
และชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถึง 54.1%
ทิ้งห่างคู่แข่งกว่า 35%

อย่างไรก็ตาม แม้คริสตินาจะถือเป็นนักการเมืองหญิงคนแรกของอาร์เจนตินาที่ถือได้ว่ามีอิทธิพลและได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมากในกลุ่มของคนยากจนและผู้คนในชนบท
แต่เธอกลับถูกต่อต้านจากกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง รวมไปถึงชนชั้นนำ เนื่องจากนโยบายในการบริหารประเทศของเธอนั้นมีความเป็นนโยบายประชานิยมค่อนข้างมาก
ทำให้ชนชั้นกลางและชนชั้นนำไม่พอใจ

อีกทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของมูลค่าทรัพย์สินของตระกูลเคิร์ชเนอร์
ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เนสเตอร์ เคิร์ชเนอร์เข้าดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน
อีกทั้งยังถูกโจมตีอย่างหนักในเรื่องของการแทรกแซงสื่อ
และแน่นอนว่าความเป็นผู้หญิงของเธอก็ถูกนำมาใช้เป็นจุดอ่อนในการโจมตีเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแต่งตัว
การใช้ชีวิตในฐานะของชนชั้นนำในสังคม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำงานไม่เป็น
ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการบริหารประเทศในการแต่งตัว เสริมสวยและช็อปปิ้ง


แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ถึงความสามารถในการทำงานด้านการเมือง
ซึ่งเธอทำงานด้านนี้มากว่า
25 ปี
รวมไปถึงความสามารถในการบริหารประเทศจนทำให้ประชาชนให้ความไว้วางใจเลือกเธอเป็นประธานาธิบดีถึง
2 สมัยและนี่คือข้อพิสูจน์ว่าความสามารถของเธอนั้นไม่ได้ด้อยกว่าผู้ชายเลยแม้แต่น้อย.