เล่าเรื่องผู้นำสตรี : เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ผู้นำหญิงแกร่งแห่งไลบีเรีย
“ความฝันของคุณต้องยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คุณจะสามารถทำมันให้สำเร็จ
ถ้าความฝันนั้นไม่สร้างความกลัวให้คุณ แสดงว่ามันยิ่งใหญ่ไม่พอ แต่ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยความฝันเล็กๆ
และเมื่อความฝันของคุณได้รับการเติมเต็มแล้ว ชีวิตคุณก็จะไม่เหลืออะไรให้ฝันอีก…”
สุนทรพจน์นี้เป็นของหญิงเหล็กผู้หนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตอย่างอดทนและเข้มแข็งมาตลอด
ตั้งแต่ที่บ้านเกิดของเธอตกอยู่ในช่วงยุคทมิฬ เธอต้องดิ้นรนในการเอาชีวิตรอดจากการถูกข่มขืนและการสังหาร
อีกทั้งยังถูกคุมขังนานถึง 2 ปี
แต่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้เธอลุกขึ้นสู้และตั้งมั่นที่จะประสบความสำเร็จด้วยตัวเองบนทางสายการเมือง
เพื่อที่จะสร้างสันติภาพและความเป็นหนึ่งเดียวให้กับประเทศของเธอ
เธอผู้นี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ (Ellen Johnson Sirleaf) ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศไลบีเรียและคนแรกของทวีปแอฟริกาที่มาจากการเลือกตั้ง[1]
เซอร์ลีฟจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ในประเทศและศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด[2]
ประเทศสหรัฐอเมริกา และเธอได้กลับมายังประเทศไลบีเรียตามคำร้องขอของรัฐบาล เพื่อมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีการคลังในรัฐบาลประชาธิปไตยของนายวิลเลียม
โทลเบิร์ต ที่ต่อมาถูกรัฐประหารในปี พ.ศ.2523 ซึ่งทำให้เธอต้องถูกจำคุกนานถึง 10 ปี แต่ภายหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัว
เธอเดินทางสู่สหรัฐอเมริกาอีกครั้งและได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารซิตี้แบงค์
ต่อมาเมื่อเกิดการก่อกบฏต่อต้านรัฐบาลทหารอีกครั้ง
จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งขึ้น ทำให้เซอร์ลีฟตัดสินใจที่จะลงสมัครเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของไลบีเรียเป็นครั้งแรกในปี
พ.ศ.2540 แต่เธอแพ้การเลือกตั้งและถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้ง จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
หลังจากนั้นสงครามกลางเมืองได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง
เนื่องจากการแทรกแซงจากประเทศเพื่อนบ้านและการบุกรุกดินแดนข้างเคียง[3] ได้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปรัฐขึ้นมา
โดยเซอร์ลีฟเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย ซึ่งทำให้มีการเลือกตั้งสามัญอีกครั้ง โดยครั้งนี้เธอชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี
พ.ศ.2548 ด้วยคะแนนสูงถึงร้อยละ 91 ของชาวไลบีเรียทั้งหมด[4]
เอลเลน จอห์นสัน
เซอร์ลีฟ เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของทวีปแอฟริกา และยังเป็นผู้นำหญิงที่เคยถูกตัดสินจำคุกถึงสองครั้งด้วยข้อหาทางการเมือง
ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอมองว่า
ประเด็นทางมนุษยธรรมและความมั่นคงของประชาชน คือสิ่งที่ชาวไลบีเรียต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
และปัญหาที่รองลงมาคือ เรื่องเศรษฐกิจของประเทศ
เธอประกาศว่าจะรื้อฟื้นการสืบสวนคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเกิดขึ้นตลอด
14 ปี ระหว่างที่เกิดสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในไลบีเรีย ทำให้เธอได้รับการยกย่องว่าเป็น[5] ผู้กล้าที่คิดจะจัดการ
‘ผ่าตัด’ ปัญหาความรุนแรงที่สุมอยู่ภายในประเทศ ด้วยการเผชิญหน้าและยอมรับความจริงแต่ถึงแม้ว่าการรื้อฟื้นคดีจะไม่มีผลในการลงโทษ
เพราะเกินกำหนดอายุความ แต่การเปิดเผยเรื่องทุกอย่างให้เกิดความกระจ่างก็ถือว่าเป็นการบำบัดความเจ็บปวดของชาวไลบีเรีย
ที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับสงครามกลางเมืองมาเป็นเวลานานได้
จากการที่เซอร์ลีฟ
มักจะเรียกตัวเองว่า “แม่” อยู่บ่อยๆ ในช่วงที่เธอออกหาเสียง
และเธอมักเปรียบเปรยว่า ไลบีเรียเป็น เหมือน “ลูกที่ป่วยและเป็นลูกที่ต้องการความรัก
ความอบอุ่น ดูแลเอาใจใส่จากผู้เป็นแม่” ทำให้ผู้เชี่ยวชาญวงการการเมืองชี้ว่า
สิ่งนี้ได้ทำให้เซอร์ลีฟมีแต้มเหนือคู่แข่งที่เป็นชาย เพราะเธอกลายเป็น
“สัญลักษณ์ความเป็นแม่” ในประเทศ ที่กำลังหวังว่าผู้หญิงเท่านั้นจะเป็นผู้มาช่วยเยียวยารักษาบาดแผลความรวดร้าวที่เกิดจากสงครามและการปกครองแบบเผด็จการที่ถูกยัดเยียดเข้าสู่บ้านเกิดของพวกตน
ในปี พ.ศ.2554 เซอร์ลีฟได้คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและประชาธิปไตยชาวไลบีเรียและเยเมนอีก
2 คน ซึ่งต่างมีบทบาทสำคัญในการยุติสงครามกลางเมืองไลบีเรียครั้งที่ 2 (Second
Liberian Civil War ) ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2546 และนำไปสู่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยซึ่งส่งผลให้เอลเลน จอห์นสัน
เซอร์ลีฟได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหญิงชาวแอฟริกันคนแรกในประวัติศาสตร์
นอกจากนี้บทบาทของพวกเธอในการเป็นแกนนำการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง
เพื่อความปลอดภัยและสิทธิสตรีในการมีส่วนร่วมสร้างสันติภาพในประเทศ
อันถือเป็นการต่อสู้ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่สตรีทั่วโลกอีกด้วย[6]
[1]
http://www.gender.go.th/person/women_49/alan.html
[2]
http://www.oknation.net/blog/50000up/2011/12/22/entry-4
[3]
http://www.ichat.in.th/Leaddership/topic-readid72852-page1
[4]
http://www.mcot.net/site/content?id=4ff6737e0b01dabf3c02a47d#.VPU7YvmUfLc
[5]
http://www.gender.go.th/person/women_49/alan.html
[6] http://www.thairath.co.th/content/207527