การศึกษาไทยกับระบบโซตัส

   ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการแชร์ภาพข่าวเกี่ยวกับการรับน้องของนักเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างแพร่หลาย ภาพดังกล่าวที่ออกมาค่อนข้างดูรุนแรงไม่ใช่น้อยต่อสายตาผู้ปกครอง หรือพ่อแม่ที่ส่งลูกไปเรียนในโรงเรียน แสดงให้เห็นว่าระบบโซตัส(SOTUS) ได้เริ่มแทรกตัวเข้าไปในพื้นที่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษา นับว่าป็นเรื่องที่สำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างมากต่อระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานในเวลานี้

   ระบบโซตัสเริ่มขึ้นจากการนำระบบอาวุโสของโรงเรียนประจำในประเทศอังกฤษ (Fagging system) เข้ามาใช้ในโรงเรียนมหาดเล็กตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2440 ซึ่งเป็นระบบที่มีการแต่งตั้งนักเรียนอาวุโสผู้เรียนดีและประพฤติดี เพื่อทำหน้าที่ช่วยครูในการอบรมสั่งสอนและดูแลนักเรียน ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการทำให้เกิดกลไกการรวมศูนย์อำนาจเพื่อการปกครองและการควบคุมในเวลาต่อมา

   ในส่วนของประเทศไทย ระบบโซตัสนั้นเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาไทยในช่วงสงครามเย็น หรือประมาณทศวรรษ 2480 เริ่มจากการส่งนักศึกษาไปเรียนระดับปริญญาตรีในสหรัฐอเมริกา และใน ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในขณะนั้น ฟิลิปปินส์ถูกยึดครองโดยอเมริกามาเกือบครึ่งศตวรรษก่อนหน้า “ผู้ปกครอง” ได้ถ่ายทอดรูปแบบเทคโนโลยีและรูปแบบการเรียนการสอนให้กับ “ผู้ถูกปกครอง” จึงทำให้แนวคิดและระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้เป็นไปในแบบอเมริกัน เมื่อนักศึกษาของไทยเรียนจบกลับมา ก็ได้นำเอาระบบการว้าก (การกดดันทางจิตวิทยา) และการลงโทษ (การทรมานทางร่างกาย) มาใช้กับมหาวิทยาลัยไทย โดยเริ่มจากโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม่โจ้ เชียงใหม่  ซึ่งต่อมาระบบโซตัสนี้ก็แพร่หลายไปยังทุกมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา 

   แม้ว่าระบบโซตัสจะมีการแพร่หลายในระดับอุดมศึกษามากขึ้นในปัจจุบัน แต่ระบบดังกล่าวนั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อระบบการศึกษาไทยแต่อย่างไร ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวว่า จุดประสงค์ของการรับน้องนั้นไม่ได้มีขึ้นเพื่อการศึกษา เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้รุ่นน้องต้องเชื่อรุ่นพี่อย่างง่ายๆ จนบางครั้งต้องยอมทำอะไรที่ไร้เหตุผลและไร้ศักดิ์ศรี หากจะมองว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะมนุษย์สามารถคบหากันได้โดยไม่ต้องมีพิธีกรรมใดๆ

   พัชณีย์ คำหนัก  นักกิจกรรมรณรงค์สิทธิมนุษยชน เขียนเกี่ยวกับการรับน้องในเชิงจิตวิทยาไว้ว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมอำนาจนิยม และสถาบันนิยมที่อยู่เบื้องหลังจากรับน้อง ส่งผลต่อการสร้างบุคลิกภาพของเด็กเยาวชนให้เป็นผู้นิยมอำนาจเผด็จการ และทำให้ความเป็นปัจเจกภาพ(ความเป็นตัวตนของตนเอง โดยไม่ถูกสภาพแวดล้อมบีบคั้นจนกลายเป็นคนที่ขาดอิสระทางความคิดและการกระทำ) ของคนหนุ่มสาวหดหายไป ซึ่งการที่ตัวเขามีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมนี้ ส่งผลให้ตัวเยาวชนยอมก้มหัวให้กับคนที่อยู่เหนือกว่า เพราะว่ามองตัวเองต่ำต้อย ด้อยค่า ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผล แต่คนที่กระทำเช่นนี้ก็มักหาเหตุผลมาบังหน้าเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาของตัวเอง

   จากข้างต้นอาจสรุปไว้ว่าภายใต้ระบบโซตัสนี้ เยาวชนถูกปลูกฝังให้ยอมรับในอำนาจของผู้ที่อยู่เหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ในครอบครัว คุณครู ซึ่งเราต้องทำตามคำสั่งจากผู้ใหญ่อยู่เสมอๆ ทำให้การเรียนการสอนมีลักษณะที่ไม่มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์หรือถามคำถามใดๆ เด็กนักเรียนจึงไม่กล้าแสดงความเป็นตัวของตัวเองหรือแสดงความเป็นปฏิปักษ์ออกมาต่อผู้ที่เหนือกว่า

   ดังนั้นแล้วระบบโซตัสนั้นจึงไม่ได้ส่งผลดีต่อระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่สักเท่าไร ถึงแม้ว่าการเรียนในระดับอุดมศึกษาจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถถกเถียงกับอาจารย์ในชั้นเรียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น การเรียนในระดับมัธยม นักเรียนเป็นผู้รับเพียงฝ่ายเดียว คุณครูเป็นผู้ป้อนความรู้ให้ ถ้าระบบโซตัสแพร่เข้ามาในระดับมัธยมมากขึ้น จะเป็นการตอกย้ำให้ระบบการศึกษาไทยไม่พัฒนาเท่ากับการศึกษาระดับสากล เนื่องจากนักเรียนจะไม่สามารถตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้

   ท้ายที่สุดแล้ว ระบบโซตัสนั้นยังควรจะมีอยู่ในสังคมไทยต่อไปหรือไม่? และระบบการรับน้องนั้นแท้ที่จริงแล้วมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการศึกษาและการทำงานในอนาคตจริงหรือ? สังคมไทยควรกลับมาตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังเสียที

อ้างอิง
1. http://shows.voicetv.co.th/kid-len-hen-tang/12571.html
2. http://www.prachatai.com/journal/2011/06/35384
3. http://www.prachatai.com/journal/2011/06/35724
4. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1349915781