วันสิ่งแวดล้อมโลก

วันสิ่งแวดล้อมโลก World Environment Day เกิดจากการตื่นตัวในวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ประกอบไปด้วยวิกฤตการณ์ด้านต่างๆ เช่น การขาดแคลนอาหาร วิกฤตการณ์ด้านพลังงาน อัตราการเพิ่มของประชากรที่สูงมาก รวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ซึ่งเป็นผลกระทบกับคนทั่วโลก จึงได้มีการสถาปนาวันสิ่งแวดล้อมนี้ขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2515

โดยทำการจัดการประชุม “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อม” หรือ UN Conference on the Human Environment ณ กรุงสตอกกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันหามาตรการในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ประเทศสมาชิกกำลังประสบอยู่ ภายใต้การกำกับดูแลของ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) มีผู้เข้าร่วมประชุม 1,200 คน จาก 113 ประเทศ ผู้สังเกตุการณ์มากกว่า 1,500 คน จากหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชนและสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมทั้งตัวแทนเยาวชนและกลุ่มนักศึกษาจากทั่วโลก และยังได้จัดตั้ง “โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ” หรือเรียกย่อว่า “ยูเนป” (UNEP : United Nation Environment Programme) ขึ้น ซึ่งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้น และจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน
สำหรับในประเทศไทย ก่อนปี พ.ศ. 2518 สภาพแวดล้อมของประเทศไทยเสื่อมโทรมลงรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518 และก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฯ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็น 3 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และใน พ.ศ. 2545 จากนโยบายปฏิรูประบบราชการ จึงได้มีการก่อตั้งกระทรวงใหม่ ชื่อ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม  (สผ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โอนไปเป็นสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2545 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่ มีภารกิจเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวด ล้อม โดยเสนอแนะนโยบายและแผนการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการจัดการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนติดตามตรวจสอบ มาตรการเงื่อนไข ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความ เข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และคุณภาพชีวิตที่ดี 

สำหรับการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลที่เคยประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก มีการรณรงค์ปิดไฟบ้านละ 1 ดวงพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 20.45-20.50 น. ตามนโยบายประหยัดพลังงานของรัฐบาล ในวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ผลการประหยัดไฟฟ้าขณะนั้น สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ 44,140 หน่วย คิดเป็นเงินค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ประหยัดได้ 118,700 บาท ซึ่งหากประชาชนปิดไฟเช่นนี้ทุกๆ วัน (365 วัน) จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 43 ล้านบาท/ปี แม้ตอนนี้ยังคงมีการรณรงค์กันอยู่ตลอดมา
 

แหล่งข้อมูล
http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4479.html
http://www.onep.go.th/index.php?option=com_rsevents&view=events&layout=show&cid=2
http://www.un.or.th
http://www.onep.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=58&Itemid=135
http://www.ptp.or.th/page/policy
http://www.eppo.go.th/encon/kickoff/kickoff-3jun05.html