กว่าจะมาเป็น Bike Lane ที่น่าใช้

     ปัจจุบันนี้ทั่วโลกมีการรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานแทนรถยนต์มากขึ้น เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน ลดมลภาวะและลดปัญหารถติด ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้คนออกกำลังกาย ดังนั้นในหลายประเทศทั่วโลก จึงมีการสนับสนุนให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดแคมเปญรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยาน การจัดตั้งชมรมต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างทางสำหรับจักรยานบนท้องถนน หรือ Bike Lane ถือว่าเป็นความพยายามที่สำคัญที่ทำให้คนหันมาใช้จักรยานแทนรถยนต์เพิ่มขึ้น นอกจากจะทำให้ลดปัญหาต่างๆ ข้างต้นแล้ว ยังทำให้คนหันมาสนใจสุขภาพด้วย 

   ในอเมริกาเหนือ แวนคูเวอร์ (Vancouver) เป็นเมืองแรกๆ ที่สร้างทางจักรยาน (Bike Lane) เรียบขนานไปกับทางเดินเท้า พร้อมกับมีสัญญาณไฟจราจรเพื่อคนขับขี่จักรยานด้วย แม้ว่าในช่วงเริ่มแรกจะมีการเปลี่ยนเลนถนนรอบนอกให้เป็นเลนสำหรับขี่จักรยาน แต่เลนที่ถูกสร้างขึ้นมาก็เป็นแค่ทางเล็กๆ และไม่ได้มีความปลอดภัยมากเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามความพยายามเริ่มแรกนี้ผลักดันให้มีผู้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น 

   ในเวลาต่อมาได้มีการออกแบบและวางแผนการสร้างเลนจักรยานขึ้นมาใหม่ ยกตัวอย่างเช่นบนถนนฮอร์นบี้ (Hornby) มีการสร้างทางจักรยานสองเลนขึ้น โดยมีกำแพงเล็กๆ กั้นระหว่างทางรถยนต์และทางจักรยานออกจากกัน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับผู้ใช้จักรยาน ส่งผลให้มีผู้คนหันมาใช้จักรยานกันเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรียกได้ว่านี่เป็นความสำเร็จของความพยายามในการสร้างทางสำหรับจักรยานก็ว่าได้ 


ทางจักรยานสองเลนในเมืองฮอร์นบี้ ประเทศแคนาดา

 
   ทาง Bike Lane ที่น่าสนใจอีกที่คือ เมืองมัลโม่ (Malmö) ประเทศสวีเดน ทางจักรยานในประเทศนี้ถูกออกแบบมาเพื่อนักปั่นจักรยานเป็นอย่างดี มีการติดตั้งหลอดไฟตามทางจักรยาน หรือตามอุโมงค์เพื่อผู้ใช้จักรยานตอนกลางคืน อีกทั้งยังได้มีการสร้างเนินชะลอความเร็ว (Speed Bump) ให้รถที่ขับผ่านตามทางแยกต่างๆ ลดความเร็วลง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุต่อนักปั่นจักยานและคนเดินถนนอีกด้วย นอกจากนี้พื้นทางจักรยานได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีระดับเดียวกับพื้นถนนเพื่อให้คนขับจักรยานมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เมือง Malmö นี้เปรียบเสมือนสวรรค์ที่นักปั่นจักรยานทั่วโลกใฝ่ฝันถึง

   ในประเทศไทยนั้นก็มีความพยายามที่จะสร้างทางจักรยาน หรือ Bike Lane ที่ดีเหมือนอย่างในประเทศต่างๆที่กล่าวไปในข้างต้น มีการพยายามสร้างทางจักรยานขึ้นหลายแห่งในกรุงเทพฯ และสำเร็จแล้วกว่า 30 เส้นทางรวมระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์ เส้นทางจักรยานใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ หรือเส้นทางจักรยานสีเขียวถือเป็นอีกแหล่งรวมนักปั่นจักรยานมากมาย ผู้คนมาปั่นจักรยานออกกำลังกายกันทุกเย็น เนื่องจากทางจักรยานที่นี่เป็นที่เฉพาะขี่จักรยาน มีความปลอดภัยและบรรยากาศดี

   อย่างไรก็ตาม จากบทสัมภาษณ์นักปั่นจักรยานที่ใช้เส้นทางจักรยานที่สุวรรณภูมิ และหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ พบว่าจุดประสงค์หลักของการใช้จักรยานนั้นไม่ใช่เพื่อการเดินทาง แต่เพื่อการออกกำลังกายเท่านั้น เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ไม่เหมาะสมต่อการใช้จักรยานในการเดินทาง และทางจักรยาน หรือ Bike Lane ที่ถูกออกแบบมานั้นบางพื้นที่มีความคับแคบเกินไป เช่น บริเวณวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นต้น บางพื้นที่ทางจักรยานอยู่บนทางฟุตบาทซึ่งทำให้การขี่จักรยานนั้นไม่สะดวกสบาย เพราะต้องระวังพื้นที่ขรุขระและคนเดินเท้า นอกจากนี้นักปั่นจักรยานบางท่านยังได้กล่าวว่าตนนั้นต้องมาปั่นจักรยานที่สุวรรณภูมิเพราะว่าทางจักรยานในเขตพระนครนั้นไม่มีความปลอดภัย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเป็นอย่างมาก เพราะบนถนนในกรุงเทพฯ ไม่มีทั้งสิ่งกั้นระหว่างทางรถยนต์และทางจักรยาน กอปรกับไม่มีการออกกฏหมายมาเพื่อการใช้ถนนร่วมกันระหว่างผู้ใช้จักรยานและรถยนต์ ทำให้พวกเขาต้องหันมาใช้ทางจักรยานที่สุวรรณภูมิแทน

   บทสรุป Bike Lane ในกรุงเทพฯ ควรจะเป็นอย่างไร นักปั่นจักรยานบางท่านเสนอความคิดเห็นว่า ควรจะมีการแยกเส้นทางจักรยานออกจากถนน เพื่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนน้อยที่สุด และควรติดตั้งไฟตามทางจักรยานเพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์ในตอนกลางคืน  ยังมีบางท่านเสนอว่าถ้าจะทำ Bike Lane บนฟุตบาท อย่างน้อยก็ควรทำให้ทางบนฟุตบาทนั้นไม่ขรุขระเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  นอกจากนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างออกไป เช่น อยากให้มีการสร้างสวนสาธารณะสำหรับปั่นจักรยานเหมือนกับต่างประเทศ เพื่อให้คนหันมาสนใจในการใช้จักรยานมากขึ้น

   ท้ายที่สุดนี้  Bike Lane ก็ยังไม่ได้มีส่วนช่วยแก้ปัญหารถติดแต่อย่างไร เพราะจุดประสงค์ของคนใช้จักรยานไม่ใช่เพื่อลดการใช้รถยนต์ มาใช้จักรยานในการเดินทางในระยะสั้นๆ แต่ใช้เพื่อการออกกำลังกายเท่านั้น ดังนั้นแล้วการสร้างทางจักรยานจึงไม่ใช่แค่การทาสีบนพื้นเพื่อแบ่งเลนจักรยาน แล้วบอกว่านั่นคือเส้นทางสำหรับจักรยาน แต่ควรจะมีการคิดวางแผน คำนวณและออกแบบทางจักรยานในกรุงเทพฯ ให้ดีและมีความปลอดภัยเพียงพอ เพราะเรามีบทเรียนจากการสร้างทางจักรยานที่ประสบความสำเร็จให้เห็นจากหลายๆ ประเทศแล้ว ซึ่งเราควรที่จะรับและนำมาปรับใช้กับประเทศของเรา

อ้างอิง
http://www.theglobeandmail.com/news/british-columbia/why-vancouvers-bike-lanes-have-made-it-a-city-to-watch/article13570482/
http://vancouver.ca/streets-transportation/separated-bicycle-lanes.aspx
http://www.citylab.com/politics/2014/12/after-a-series-of-failures-how-vancouver-finally-built-a-controversial-bike-lane/383272/
http://www.citylab.com/commute/2013/06/10-brilliant-pieces-bike-infrastructure/6009/
http://www.iurban.in.th/review/bike-lane/
http://www.richardbarrow.com/2015/04/green-bike-lane-at-suvarnabhumi-to-close-june-september/
http://www.thaitravelblogs.com/2014/10/the-green-cycle-track-at-suvarnabhumi-airport/

และจากการสัมภาษณ์นักปั่นจักรยานที่เส้นทางจักรยานสีเขียวสุวรรณภูมิ และบางพื้นที่ในกรุงเทพฯ