เตือนภัยไซเบอร์ใกล้ตัว! รู้ไว้ไม่เสียท่ามิจฉาชีพ!
เตือนภัยไซเบอร์ใกล้ตัว! รู้ไว้ไม่เสียท่ามิจฉาชีพ!
ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มนุษย์สามารถเข้าถึงข้อมูลจากทั่วทุกมุมโลกเพียงแค่
“ปลายนิ้วคลิก” นั้นมีข้อดีมากมาย เช่น ทำให้การพัฒนาทางด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เด็กในชนบทมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์
เพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการกระจายข่าวสาร คนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็น แสดงผลงานให้คนทั่วโลกเห็น
แม้แต่การพัฒนาการติดต่อสื่อสาร ที่ทำให้ได้พูดคุยกับบุคคลที่อยู่ห่างไกลได้
ดังนั้นการที่เราเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเข้าสู่ระบบออนไลน์ได้อย่างเสรี ถือเป็นเรื่องดี
แต่ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการพัฒนาหรือสร้างสรรค์
ยังมีมุมมืดในสังคมออนไลน์ที่หลายๆคนยังไม่รู้แฝงตัวเป็นภัยสังคมเรื่อยมา
ประเด็นที่เกิดขึ้นบ่อยคือ การโกงธนาคารออนไลน์
โดยมิจฉาชีพจะหลอกล่อขอไอดี หรือพาสเวิร์ดจากเหยื่อ เพื่อเข้าไปล้วงข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอพลิเคชั่น
หรือส่งเมล์หลอกของธนาคารให้เหยื่อทำธุรกรรมการเงิน
และทำการโอนเงินหรือโยกย้ายเงินมาเป็นของตัวเอง อีกกรณีคือข่าวล่าสุดที่ DSI ออกมาเตือนเรื่องอีเมล์ไวรัสตัวใหม่ CTB-Locker ที่เพิ่งระบาดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า
มิจฉาชีพจะส่งเมล์ให้เหยื่อพร้อมกับแนบไฟล์ นามสกุล .pdf, .xls, .ppt,
.txt, .py, .wb2, .jpg, .odb, .dbf, .md, .js, .pl, หรือ .doc
มาด้วย ถ้าเผลอกดเปิดไฟล์เครื่องจะติดไวรัสทันที
ซึ่งไวรัสตัวนี้จะไปล็อกไฟล์ทุกไฟล์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราให้เราใช้งานไม่ได้
และหากอยากปลดล็อกก็ต้องจ่ายเงินในระบบดิจิตอล คิดเป็นเงินประมาณ 20,000 บาท หากจ่ายช้าก็จะเพิ่มค่าไถ่ไปเรื่อยๆ
ปัจจุบันมีเหยื่อถูกไวรัสตัวนี้เล่นงานไปแล้วหลายรายด้วยกัน
วิธีป้องกัน คือ
ไม่ติดตั้งแอพลิเคชั่น หรือโปรแกรมที่ไม่น่าไว้ใจลงเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ที่ใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน
เพราะอาจแฝงมัลแวร์ (โปรแกรมที่ไว้ทำลายข้อมูลหรือการดักจับข้อมูล)
ลงเครื่องมาด้วย หากติดตั้งก็จะเข้าไปทำการปลอมธุรกรรม
อีกทางหนึ่งคือตรวจเช็คอีเมล์แปลกให้ดี แม้แต่เมล์ธนาคารที่ส่งเว็บไซต์หรือแนบไฟล์มาให้คลิก
เพื่อกระทำการใดๆ ที่เกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินทุกครั้ง เพราะบางทีนั่นอาจเป็นเว็บไซต์ปลอมที่มีหน้าตาเหมือนของจริงที่หลอกให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัวลงไปก็เป็นได้
อีกกรณีหนึ่งที่ทางคณะกรรมการการให้ความรู้ทางการเงินระบุไว้คือ การหลอกขอรหัสผ่าน
กรณีนี้มิจฉาชีพจะโทรหาหรืออีเมล์ติดต่อเหยื่อเองโดยตรง และอ้างตัวว่าเป็นผู้ให้บริการอีเมล์
เจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร
หลอกขออีเมล์และรหัสผ่านเพื่อหลอกให้คนที่เป็นเพื่อนในอีเมล์ของเหยื่อโอนเงินให้ หรือดังเช่นข่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
กรณีที่เหยื่อถูกมิจฉาชีพ หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โทรศัพท์แจ้งว่าเหยื่อมีชื่อเข้าไปพัวพันกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด
และหากไม่โอนเงินให้ จะถูกอายัดบัญชีไว้ตรวจสอบโดยเหยื่อรายนี้ได้สูญเงินไปกว่าหกแสนบาท
วิธีป้องกัน คือ
ไม่ให้รหัสผ่านกับผู้ใด เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่ตัวจริงของธนาคารก็จะไม่ถามรหัสผ่าน
(พาสเวิร์ด)ลูกค้าหรือสั่งให้โอนเงินไปให้บัญชีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
หากรับโทรศัพท์ที่มีการแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ใดๆ ก็ตาม
ให้โทรตรวจสอบกับหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างนั้นอีกครั้งว่าได้มีการให้เจ้าหน้าที่โทรมาจริงหรือไม่
รูปแบบต่อไปเป็น การแอบอ้างเพื่อหลอกให้โอนเงิน
เช่น หลอกคุยให้เหยื่อสงสารไว้ใจ หลอกขายสินค้า หรือบริการผ่านอินเตอร์เน็ต
โดยให้โอนเงินก่อนและจะจัดส่งสิ่งของให้
ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะไม่ปกติเมื่อมีการนำสลิปการโอนปลอมมาแอบอ้างกับแม่ค้า
เพื่อให้จัดส่งของให้ทั้งที่ยังไม่ได้โอนเงินจริง โดยผู้ที่ขายของผ่านอินเตอร์เน็ตหลายรายเคยตกเป็นเหยื่อและตัวลูกค้าเองก็มีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อจากคนขายที่ไม่ซื่อสัตย์เช่นกัน
ส่วนกรณีที่แยกย่อยออกไป
คือการที่เหยื่อถูกหลอกด้วยรูปภาพที่น่าเวทนาหรือน่าเห็นใจ เช่น
ขอบริจาคเงินช่วยเหลือเนื่องจากเดือดร้อนหรือแอบอ้างชื่อมูลนิธิไประดมทุน
แต่ความจริงไม่เกี่ยวกับมูลนิธิใดๆ เลย
วิธีป้องกัน สำหรับลูกค้า
คือให้ตรวจสอบถึงชื่อเสียงของร้านค้าที่จะทำการซื้อขายด้วยอย่างละเอียดว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด
เคยมีผู้ซื้อพบปัญหาจากทางร้านหรือไม่ แม่ค้าเองก็ควรเช็คยอดโอน หรือดูสลิปธนาคารทุกครั้ง
โดยเฉพาะวันที่โอนและหมายเลขบัญชี
แต่สำหรับกรณีที่ถูกหลอกให้ซื้อทรัพย์สินหรือโอนเงินให้ เช่น ใช้รูปเฟซบุ๊คปลอมหลอกว่าเป็นบุคคลดังกล่าว
และกำลังเดือดร้อนขอให้โอนเงินให้ ภายหลังกลับพบว่าไม่ใช่คนในรูปจริง
ก็ต้องพิจารณาตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521, 523, 531, 535 ต่อไป
กรณีสุดท้าย การใช้บัญชีเงินฝากเป็นที่พักเงิน หลายๆ คนอาจเคยพบข้อความที่ส่งมาผ่านกล่องข้อความในเฟซบุ๊คหรือในอีเมล์ว่า
รับสมัครงาน คุณสมบัติขอเพียงมีเวลาว่างเล่นอินเตอร์เน็ต 2-3 ชั่วโมง ก็จะได้เงินเดือนหลักแสน โดยจะโอนเงินจำนวนหนึ่งให้เหยื่อ
และให้เหยื่อถอนเงินออกมาให้แก่มิจฉาชีพ โดยเหยื่อจะได้ค่าตอบแทนตามแต่ตกลงกันไว้ เงินจำนวนนี้มักได้มาอย่างผิดกฎหมาย
และหากมีการดำเนินคดี ตัวเหยื่อเองที่จะโดนคดีและโดนอายัดบัญชีอีกด้วย
วิธีป้องกัน มีทางเดียวคือไม่เชื่อโฆษณาชวนเชื่อ
ถามชื่อ-ที่อยู่ของบริษัทและตำแหน่งที่จะทำให้แน่ชัด
ถ้ายังไม่แน่ใจควรปรึกษาผู้รู้ เช่น ครูหรือผู้ปกครองก่อน ส่วนใหญ่บัญชีผู้ใช้ที่ส่งข้อความเหล่านี้มามักจะเพิ่งเปิดใช้งานได้ไม่นาน
และใช้ข้อมูลปลอม เช่น รูปโปรไฟล์ปลอม เป็นต้น จำไว้ว่าถ้าหากประสบการณ์ทำงานเรายังน้อย
ไม่มีงานไหนที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่าภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ
หากพบเห็นข้อความคล้ายๆ แบบนี้ส่งมา ควรรีบบล็อกผู้ใช้หรือแจ้งสแปมกับเพจนั้นทันที
เป็นการช่วยเหลือไม่ให้มีเหยื่อเพิ่มขึ้นอีก
มิจฉาชีพมักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาหลอกเหยื่อให้หลงกลเสมอ
ใครไม่รู้เท่าทันก็อาจสูญเงินจำนวนไม่น้อย
มิหนำซ้ำไวรัสบางตัวต่อให้ล้างเครื่องเพื่อลบออก
แต่ข้อมูลของเราก็จะไม่สามารถกู้คืนได้อยู่ดี เช่น CTB-Locker ฉะนั้นทุกคนควรติดตามข่าวสารในโลกไซเบอร์ให้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ ไม่เข้าเว็บไซต์แปลกที่ไม่รู้จัก
และควรมีโปรแกรมแอนตี้ไวรัสอยู่ในเครื่องไว้ป้องกันสักหนึ่งโปรแกรมก่อนที่จะสายเกินแก้เสียทั้งเวลา
เงิน และข้อมูลแสนสำคัญไป
แหล่งข้อมูล
http://www.financialeducation.or.th
http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9580000021082
http://www.thairath.co.th/content/470045
http://www.tulawcenter.org/law-clinic/content/725