จากวิกฤตสู่บทเรียน … น้ำท่วมกรุงเทพฯ

          ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานแล้ว สาเหตุหลักๆของปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ อาจแบ่งคร่าวๆได้ว่าเกิดมาจาก 2 สาเหตุหลัก ดังนี้ 1. เกิดจากน้ำจากภายนอกที่ไหลมาจากทางเหนือและทางตะวันออกเข้าสู่บริเวณพื้นที่กรุงเทพฯผ่านตามคลองต่างๆ (โดยอาจจะมีปัจจัยเสริมคือระดับน้ำทะเลจากอ่าวไทยหนุนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น) 2. เกิดจากการที่ฝนตกหนักมากในบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล กอปรกับประสิทธิภาพในการจัดการน้ำไม่ดีพอ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 สาเหตุสามารถแก้ปัญหาได้ หากมีการวางแผนและจัดการที่ดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ควรให้ความสนใจในการแก้ปัญหามากกว่านี้

         เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเมืองที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งเช่นเดียวกันกับกรุงเทพฯ ด้วยสภาพของกรุงลอนดอนที่ถูกสร้างขึ้นรอบๆ แม่น้ำเทมส์ (Thames) ทำให้บางพื้นที่ของกรุงลอนดอนมีความเสี่ยงสูงในการเกิดน้ำท่วมมาตั้งแต่อดีต ในปี พ.ศ. 2496 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 307 ราย สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 5 พันล้านปอนด์ ทำให้รัฐบาลอังกฤษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระดมแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยในปีพ.ศ. 2515 รัฐสภาอังกฤษได้รับรองกฏหมายป้องกันน้ำท่วมและการก่อสร้างพนังกั้นแม่น้ำเทมส์ (Thames Barrier) ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาน้ำท่วมของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกรุงลอนดอนจากอุทกภัย

         เพื่อป้องกันกรุงลอนดอนจากน้ำท่วม พนังกั้นแม่น้ำเทมส์ (Thames Barrier) จึงได้ถูกสร้างขึ้นมา พนังกั้นดังกล่าวมีหลักการทำงานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก คือเมื่อน้ำทะเลหนุนสูงจนน้ำในแม่น้ำเทมส์เพิ่มสูงขึ้นในระดับที่อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมในกรุงลอนดอน ประตูกั้นน้ำขนาดใหญ่กว่า 10 บานจะเปิดขึ้นเพื่อกั้นแม่น้ำเทมส์ และป้องกันน้ำจากน้ำทะเลหนุนเข้ามา แต่เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำลดลงอยู่ในระดับที่ปกติ ประตูแห่งนี้จะถูกพับเก็บไว้ไปอยู่ที่ใต้น้ำเพื่อให้เรือแล่นผ่านไปมาได้ โครงการนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นโครงการที่ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของคนในกรุงลอนดอนได้ดีที่สุด เพราะอย่างน้อยพนังกั้นน้ำนี้ก็ลดปัญหาหลักของน้ำท่วมอย่างการหนุนของน้ำทะเลเข้ามาในแม่น้ำเทมส์ได้เป็นอย่างดี 

         นอกจากโครงการดังกล่าว กรุงลอนดอนยังมีโครงการป้องกันน้ำท่วมอื่นๆ อีก เช่น โครงการประตูกั้นน้ำขนาดใหญ่ในเขตอุตสาหกรรมและโครงสร้างป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็ลดโอกาสการเกิดน้ำท่วมและความเสียหายแก่ประชาชนได้ดีในระดับหนึ่ง ประเทศอังกฤษยังไม่ได้หยุดการพัฒนาระบบดังกล่าวเพียงเท่านี้ แต่ยังคงวางแผนจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยแผนดังกล่าวจะคอยพิจารณาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ตลอดจนอายุการทำใช้งานของโครงสร้างพื้นฐานการป้องกันน้ำท่วม เพื่อรับมือกับความเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ จนถึงปีค.ศ. 2100 

         ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือว่าเป็นแม่แบบของการบริหารจัดการน้ำท่วมอย่างแท้จริง เนื่องจากประเทศเธอร์แลนด์ประสบปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือนบ่อยครั้ง และแต่ละครั้งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเนเธอร์แลนด์จึงวางแผนในการจัดการกับปัญหาเรื่อง”น้ำ” มาโดยตลอด โดยในช่วงแรกมีโครงการ Zuiderzee Works เป็นโครงการสร้างเขื่อนเพื่อไม่ให้น้ำทะเลไหลเข้าสู่ทะเลสาบ Zuiderzee ทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยูต่ำกว่าระดับน้ำทะเล อีกโครงการสำคัญที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาเพื่อป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นคือ Delta Works โครงการนี้เป็นโครงการสร้างเขื่อน ประตูกั้นน้ำ และกำแพงกั้นคลื่นหลายแห่งทางภาคใต้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นปากแม่น้ำหลายสายย่อยๆ จำนวนมาก ทั้งสองโครงการถูกคิดและออกแบบมาเป็นอย่างดีเพื่อแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ซึ่งเนเธอร์แลนด์ใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษในการทำโครงการต่างๆเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จ และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         เมื่อปีพ.ศ. 2554 พวกเราประสบปัญหามหาอุทกภัย ซึ่งมาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น การเกิดพายุหลายลูกผ่านเข้ามาสู่ประเทศไทย ร่องมรสุมและลมร้อนทำให้ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง กอปรกับน้ำทะเลหนุนบริเวณอ่าวไทย ส่งผลให้มวลน้ำขนาดใหญ่ที่ไหลลงออกสู่อ่าวไทย มากองรวมบริเวณก่อนถึงปากอ่าวโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร และไม่สามารถไหลออกสู่อ่าวไทยได้เร็วพอ แม้ว่าในเวลานั้นจะมีการขุดคลองเป็นทางตรงเพื่อให้ง่ายต่อการระบายน้ำ การใช้เรือช่วยดันน้ำออกสู่อ่าวไทย หรือแม้กระทั่งการสร้างกำแพงกั้นน้ำแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และทำให้น้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลเกือบหนึ่งเดือนเต็ม ซึ่งถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี แต่นี่ก็ถือเป็นบทเรียนที่ดีที่จะทำให้เราพัฒนาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคตด้วยเช่นกัน

         แต่เมื่อเวลาผ่านเลยมา กรุงเทพฯ ก็ยังไม่ได้เรียนรู้อะไรจากบทเรียนครั้งก่อนๆ เมื่อฝนตกหนักๆ ก็ยังคงเกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากการที่เราปล่อยปละละเลย คิดจะแก้ปัญหาก็เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว จากบทสัมภาษณ์ของคนที่ประสบภัยน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 8 มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา บางท่านกล่าวว่าพวกเขาต้องใช้เวลาเดินทางไปทำงานกว่า 4-6 ชั่วโมง เพราะปัญหารถติดที่เกิดจากน้ำท่วม บางคนถึงกับต้องยอมลงจากรถโดยสารประจำทาง เพื่อเดินไปทำงานเพราะรวดเร็วกว่า น้ำท่วมขังที่สูงเกินไปสร้างความเสียหายให้กับรถยนต์และทรัพย์สินเป็นอย่างมาก อีกทั้งน้ำยังสกปรกและส่งกลิ่นเหม็น โดยหลายฝ่ายได้เสนอการแก้ปัญหา ให้มีการจัดการลอกท่อระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอ และควรกำจัดผักตบชวาให้หมดไปเพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางท่านเสนอไปไกลกว่านั้นคือเสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ใหม่ เพื่อการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ความคิดเห็นของผู้ที่เดือดร้อนเหล่านี้ เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะรับฟังแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อช่วยเหลือพวกเขา

         จะเห็นได้จากข้างต้นว่าทั้งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษและประเทศเนเธอร์แลนด์ แม้จะต้องผ่านกับอุทกภัยที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลนับครั้งไม่ถ้วน แต่ประเทศดังกล่าวก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามหาวิธีการที่จะแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือ ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างสุดความสามารถ พวกเขาพยายามเข้าใจสภาพความเป็นไปของธรรมชาติ มีการทำวิจัยอย่างหนัก การทำแบบจำลอง รวมไปถึงการปรับปรุงการทำนายสภาพอากาศให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนของพวกเขาสามารถรับรู้ได้ก่อน และสามารถรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งประเทศไทยก็สามารถนำแนวทางต่างๆ มาปรับใช้ได้ 

         อย่างไรก็ตามโครงการต่างๆ ที่สร้างขึ้นไม่ได้ใช้เวลาแค่ 1-2 ปี แต่กินเวลากว่าหลายทศวรรษกว่าจะสำเร็จและใช้งานได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการน้ำโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องเข้ามาศึกษาแก้ปัญหาอย่างบูรณาการจริงจัง เพราะการแก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่ใช่แค่พอเกิดน้ำท่วมแล้วนำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำออก หรือเกณฑ์คนไปลอกท่อ แต่ควรเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว พร้อมกับพัฒนาให้ระบบต่างๆ ป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง

http://www.thaiwater.net/current/flood54.html

http://www.21stcenturychallenges.org/focus/what-is-at-risk-if-london-floods/

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=12&chap=8&page=t12-8-infodetail15.html

http://news.voicetv.co.th/global/21284.html

http://www.bbc.com/news/magazine-26133660

http://www.siamintelligence.com/netherlands-flood-control/

http://www.unicef.org/thailand/tha/tsunami_response_21051.html