ภัยแล้ง ความหวังและทางเลือกของชาวนา

วันที่ 23 มิถุนายน 2558

แม้ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่หน้าฝน แต่น้ำในเขื่อนหลายพื้นที่กลับแห้งเหือดจากภัยแล้ง
น้ำจากสี่เขื่อนใหญ่กำลังจะหมดไปในเร็ววัน ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งต้องลดปริมาณการจ่ายน้ำในทุกด้านเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคอุปโภคบริโภค
แต่สำหรับภาคการเกษตรแล้ว ได้รับผลกระทบหนักถึงขั้นกรมชลประทานต้องออกมาประกาศให้หลายจังหวัดชะลอการทำนาออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ประเทศไทยมีประชากรรวมประมาณ 68 ล้านคน
โดยสัดส่วนของชาวชนบทคิดเป็น 66% ของทั้งหมด ไทยถือเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีพื้นที่เพื่อการเกษตรถึง
47% และเกือบ 70%
ใช้ในการปลูกพืช โดยปลูกข้าวประมาณ 45% นอกจากนั้นเป็นพืชชนิดอื่น
เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดและยางพารา อัตราส่วนของครัวเรือนที่ทำเกษตรกรรมอยู่ที่
5.87 ล้านครัวเรือน เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยทุกปีเนื่องจากขนาดครัวเรือนที่เล็กลง

ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำตลาดโลกในการส่งออกข้าว
โดยตลาดส่งออกหลัก คือ ทวีปแอฟริกาและใกล้เคียง รวมทั้งตะวันออกกลาง
ดังนั้นข้าวจึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวไทยที่ทำรายได้ให้เกษตรกรเป็นจำนวนมาก แต่จากการร้องเรียนของชาวนาในอำเภอหนองฉาง
จังหวัดอุทัยธานี ผู้ต้องพึ่งพาอ่างเก็บน้ำทับเสลา พบว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา
ไทยประสบกับภัยแล้งอย่างต่อเนื่องซึ่งปีนี้เป็นปีที่แล้งหนักที่สุด
โดยปกติแล้วถึงแม้จะแล้งจนใช้น้ำจากระบบชลประทานไม่ได้ ก็ยังสามารถขุดบ่อสูบน้ำบาดาลขึ้นมาได้
แต่ปีนี้ไม่มีกระทั่งน้ำให้สูบ เพราะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล

ชาวนาไม่สามารถโยกน้ำบาดาลขึ้นมาได้    

จุดที่ใช้ปล่อยน้ำเข้านาจากทางน้ำชลประทาน

จากที่เคยทำนาได้ปีละสองครั้ง
ก็เหลือเพียงปีละครั้ง ซึ่งปกติฤดูทำนาคือช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งปีนี้คาดหวังว่าจะได้ทำนาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม
แต่หากเลย 15 กันยายนไปแล้ว ผลผลิตจะไม่ดีเท่าที่ควร
ในส่วนการลงทุนก็ต้องเพิ่มมากขึ้น เพราะศัตรูพืชและโรคพืชก็มากตามไปด้วย
การดูแลก็จะเป็นไปได้ยากเนื่องจากเป็นรอยต่อระหว่างฤดูฝน
และฤดูหนาวซึ่งการเจริญเติบโตของพืชจึงไม่ดีเท่าที่ควร และหากเก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายนและฝืนทำต่อรอบที่สองในเดือนธันวาคม
ในระยะที่เป็นช่วงหน้าหนาวก็จะมีความเสี่ยงที่สูงมากขึ้นไปอีก
ผลผลิตที่เคยได้ประมาณ 90 ถัง (1,000 กิโลกรัม) ต่อไร่
ในสภาวะที่มีน้ำปกติ ก็อาจเหลือเพียง 20 ถังต่อไร่ ซึ่งขาดทุนแน่นอน

ทุ่งนาโล่ง น้ำติดก้นสระ
สีเขียวเป็นเพียงสีของวัชพืช

เมื่อสอบถามถึงราคาข้าว
เกษตรกรตอบว่า ปีนี้ราคาข้าวอยู่ที่ 6,000 บาทต่อตัน ซึ่งถือเป็นปีที่
2 แล้วที่ไม่มีโครงการหรือนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร หากมีที่นาเป็นของตัวเองอยู่แล้วจะพอมีรายได้นิดหน่อย
แต่สำหรับผู้ที่เช่าที่ทำนาก็จะไม่ได้อะไรเลย เพราะผลผลิตที่ได้ต้องหักไว้เป็นค่าเช่านาในอัตรา
1 ใน 3 บางปีราคาดีเพราะมีโครงการของรัฐบาลช่วยเหลือ เช่น โครงการจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์
บางรายจากที่เคยจ้างรถขนข้าวก็มีเงินดาวน์รถเองเพื่อลดต้นทุนการจ้าง แต่เมื่อปีนี้ทำนาไม่ได้
ซ้ำข้าวยังราคาตก ทำให้รายได้หายไปเกือบครึ่ง เกษตรกรที่ติดหนี้อยู่ก็ไม่มีเงินชำระหนี้

 “สมมติเกษตรกรรายนี้ติดหนี้อยู่
50,000 ทำนาปีนี้ก็ไม่มีกำไรแล้ว ก็ไม่มีเงินที่จะไปส่ง พอไม่มีเงินไปส่ง
เพื่อไม่ให้เสียเครดิตตัวเอง ก็ต้องไปหายืมนายทุนมาเพื่อที่จะเอาไปส่ง
พอส่งเสร็จก็กู้กลับมาคืนนายทุน ก็ยังมีหนี้เหมือนเดิม มีแต่จะเพิ่มขึ้น”
เกษตรกรรายหนึ่งในพื้นที่ประสบภัยแล้งในจังหวัดอุทัยธานีกล่าว

น้ำในท้องร่องแห้งขอดหญ้าเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

ปีนี้ครึ่งปีผ่านไป อีกสามเดือนก็จะเลยฤดูทำนาก็ยังไม่มีน้ำเพียงพอที่จะทำ
ชาวนาผู้ปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักไม่มีรายได้ทางอื่นเข้ามาเสริม บางครอบครัวต้องออกรับจ้างทั่วไป
เช่น ออกนอกพื้นที่ในตำบลที่มีแหล่งน้ำปลูกพืช รับจ้างก่อสร้าง ฉีดยาอ้อย
หักข้าวโพด ถอนหญ้า พออยู่ไปวันๆ และค่าแรงก็ไม่ได้ถึง 300 บาท
เพราะงานมีน้อยชาวนามีเยอะ ทำให้ถูกกดค่าแรง บางรายต้องเข้ากรุงเทพฯ มาหางานทำ
หรืออาจปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย อย่างถั่ว ข้าวโพดหรืออ้อย
แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องทุนหรือพื้นที่ เช่น
ถ้าปลูกอ้อยก็จะลำบากในการจัดการกับตอที่เหลือไว้หลังจากตัดขายแล้ว หรือบางพื้นที่ก็ขาดน้ำจนไม่สามารถปลูกพืชใดๆ
ได้ บางคนได้แต่นอนรอฝนตกอยู่ที่บ้านเฉยๆ เลี้ยงสัตว์เลี้ยงปลาไว้ยังชีพ

สำหรับหน่วยงานที่ช่วยเหลือ เกษตรกรกล่าวว่ายังไม่มีมาตรการใดๆ
ที่ชัดเจนออกมา ทั้งนี้เกษตรกรไม่ได้มองว่ารัฐจะนำอะไรมาให้ แต่มองว่ารัฐจะส่งเสริมอาชีพในช่วงหน้าแล้งแบบใด
ที่ผ่านมาถึงแม้ว่ารัฐจะสนับสนุนเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชอายุสั้น แต่หากไม่มีน้ำเลยอย่างเช่นตอนนี้ก็ปลูกไม่ได้
เบื้องต้นเกษตรกรก็ให้ความเห็นและข้อเสนอที่น่าสนใจมาว่า

1.  นโยบายช่วยเหลือ
เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐมีนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรเช่นเดิม เพราะราคาข้าวในปัจจุบัน
เกษตรกรไม่สามารถอยู่ได้ เพราะไม่มีกำไรหรือมีก็ไม่คุ้มต่อการลงทุน โครงการที่อุดหนุนเงินจากภาครัฐ
เช่น โครงการรับจำนำข้าวจึงมีความจำเป็นสำหรับชาวนามาก
ไม่เช่นนั้นชาวนาคงไม่สามารถประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้ เพราะทำอาชีพอื่นคุ้มกว่า

2.  การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชชนิดอื่นๆ ในหน้าแล้งใช้ไม่ได้จริง
เพราะในหน้าแล้งสิ่งที่ขาดคือ
น้ำ ในเมื่อไม่มีน้ำทำการเกษตร ทำให้ไม่สามารถนำเมล็ดพันธุ์มาปลูกได้
ชาวนาบางคนกล่าวว่าการเข้ามาสอนการทำการเกษตรทางเลือก เช่น
การมาทำแปลงเกษตรตัวอย่างของทางจังหวัด หรือมาให้ความรู้เรื่องการแปรรูปสินค้า
ก็เป็นเพียงแค่การให้ความรู้เชิงวิชาการเท่านั้น ทุกครัวเรือนไม่สามารถหาเงินทุนเพื่อสานต่อในระยะยาวได้

3.  ชาวนาไม่สามารถสร้าง “ตลาด” ได้เอง
เมื่อมีภาครัฐเข้ามาสอนวิชาชีพให้ในช่วงที่ไม่สามารถทำนาได้
เกษตรกรก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างงาน เช่น สอนทำหัตถกรรมอย่างจักสาน
แต่เมื่อผลิตออกมาแล้วอยากให้ภาครัฐจัดเตรียมตลาดที่รับซื้อสินค้าแน่นอนให้เพราะการทำการตลาดต้องใช้ทุนและมีวิธีดำเนินการ
แต่ชาวนาไม่มีทุนและไม่รู้ถึงวิธีการ  จึงรู้สึกว่ารายได้ที่ได้รับอาจไม่คุ้มที่ลงทุนลงแรงไป
หากจะให้ทำอาชีพอื่นเสริมควรช่วยดูแลเรื่องการตลาดให้ด้วย

4.  เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการซื้อเมล็ดพันธุ์จากหน่วยงานภาครัฐของกระทรวงเกษตร
แต่ไม่สามารถใช้บัตรสินเชื่อซื้อได้โดยตรง
ทำให้ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงจากร้านค้าปลีก
จึงอยากให้มีการปรับเปลี่ยนให้ภาครัฐรับบัตรสินเชื่อที่ออกโดยภาครัฐเองและให้ส่วนลดกับเกษตรกรด้วย

5.  ชาวนาอยากให้ภาครัฐและหน่วยงานราชการคิดมาตรการช่วยเหลือที่ต่อเนื่องในช่วงที่เกิดภัยแล้ง
หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ
เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงแผนระยะสั้นและไม่ทันท่วงที
จึงอยากให้ภาครัฐและหน่วยราชการวางแผนในระยะยาวตั้งแต่เนิ่นๆ หรือทำบ่อบาดาลให้พอสามารถสูบน้ำมาปลูกพืชอายุสั้นได้บ้าง

การทำนาของชาวนาในขณะนี้ทำได้แต่เพียงรอคอยน้ำฝนที่ไม่รู้ว่าจะตกลงมาเมื่อใดเท่านั้น
แม้ขณะนี้เกษตรกรก็ยังคงรอความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ขณะนี้ยังมาไม่ถึง เงินอุดหนุนที่กำลังจะให้เกษตรกรในช่วงหน้าแล้งนั้นเป็นสิ่งชั่วคราวที่ไม่เพียงพอจะสามารถพึ่งได้ในระยะยาว
ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะหมดฤดูทำนาเสียแล้ว นอกจากมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว
สิ่งที่เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้งพึ่งได้คงมีแค่ดวงและโชคชะตาเท่านั้น.

แหล่งข้อมูล

ข้อร้องเรียนจากชาวนาในพื้นที่อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี

http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=53

http://www.bangkok.diplo.de/Vertretung/bangkok/th/05/3-Themen-im-Fokus/341-Basisinformationen-zur-thailaendischen-Landwirtschaft.html