วิธีรับมือกับภัยแล้งของคนกรุงเทพฯ

จากข้อมูลของกลุ่มป้องกันภัยธรรมชาติและความเสี่ยงทางการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าภัยแล้งทางการเกษตรของประเทศไทยนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในสภาพพื้นที่เกษตรน้ำฝน เนื่องจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรชลประทาน เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งลดลงต่ำมาก โดยพื้นที่ทั้งสองประเภทกำลังประสบวิกฤตอย่างหนัก

ล่าสุดได้มีคำเตือนจากการประปานครหลวงว่าให้ จับตาดูถ้าฝนยังไม่ตกภายใน 30 วันจากนี้ไป คนกรุงเทพฯและสมุทรปราการ ต้องรับมือน้ำทะเลหนุน น้ำเค็มจากปากน้ำ ถึงจุดรับน้ำดิบ เพราะลุ่มน้ำเจ้าพระยากำลังเจอวิกฤตภัยแล้ง และความเค็มอย่างหนักในรอบ 51 ปี ส่งผลต่อน้ำประปาที่เราใช้อุปโภคบริโภคเพราะทางการประปาเริ่มมีน้ำไม่พอผลักดันน้ำเค็ม สถานีสูบน้ำดิบสำแล ปทุมธานีเองก็มีค่าความเค็มสูงกว่ามาตรฐานแล้ว ชาวบ้านควรสำรองน้ำประปาบ้านละ 60 ลิตร รวมถึงอาจจะปรับราคาน้ำประปาขึ้นไม่เกิน1.50บาทต่อลูกบาศก์เมตร เพราะต้องใช้ต้นทุนในการรักษาคุณภาพน้ำมากขึ้น เร็วๆนี้ก็มีการทดลองปรับการผันน้ำ เพื่อช่วยสถานการณ์ภัยแล้งแล้วในเขตถนนสุขสวัสดิ์ ถนนวัดคู่สร้างและถนนวัดแหลมฟ้าผ่า

ซ้ำยังมีคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าการกระจายของฝนจะไม่สม่ำเสมอ เช่นนี้แล้วคงไม่อาจประกันได้ว่ากรุงเทพฯ จะไม่เดือดร้อน ฉะนั้นทุกคนควรช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะแล้งที่จะกระทบกับคนในกรุงเทพฯ  ในอีกไม่ช้า วิธีง่ายๆ ที่การประปานครหลวงได้แนะนำประชาชนคือ

1. ใช้ฝักบัวอาบน้ำจะสิ้นเปลืองน้ำน้อยที่สุด ยิ่งรูฝักบัวเล็ก จะยิ่งประหยัดน้ำ เพราะการใช้อ่างอาบน้ำจะใช้น้ำถึง 110-200 ลิตรทีเดียว

2. หลังโกนหนวดให้ใช้กระดาษเช็ดก่อน แล้วใช้น้ำจากแก้วมาล้างอีกครั้ง จะประหยัดกว่าล้างโดยตรงจากก๊อก

3. ใช้แก้วรองน้ำบ้วนปากและแปรงฟัน จะใช้น้ำเพียง 0.5–1 ลิตร แต่การปล่อยให้น้ำไหล จากก๊อกตลอดการ แปรงฟัน จะใช้น้ำถึง 20–30 ลิตรต่อครั้ง

4. การใช้ชักโครกจะใช้น้ำถึง 8–12 ลิตร ต่อครั้ง หากรองน้ำไว้ตักราดจะสิ้นเปลืองน้อยกว่า
 

5. ขณะซักผ้าถ้าเปิดน้ำทิ้งไว้จะเสียน้ำถึง 9 ลิตร/นาที ควรรวบรวมผ้าจำนวนมากก่อนซักด้วยมือหรือเครื่อง
 

6.   หากล้างถ้วยชามให้ใช้กระดาษเช็ดคราบสกปรกออกก่อน
แล้วล้างพร้อมกันในอ่างน้ำจะประหยัดเวลาประหยัดน้ำและให้ความสะอาดมากกว่า
ล้างจากก๊อกโดยตรง

7. การล้างผักผลไม้ควรใช้ภาชนะรองน้ำเท่าที่จำเป็น ส่วนน้ำที่เหลือสามารถเอาไปรดน้ำต้นไม้ต่อได้ 

8. ควรใช้ภาชนะรองน้ำก่อนที่จะนำไปเช็ดถูทำความสะอาดบ้าน จะใช้น้ำน้อยกว่าการใช้สายยางฉีดล้างทำ ความสะอาดพื้นโดยตรง
 

9. ควรใช้ฝักบัวรดน้ำต้นไม้แทนการใช้สายยางหรือใช้น้ำที่เหลือจากกิจกรรมอื่นมารด เช่น น้ำที่เหลือจากการซักผ้า หรือล้างผัก
 

10. การใช้สายยางฉีดน้ำล้างรถโดยตรง จะเสียน้ำมากถึง 150-200 ลิตร/ครั้ง แต่หากเปลี่ยนมาเป็นรองน้ำใส่ภาชนะไว้ใช้ล้างแต่พอดี จะสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 20-50 % ทีเดียว
 

เรื่องธรรมชาติเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ภัยแล้งก็เช่นกัน ฉะนั้นเราควรเตรียมรับมือกันตั้งแต่เนิ่นๆ ชาวกรุงที่ปกติต้องขนของหนีน้ำท่วมมาตลอด คราวนี้คงต้องเตรียมกักตุนน้ำไว้ใช้กันเสียแล้ว

แหล่งข้อมูล
http://irw101.ldd.go.th/lib/topic4_old.php?page=12
http://news.ch7.com/
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000074532
http://www.mwa.co.th