สวัสดิการด้านสุขภาพ : เพราะสุขภาพไม่ใช่สินค้า

  ในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกมีความพยายามที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนภายในประเทศให้ดีขึ้น โดยการให้สวัสดิการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น การตรวจสุขภาพประจำปีฟรี การเข้ารับการรักษาพยาบาลฟรี ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ ในบางประเทศ สวัสดิการดังกล่าวยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงประชาชนทุกคน ยังคงมีบางส่วนที่ยังไม่ได้รับสวัสดิการในส่วนนี้ ดังนั้นรัฐบาล ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลประชาชนทุกคนภายในประเทศ จึงจำเป็นจะต้องหานโยบาย หรือความช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถได้รับ และเข้าถึงสวัสดิการในส่วนนี้ได้

   ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อดูตามสถิติจะเห็นได้ว่าอเมริกาใช้งบประมาณเกือบ 18% ของ GDP ในการใช้จ่ายเกี่ยวกับด้านสุขภาพ ชี้ให้เห็นว่าประเทศนี้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก

   โดยปกติแล้วชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะได้รับสวัสดิการประกันสุขภาพผ่านทางนายจ้างจากระบบประกันสุขภาพของเอกชน ส่วนคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปและเด็ก จะได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการ Medicare และสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำว่าเกณฑ์ จะได้รับการการคุ้มครองสุขภาพจากโครงการ Medicaid อย่างไรก็ตามยังมีประชากรอีกกว่า 47 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% ของประชากรของประเทศ ยังไม่มีประกันสุขภาพเพราะประกันสุขภาพมีราคาสูงเกินไป และเมื่อไม่มีประกันสุขภาพก็หมายความว่าไม่มีสิทธิ์รับการรักษาทางการแพทย์

 

 
   เพื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว The Patient Protection & Affordable Care Act(PPACA) หรือ Affordable Care Act(ACA) หรืออีกชื่อที่คนนิยมเรียกกันว่า Obamacare (ที่เรียกกันว่า Obamacare เพราะว่าเป็นนโยบายที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ใช้ตอนหาเสียงและเป็นคนผลักดันให้สำเร็จ) จึงถูกประกาศใช้เพื่อให้คนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพเหล่านี้สามารถเข้าถึงและเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ โดย Obamacare นี้เป็นกฎหมายประกันสุขภาพ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิของผู้ป่วยชาวอเมริกัน มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถซื้อประกันสุขภาพและเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงในราคาที่ไม่แพง ทั้งนี้ Obamacare ไม่ได้ดูแลแค่กลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงประกันสุขภาพได้เท่านั้น แต่ยังช่วยสนับสนุนและขยายความคุ้มครองให้แก่ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการ Medicare และ Medicaid เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้ปัจจุบันนี้ชาวอเมริกันชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง

   โดยที่มาของกฎหมายประกันสุขภาพนี้ เริ่มจากนโยบายที่ทำต่อเนื่องมาจากสมัยอดีตประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน แต่มาประสบความสำเร็จในสมัยของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2010 แต่นโยบายหลักๆ มีผลบังคับใช้จริงในวันที่ 1 มกราคม 2014

   แม้ว่า Obamacare จะผ่านและออกมาเป็นกฎหมายแล้ว แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมต่างๆก็ยังมีความพยายามที่จะต่อสู้และหาทางยกเลิกกฎหมายดังกล่าว โดยอ้างว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอเมริกันในการตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ อีกทั้งยังมองว่าประกันสุขภาพเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง การซื้อประกันสุขภาพก็เหมือนกับการซื้อของทั่วไป และควรถูกกำหนดให้เป็นไปตามกลไกตลาดหรือถูกกำหนดโดยเอกชนมากกว่ารัฐบาล บางส่วนก็มองว่าเป็นนโยบายประชานิยม

   ในส่วนของประเทศไทย ประชาชนหลายภาคส่วนได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ ทั้งข้าราชการและลูกจ้างประจำของรัฐและรัฐวิสาหกิจ คนภายในครอบครัวสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้  แต่เดิมระบบประกันสุขภาพแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และ ระบบประกันสุขภาพโดยการซื้อ ทั้งลูกจ้างในโครงการประกันสังคม ตลอดจนผู้มีบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น แต่สวัสดิการเหล่านี้ยังไม่ได้เข้าถึงกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยอย่างผู้สูงอายุ และคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบที่กล่าวถึงข้างต้น ดังนั้นในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทำให้รัฐบาลต้องให้บริการด้านการรักษาและพยาบาลให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อมาช่วยเหลือและคุ้มครองกลุ่มคนดังกล่าว

   ต่อมาเมื่อปี 2544 ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร นำแนวคิดหลักประกันสุภาพถ้วนหน้า ซึ่งริเริ่มโดย นายแพทย์ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ จนพัฒนาเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยโครงการดังกล่าวเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้คนไทยมีหลักประกันหรือมีความมั่นใจว่าเมื่อเจ็บป่วยก็สามารถไปหาหมอเพื่อขอคำแนะนำ ตรวจรักษา หรือแม้แต่ได้รับยา เพื่อรักษาโรค โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องค่ารักษาพยาบาล เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับนโยบาย Obamacare จะมีลักษณะคล้ายกันในด้านการเปิดโอกาสให้กับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการก่อนหน้าได้รับการรักษาพยาบาลในราคาที่ถูกมาก และสามารถเข้าถึงได้ง่าย

   ถึงแม้ว่าตัวโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และ Obamacare จะไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรงในหลายๆมิติ แต่ทั้งสองนโยบายล้วนแล้วแต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ยังไม่ได้รับโอกาสที่จะมีสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ดีซึ่งรัฐควรมีให้แก่ประชาชนทุกคน โครงการดังกล่าวไม่สามารถมองไปในแง่ของสินค้า เพราะสุขภาพของประชาชนไม่ได้เป็นเรื่องของการขาดทุนหรือได้กำไร หรือการทำเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากประเทศหนึ่งต้องการจะเดินหน้าไปตามทางของประเทศที่พัฒนาแล้วจริงๆ สุขภาพและปากท้องของประชาชนไม่ใช่หรือ ที่ควรจะเป็นสิ่งแรกที่รัฐบาลของประเทศนั้นๆควรตระหนักและให้ความสำคัญมากที่สุด
   
อ้างอิง
http://news.voicetv.co.th/world/84683.html
http://www.prachatai.com/journal/2012/06/41317
http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000002841
http://www.siamintelligence.com/obamacare-is-a-product-or-human-rights-issue/
http://www.prachatai.com/journal/2009/06/24628
http://www.oknation.net/blog/health2you/2013/11/13/entry-1
http://www2.nkc.kku.ac.th/manit.p/document/962241_962206/report_962206/30baht.doc