เกร็ดความรู้ : ความเป็นมาของสลากกินแบ่งรัฐบาลในประเทศไทย
สังคมไทยถือว่าเป็นสังคมที่ผูกพันกับการเสี่ยงโชคลาภ เห็นได้จากภาพข่าวต่างๆ การไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไปขูดขอเลขจากสิ่งต่างๆ เช่น ต้นไม้ กระดองสัตว์ เป็นต้น รวมไปถึงการฝันแล้วนำมาตีเป็นเลขเด็ดเพื่อใช้ซื้อหวย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการพึ่งพาเสี่ยงดวงเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองทรัพย์สิน ดังนั้น “หวย” จึงเปรียบเสมือนกับโอกาสและเส้นทางลัดที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้
นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน “หวย” หรือ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน เปรียบเหมือนวัฒนธรรมของคนในสังคม เป็นสิ่งที่คนในสังคมให้ความสำคัญ และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทย ที่ชื่นชอบการเสี่ยงโชคเป็นอย่างมาก กอปรกับความเชื่อแบบไสยศาสตร์ผีสางเทวดาที่สังคมไทยเชื่อถือบูชามาตั้งแต่อดีต แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่ากว่าจะมาเป็นสลากกินแบ่งที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน มีที่มาที่ไปอย่างไร บทความนี้จึงอยากเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกองสลากกินแบ่งว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากไหน และพัฒนามาเป็นกองสลากกินแบ่งในปัจจุบันได้อย่างไร
นายเฮนรี อาลาบัสเตอร์
ที่มาของภาพ : www.ayutthaya-history.com
เริ่มจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ชาวสยามได้เปิดรับวิทยาการจากตะวันตกในทุกด้าน ส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมและวิทยาการจากตะวันตก หนึ่งในวิทยาการนั้นคือ การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ โดยมีชาวอังกฤษ ชื่อนายเฮนรี อาลาบัสเตอร์ (Henry Alabaster) เป็นผู้นำการออกรางวัลสลากเข้ามาเผยแพร่ในสยามเป็นครั้งแรก เพื่อจะช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติที่นำสินค้ามาร่วมแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเดียในพระบรมมหาราชวัง
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (ประมาณปีพ.ศ. 2460) ประเทศอังกฤษ มีความต้องการที่จะกู้เงินจากสยามเพื่อใช้ในการสงคราม แต่ด้วยอังกฤษไม่สามารถที่จะขอกู้จากรัฐบาลสยามได้โดยตรงเพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาการเมืองภายในประเทศ จึงดำเนินนโยบายกู้เงินจากประชาชนชาวสยามโดยตรงด้วยการออกรางวัลสลากกินแบ่ง การออกรางวัลในครั้งนั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และในรัชสมัยเดียวกัน รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออก “ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท” เพื่อหารายได้บำรุงกองเสือป่าอาสาสมัคร โดยพิมพ์จำนวน 1 ล้านฉบับ จำหน่ายฉบับละ 1 บาท
ลอตเตอรี่เสือป่า
ที่มาของภาพ : http://lottothai.tripod.com/htm/slagOld.html
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามสู่ประชาธิปไตยในปี 2475 สลากกินแบ่งรัฐบาลได้ออกรางวัลอีกครั้งในปี 2476 เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นประสบปัญหาด้านการคลัง (รัฐบาลได้รับเงินที่เรียกเก็บจากชายไทยที่ไม่ต้องรับราชการทหาร) จึงมีนโยบายให้ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยใช้ชื่อว่า “ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม” โดยพิมพ์ออกจำหน่ายจำนวน 1 ล้านฉบับ ฉบับละ 1 บาท ปีละ 4 งวด
ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม
ที่มาของภาพ : http://lottothai.tripod.com/htm/slagOld.html
ในปี พ.ศ. 2482 สลากกินแบ่งรัฐบาลเริ่มมีการดำเนินการอย่างเป็นทางการ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนกิจการสลากกินแบ่งรัฐบาลมาสังกัดในกระทรวงการคลัง นับจากช่วงเวลานั้นการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลในประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยถือว่าวันที่ 5 เมษายน 2482 เป็นวันสถาปนาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
จนกระทั่งในปี 2517 ได้มีการออกพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้น กำหนดให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีลักษณะเป็นนิติบุคคล และเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งมีการดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่ากองสลากกินแบ่งรัฐบาลจะมีประวัติศาสตร์อยู่มาเกือบหนึ่งศตวรรษ แต่ชีวิตของคนในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันยังต้องพึ่งกับความเชื่อ เพราะพวกเขายังไม่ได้รับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สลากกินแบ่งรัฐบาลอาจเป็นความหวังหนึ่ง เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่พวกเขาเหล่านั้นหวังว่าถ้าสักวันถูกรางวัลใหญ่ขึ้นมาก็อาจจะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้นได้ และความเชื่อเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ต่อไปถ้ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาความยากลำบากของคนในสังคมให้อยู่ดีกินดีได้.
แหล่งข้อมูล
http://www.glo.or.th/main.php?filename=index
http://www.glo.or.th/ewt_news.php?nid=53
http://news.mthai.com/hot-news/economy-news/455898.html