ความรู้เบื้องต้น : การทำธุรกิจออนไลน์ ต้องเสียภาษีเท่าไร?

          ธุรกิจร้านค้าออนไลน์ หรือ E-Commerce ถือว่าเป็นธุรกิจแนวใหม่ที่กำลังมาแรงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา วัยรุ่นหรือนักธุรกิจหน้าใหม่ต่างให้ความสนใจกันเป็นอย่างมากเพราะสามารถทำรายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังไม่ต้องอาศัยเงินทุนเป็นจำนวนมากในตั้งต้นทำธุรกิจ ด้วยความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา ตลอดจนสามารถเลือกดูสินค้าได้อย่างหลากหลาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตและมีมูลค่ามหาศาล

         เนื่องจากตลาดธุรกิจออนไลน์มีการขยายตัว จะเห็นได้จากการที่มีร้านค้าที่ขายของออนไลน์ตามเพจเฟซบุ๊ค หรือตามแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บไซท์ต่างๆ ทำให้มูลค่าการซื้อขายและรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย  กอปรกับการที่รัฐบาลสั่งให้กระทรวงการคลังมีมาตรการในการเก็บภาษีร้านค้าออนไลน์อย่างเข้มงวดมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการที่ต้องจ่ายภาษี  ในบทความชิ้นนี้จึงขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีร้านค้าออนไลน์ เพื่อผู้ที่ยังไม่มีความรู้ด้านกฏหมายจะได้เข้าใจเรื่องดังกล่าว และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์และผู้บริโภค

         เริ่มแรกการประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์นั้น ผู้ประกอบการต้องมีการลงทะเบียนรายงานรายได้ของตนเอง แม้ผู้ประกอบการจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี แต่ก็ต้องยื่นแสดงรายได้ต่อกรมสรรพากร เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีรายได้ ส่วนผู้ประกอบการที่มีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ก็จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายอยู่แล้ว

 

         ตาม “พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545” ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องทำการจดทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ก่อนที่จะเริ่มประกอบการอีกด้วย เนื่องจากหากมีการร้องเรียนเมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม จะได้มีการติดตามผู้ประกอบการมาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ซึ่งหากร้านค้าออนไลน์มีการฝ่าฝืน ไม่ไปขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังกระทำการฝ่าฝืนอยู่

 

         นอกจากนั้นผู้ประกอบการต้องมาจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อออกเครื่องหมายการจดทะเบียนให้กับผู้ประกอบการ หากฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

        ในการประกอบธุรกิจการค้าออนไลน์ผู้ประกอบการจะต้องเกี่ยวข้องกับภาษี  2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้ และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีเงินได้จะแบ่งออกเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้แบบนิติบุคคล (ในกรณีที่จดทะเบียนเป็นบริษัท) ทั้งนี้การเสียภาษีของร้านค้าออนไลน์สำหรับบุคคลธรรมดานั้นจะมีอยู่ 2 กรณี คือ

1. ถ้ารายได้ไม่ถึง 1,800,000 บาทต่อปี เสียแค่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. ถ้ากรณีเกิน 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการขายของออนไลน์ถือเป็นเงินประเภทที่ 8 (เงินได้ประเภทอื่นๆ) สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ แบบเหมารวมในอัตรา “สูงสุด”อยู่ที่ 80% ของรายได้ (ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ เพราะเงินได้แต่ละประเภทหักไม่เท่ากัน) และแบบตามความจำเป็น

         ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าสมมติเราขายสินค้าชิ้นนึงราคา 100 บาท เป็นต้นทุน 80 บาทและเป็นกำไร 20 บาท เรานำรายได้ 20 บาทนั้นมาคิดเป็นภาษีที่เราต้องจ่ายตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการทั่วไป เช่น ร้านค้า ร้านขายของที่มีหน้าร้านรู้อยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการออนไลน์ (ซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา) อาจจะยังไม่รู้ตรงนี้ ดังนั้นเวลาคิดต้นทุน จึงยังไม่ได้คิดรวมในส่วนของภาษีเข้าไปด้วย พอถึงช่วงที่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีทำให้บุคคลที่ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของกฎหมายในส่วนนี้กังวลได้ว่าทำไมตนถึงเสียภาษีเยอะ

 

         จากสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า ยังมีผู้ค้าออนไลน์จำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการเสียภาษีร้านค้าออนไลน์อย่างถูกต้อง เนื่องจากยังไม่ทราบข้อมูลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้นนอกจากมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการเก็บภาษีแล้ว รัฐบาลก็ควรจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนทั้งผู้ค้าและผู้บริโภคอย่างชัดเจนและเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องตามกฎหมาย

   ดังนั้นอาจกล่าวสรุปได้ว่าการประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์นั้น ผู้ประกอบการต้องทำดังนี้ คือ
1. ลงทะเบียนรายงานรายได้ของตนเอง ที่กรมสรรพากร
2. จดทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสคบ.
3. จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
4. เวลาทำบัญชี อย่าลืมคิดภาษีที่ตนจะต้องจ่ายลงไปด้วย เพื่อไม่ให้เราเกิดปัญหาเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายภาษี

   และนี่ก็เป็นข้อมูลคร่าวๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์และผู้บริโภคไม่มากก็น้อย
   
แหล่งที่มา
www.thaipublica.org/2014/12/consume-in-second-4/
www.prachatai.com/journal/2015/08/60685
www.rd.go.th/
www.opdc.go.th/org.php?url=org1_1_view&g=D&id=107
http://g1.s1sf.com/1/12/org/114/2281964.jpg