แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ คสช….ด้วยทักษิโณมิกส์ ??

ตั้งแต่รัฐบาลคสช.เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน สถานการณ์เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญภาวะถดถอยทั้งจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก อาทิ ปัญหาการค้ามนุษย์  พร้อมกับปัจจัยภายในประเทศที่เครื่องยนต์หลักเริ่มหมดแรงไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อของผู้บริโภคหายไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาภัยแล้ง การย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติชั้นนำ และความไม่มั่นใจในอนาคตของเศรษฐกิจไทย ทำให้กำลังซื้อของตลาดภายในหดหายลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งภาคเอกชนไทยชะลอการลงทุนใหม่ๆ ออกไป  ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอยู่เพียงแค่ 2-3 % เท่านั้นนับว่าน้อยกว่าที่ควรเป็นอย่างมาก

กว่าปีที่ผ่านมาของการบริหารเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาล คสช. กลับไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนได้เลย ซึ่งสะท้อนออกมายังตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆตัวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่มีนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพและรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจเลยแม้แต่น้อย

เมื่อมองไปที่ตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งปีแรกที่ออกมาจะพบว่าไทยกำลังประสบปัญหา 2 ด้านคือ ตลาดต่างประเทศ และตลาดภายในประเทศที่หดตัวพร้อมกัน โดยภาคการส่งออกของไทยหดตัวลงมาต่อเนื่องไตรมาส 1ส่งออกติดลบไป 4.3% ไตรมาส 2 ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น  5.5% สะท้อนว่าเรามีความสามารถทางการแข่งขันลดลง และตลาดคู่ค้าชะลอตัวไม่สั่งซื้อสินค้าไทย

ขณะที่ตลาดภายในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนแม้ยังไม่ติดลบ แต่ยังเป็นแนวโน้มลดลงจากไตรมาส 1 การบริโภคโตเพียง 2.4 %พอจบไตรมาส 2 โตลดลงเหลือเพียง 1.5% และน่าเป็นห่วงมากขึ้นคือการลงทุนของเอกชนที่ลดลงอย่างรุนแรงเพราะไตรมาส 1ยังอยู่ที่ 3.6%แสดงว่ายังมีการลงทุนค้างจากปีที่แล้วมา แต่เมื่อจบไตรมาส 2 กลับพบว่าการลงทุนติดลบถึง3.4% นั่นหมายถึง การลงทุนหายไปทันที 6%ภายใน 1ไตรมาสและสะท้อนไปยังตัวเลขนำเข้าที่ติดลบถึง 10.1% ซึ่งเป็นการนำเข้าสินค้าทุนอาทิ น้ำมัน  เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้าหดตัวหมด นั่นแสดงว่าเอกชนหยุดลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์

นั่นจึงนำมาสู่การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกโดยเน้นหนักที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจโดยให้ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจโดยงานแรกคือการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 มาตรการ ได้แก่
1.ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท โดยให้กับกองทุนที่ได้เกรด Aและ B ไม่เกิน 1 ล้านบาทโดยห้ามไม่ให้ใช้หนี้เดิมแต่ให้นำไปประกอบอาชีพและจ้างงานผ่าน ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.
2.จัดสรรเงินแบบให้เปล่าในระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวนกว่า 7,000 ตำบลรวมวงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เกิดการจ้างงานในชนบทโดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานหลัก
3.มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท

ซึ่งเป็นการปัดฝุ่นเอานโยบายสมัยพรรคไทยรักไทยกลับมาใช้ใหม่ สะท้อนว่าทีมเศรษฐกิจ ของคสช.ต้องการไปกระตุ้นเศรษฐกิจที่รากหญ้าเพื่อเร่งการบริโภค การจ้างงาน ในท้องถิ่นให้เพิ่มขึ้นก่อนโดยนำเอาหลักคิดแบบทักษิโณมิกส์กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายเคยตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นโครงการประชานิยมมาโดยตลอด

การที่ 3 มาตรการดังกล่าวจะเร่งอัดฉีดเงินลงไปท้องถิ่นเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นให้มีลมหายใจหลังจากประสบปัญหาภัยแล้งและราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ แต่อาจทำได้เพียงประวิงเวลาได้ระยะหนึ่งถ้ากำลังซื้อจากภาคเอกชน ซึ่งจะมาจากการส่งออก การลงทุนของเอกชนเองและการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม ราชประสงค์ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนยกเลิกการเที่ยวไทยไปจำนวนไม่น้อย ทั้งสามส่วนนี้ยังไม่ฟื้นกลับมา

การอัดฉีดเงินเข้าสู่รากหญ้านั้นถ้าตามหลักคิดแบบ dual track ที่พรรคไทยรักไทยมาจนถึงพรรคเพื่อไทยดำเนินการมาตลอดนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจนั่นคือความเชื่อมั่น โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยและรัฐบาลเพื่อไทยทำคือการเร่งสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองและทางเศรษฐกิจว่ามีเสถียรภาพ มีความเป็นประชาธิปไตย และมีความเชื่อมั่นว่าจะไม่มีนโยบายที่เป็นการกีดกันการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจออกมา เพราะเมื่อมีความเชื่อมั่นนี้แล้ว การติดต่อเจรจาการค้าต่างประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยวจะกลับมาอย่างรวดเร็วเพราะคำว่าความเชื่อมั่น

ขณะที่ปัญหาหลักที่สำคัญในเวลานี้คือบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงไม่สนใจไทยหันไปหาเวียดนาม อินโดนีเซียไม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะกลัวว่าจะเจอการส่งออกไปยังคู่ค้าไม่ได้เพราะสภาพการเมืองที่ไม่ได้รับการยอมรับ ยิ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่า ไทยกำลังตกขบวนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่เราใช้เดินเครื่องเศรษฐกิจมาตั้งแต่ยุค 90  นั่นจะทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะกลับมาเหมือนเดิมอีก

ทำให้เกิดแนวคิดเน้นการเติบโตภายในประเทศชดเชยการส่งออกแทน แต่ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนสูงถึง 70%ของ GDP นั่นหมายถึงว่าไทยอยู่ในระบบซัพพลายเชนระดับโลก การย้อนกลับไปเน้นการเติบโตภายในประเทศเป็นหลักนั่นหมายถึงการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่เราพึ่งพานักลงทุนจากต่างประเทศ คำถามคือ ซัพพลายเชนที่เชื่อมร้อยกับ SMEs ไทยจำนวนมากจะทำเช่นไร แล้วถ้าบริษัททางด้านเทคโนโลยีสูงมองเลยประเทศไทยไปเพื่อนบ้านหมด ตำแหน่งแห่งที่ทางเศรษฐกิจของไทยในระดับโลกจะอยู่ตรงไหน ซึ่งตามที่ดร.สมคิดให้แนวคิดการตั้งคลัสเตอร์ ก็ต้องเชื่อมกับการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศเช่นเดิม

และเมื่อดูปัจจัยความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจแล้วจะพบว่าประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญอีกหลายประการ ได้แก่
1.   การหดตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีสัญญาณรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่ารัฐบาลจีนมีการอัดฉีดเงินและออกมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจผ่านการลดค่าเงินและดอกเบี้ยแล้วก็ตาม
2.   สงครามค่าเงินซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการลดค่าเงินหยวนของจีน และการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
3.   ท่าทีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐว่าจะขึ้นในเดือนกันยายนนี้หรือจะเลื่อนออกไปเป็นธันวาคม
4.   ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ราคาพืชผลเกษตร ยังมีแนวโน้มลดลงย่อมส่งผลกระทบเรื่องเงินเฟ้อและรายได้ของเกษตรกรไทย

และปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดของไทยเวลานี้คือ การไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นตัวทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยและทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจในที่สุด นั่นหมายถึงว่าแม้จะกลับมาใช้แนวคิด dual Track หรือทักษิโณมิกส์ ก็ยากที่จะฟื้นเศรษฐกิจกลับคืนมาได้ และสุดท้ายการไม่เป็นประชาธิปไตยนี้เองจะมาทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจที่สร้างกันมาอย่างยาวนานไปในที่สุด