วันสันติภาพโลก : Partnerships for Peace – Dignity for All

“ในอีกร้อยวันข้างหน้า ให้พวกเราได้ยืนหยัดไปกับคนหลายล้านคนทั่วโลกที่กำลังทุกข์ทรมานกับผลกระทบที่ร้ายแรงของความรุนแรงและความขัดแย้ง ให้พวกเราได้แบ่งปันความคิดและแผนการที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนพวกเขาในช่วงเวลาที่พวกเขากำลังตกระกำลำบาก” เป็นสิ่งที่นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวไว้ 100 วันก่อนจะถึงวันที่ 21 กันยายน ในปีนี้

 

นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ

           ในวันที่ 21 กันยายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น วันสันติภาพโลก(International Day of Peace หรือ Peace Day) เพื่อที่จะให้ประชาชนทั่วโลกได้ระลึกถึงความสูญเสียจากสงคราม ความเจ็บปวดจากการสู้รบที่ผ่านมา และเป็นวันที่ประชาชนทุกคนจะปล่อยวางจากความโกรธแค้น ความเกลียดชัง และหันหน้าเข้าหากันอย่างสันติ โดยวันดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2524(ค.ศ. 1981) และถูกจัดขึ้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 34 ปี

   จุดมุ่งหมายและสาระสำคัญของวันดังกล่าว คือ
1. การให้ความเคารพต่อชีวิตทั้งมวล เคารพชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่แบ่งชนชั้นหรือลำเอียง
2. การรณรงค์ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน
3. การแบ่งปันกับผู้อื่นอย่างมีน้ำใจ เพื่อขจัดการแบ่งแยก ความไม่ยุติธรรม และการกดขี่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
4. การรับฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
5. การสงวนรักษาผืนโลก ฝึกดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบและเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติบนผืนโลก
6. การสร้างความสมานฉันท์ เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย และให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสตรี

          ในวันสันติภาพโลก ผู้คนทั่วโลกจะร่วมทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเฉลิมฉลองสันติภาพร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติ การกินขนมปังปิ้ง การร้องเพลงประสานเสียง การจุดเทียน การปลูกต้นไม้ ไปจนถึงการเดินรณรงค์เพื่อสันติภาพ เป็นต้น และในทุกๆปีสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติที่นิวยอร์ก จะมีการตีระฆังสันติภาพ ซึ่งระฆังใบนี้หล่อขึ้นจากเหรียญที่เด็กทั่วโลกได้ร่วมกันบริจาค ด้านข้างของระฆังมีการจารึกตัวอักษรว่า “Long Live Absolutely World Peace” หรือ “สันติภาพที่แท้จริงของโลกจงยั่งยืน” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้คนทั่วทั้งโลกต่างปรารถนาที่จะให้มนุษย์ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

          ในส่วนประเทศไทยก็ มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านในอำเภอแม่สอด จ.ตาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดการเดินเพื่อสันติภาพ เพื่อรำลึกถึงการเดินขบวนอย่างสันติของพระภิกษุในประเทศพม่า และร่วมสวดมนต์ตั้งจิตให้เกิดสันติภาพขึ้นในพม่า ไทย และชาวโลก นอกจากนี้ยังมีโครงการอ่านสารสันติภาพและสงบนิ่งร่วมจิตอธิษฐาน 1 นาทีในบางโรงเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่างช่วยกันประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศให้เข้าร่วม เพื่อระลึกและให้ชี้ให้เห็นความสำคัญถึงวันดังกล่าว

          จากกิจกรรมดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้คนจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงในประเทศไทยเอง ล้วนอยากให้เราทุกคนบนโลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข วันดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนกับสัญลักษณ์และจุดเริ่มต้นในการรณรงค์เพื่อลดความขัดแย้ง ลดความเกลียดชัง ปล่อยวางจากสงคราม และช่วยเหลือผู้คนที่กำลังประสบกับความยากลำบากจากสิ่งเลวร้ายเหล่านั้น

          เป็นเรื่องปกติที่จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในทุกๆที่ จากจุดเล็กๆอย่างในสถาบันครอบครัว ที่ทำงาน เราทุกคนต่างมีความเป็นปัจเจก มีความคิดที่หลากหลาย จนมาถึงจุดที่ใหญ่ขึ้นในระดับสังคม มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้คนมีขัดแย้ง มีความแปลกแยก หรือมีความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นสิ่งที่สร้างสีสันและความหลากหลายให้กับโลกใบนี้

          ประเทศไทยที่ผ่านมา เรามีความคิดต่างทางการเมือง เรามีผู้คนที่เรียกร้องเพราะพวกเขากำลังเดือดร้อน แต่พวกเขาเหล่านั้นถูกปิดหู ปิดตาและปิดปาก ลองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในอดีตแค่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราสูญเสียกันมาพอหรือยัง? สันติภาพและความปรองดองที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะเราถูกทำให้คิดไปในทิศทางเดียวกัน แต่ควรจะทำอย่างไรให้คนที่คิดต่างกันยอมรับซึ่งกันและกัน และเคารพกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การเข้าใจเพื่อนร่วมชาติที่คิดต่าง และการช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นในยามที่พวกเขามีช่วงเวลาที่ยากลำบาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศเราเดินไปตามเส้นทางแห่งสันติภาพที่แท้จริง

แหล่งที่มา
http://www.un.org/en/events/peaceday/
http://www.un.org/en/events/peaceday/2015/sgmessage_countdown.shtml
http://www.timeanddate.com/holidays/un/international-peace-day
http://www.thaigoodview.com/node/33000
http://www.komchadluek.net/detail/20110921/109712/วันสันติภาพสากล.html