จีน-ญี่ปุ่น ใครจะกลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของไทย

ปีนี้นับเป็นปีแรกที่การลงทุนโดยตรงจากประเทศจีนมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนแซงการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น โดยตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 ( ม.ค.- ส.ค.) มียอดขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ  332 โครงการเป็นยอดเงินลงทุนกว่า 5.02 หมื่นล้านบาท โดยมีสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนมาเป็นอันดับที่ 1  ถัดมาเป็นประเทศจีนมีโครงการเข้ามาลงทุน 37 โครงการ เงินลงทุน 10,739 ล้านบาท ขณะที่ญี่ปุ่นมีโครงการลงทุน 92 โครงการ มีเงินลงทุน 9,900 ล้านบาท

ซึ่งถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันนั่นคือ มกราคม ถึง สิงหาคมของปี 2557 จะพบว่าญี่ปุ่นลงทุน 250 โครงการ เงินลงทุน 1 แสนล้านบาท โดยที่ทั้งปีอยู่ที่ 672 โครงการยอดเงินลงทุน 2.93 แสนล้านบาท ขณะที่จีนในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนลงทุน 17 โครงการ ยอดเงินลงทุน 10,088 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเพิ่มเงินแต่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ไม่ได้มากนัก

เกิดอะไรขึ้นกับการที่ญี่ปุ่นลดการลงทุนกับประเทศไทยมากขนาดนี้ ทั้งที่ผ่านไปเพียงปีเดียวเท่านั้น เรียกได้ว่าเงินลงทุนจากญี่ปุ่นหายไปเป็น 10 เท่าภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งถ้าจะบอกว่าเกิดจากการอั้นการอนุมัติการลงทุนจากบอร์ดบีโอไอมาตั้งแต่ปลายรัฐบาลก่อนหน้า ก็อาจจะมีส่วนอยู่บ้าง แต่ถ้ามองในเงื่อนไขที่รัฐบาลปัจจุบันมีเสถียรภาพทางการเมืองสูงมาก ไม่มีม็อบ ไม่มีความขัดแย้งอย่างที่เคยเกิดขึ้น แต่กลับพบว่าการลงทุนจากญี่ปุ่นที่เป็นผู้ลงทุนหลักของประเทศไทยมาตลอด กลับลดการลงทุนลงทั้งจำนวนโครงการและเม็ดเงิน

จำนวนเม็ดเงินที่หายไปอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างมากเพราะการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศหลักของการลงทุนและที่สำคัญคือ โรงงานผลิตสินค้าของญี่ปุ่นในไทยก็ส่งสินค้ากลับไปยังตลาดญี่ปุ่น ดังนั้นเมื่อการลงทุนของญี่ปุ่นลดลง นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการส่งออกไปยังญี่ปุ่นอีกด้วย

สิ่งหนึ่งที่อาจทำให้ญี่ปุ่นลดการลงทุนลงจากไทยนั้น ที่มีการพูดถึงกันมาตลอดนั่นคือความสามารถทางการแข่งขันของไทยที่ลดลง จากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่อาจส่งผลถัดไปต่อผู้ลงทุนจากญี่ปุ่น เพราะถือว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นจากนักลงทุนชาติดก็ตามจะโดนผลกระทบด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันนโยบายภาครัฐในช่วงขวบปีกว่าที่ผ่านมา หันหน้าเข้าหาจีนเป็นอย่างมาก แม้ว่าการลงทุนจะเป็นเรื่องของภาคเอกชนก็ตาม แต่การที่นโยบายรัฐไม่ได้ให้น้ำหนักการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นดังที่เป็นมา ก็อาจทำให้การลดการลงทุนในไทยเพื่อไปเพิ่มการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น

และถ้ามองไปถึงการค้าระหว่างประเทศที่เกิดการรวมตัวกันขึ้นในรูปของเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง TPP ซึ่งท่าทีของรัฐบาลไทยยังไม่ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ และด้วยข้อจำกัดที่รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลทหารทำให้รัฐสภาสหรัฐอเมริกาอาจจะยังไม่นำประเทศไทยขึ้นมาพิจารณาในการรับเข้ากลุ่ม และเมื่อ TPP เริ่มขึ้นแล้ว นั่นจะทำให้ต้นทุนสินค้าจากประเทศไทยมีราคาสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่ในข้อตกลง TPP  อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ญี่ปุ่นยังรอหรือลังเลที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย

ขณะที่จีนแม้ว่าจะเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย แต่ที่ผ่านมาไทยไม่เป็นเป้าหมายการลงทุนจากจีนมากนักเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น นั่นทำให้การชดเชยสัดส่วนที่หายไปของเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่น อาจไม่เพียงพอต่อการปลุกเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับมา และแน่ใจหรือไม่ว่าจีนจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ให้กับไทยแทนที่ญี่ปุ่นได้ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศนี้แตกต่างกัน

คำถามที่สำคัญว่าการลงทุนจากญี่ปุ่นจะกลับมาเมืองไทยอีกไหม และจะกลับมาเมื่อไหร่ เพราะถ้ามองด้วยตัวเลขของบีโอไปแล้ว นับว่าเป็นเรื่องน่าหนักใจอย่างมาก เพราะนี่อาจเป็นการส่งสัญญาณมากขึ้นว่าญี่ปุ่นจะลดการลงทุนในไทยในระยะยาวและอาจรวมถึงการย้ายฐานการผลิตที่สำคัญ เหลือเพียงแต่การผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ย้ายโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีสูงๆ ไปประเทศอื่น นั่นอาจทำให้ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนอย่างมากต่อนโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและเรื่องการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น

ข้อมูลจาก  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
http://www.boi.go.th/upload/FDI_Inv_31813.pdf
http://www.boi.go.th/upload/rank_inv_FDI_87200.pdf