อจ.ชี้ใช้ม.44ทำสังคมกังขา

Source – มติชน Monday, November 02, 2015
อจ.ชี้ใช้ม.44ทำสังคมกังขา
นายยอดพล เทพสิทธา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงการใช้ ม.44 ในคดีจำนำข้าวว่า ปกติเรื่องระบบนิติรัฐกับการดำเนินคดี ตามหลักจะมีอุทธรณ์และฎีกาเป็นลำดับชั้น มีการตรวจสอบไป ถ้าผู้พิพากษาวินิจฉัยตามหลักกฎหมายแล้วไม่ปรากฏว่าทุจริตหรือคอร์รัปชั่นปกติก็ไม่มีใครทำอะไรได้อยู่แล้วไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายพิเศษมายกเว้นความผิด
“กรณีแบบนี้เป็นกรณีการสอบสวนโดยใช้อำนาจของฝ่ายปกครอง ซึ่งมันมีอำนาจพิเศษ ดังนั้นถ้าภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ฟ้องกลับเพราะเห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะทุกคนได้รับความคุ้มกันตามมาตรา 44 มาก่อน ถ้าถามว่ามันเป็นไปตามกฎหมายตามระบบนิติรัฐหรือไม่นั้น ตอบได้เลยว่าไม่ใช่ เพราะระบบนิติรัฐจะต้องมีระบบของการถ่วงดุลและการควบคุมตรวจสอบ ผู้ที่ตรวจสอบคนอื่นก็มีสิทธิที่จะถูกคนอื่นตรวจสอบเช่นกัน” นายยอดพลกล่าว และว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกใช้มาตรา 44 กับกรณีนี้เข้าใจว่าน่าจะมีเหตุมาจากการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้องอัยการสูงสุดเมื่อครั้งที่แล้ว เลยตัดปัญหาด้วยการคุ้มกันไปเลยว่าไม่ต้องฟ้องแล้ว ใครก็ฟ้องไม่ได้แล้ว ซึ่งจริงๆ ถ้าคณะกรรมการที่ตรวจสอบมั่นใจว่า ทำตาม พยานหลักฐานทั้งหมด และข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้อำนาจพิเศษอะไรเลย ก็เข้าสู่กระบวนการปกติไป แต่การที่มีคำสั่งตามาตรา 44 คุ้มครองคนพวกนี้ มีนัยยะแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีกระบวนการพิเศษจริงๆ ต้องมีอะไรที่ไม่เป็นไปตามระบบ เพราะถ้าเป็นไปตามระบบคงไม่มีใครใช้อำนาจพิเศษเพื่อให้เกิดคำครหา
นายยอดพลกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 เลยสักกรณีเดียว ยิ่งเป็นกรณีของกระบวนการยุติธรรมยิ่งไม่ควรใช้เป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะเอาผิดโดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับนโยบายควรจะใช้กระบวนการปกติที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ที่สุด ไม่ควรใช้กระบวนการของหัวหน้าฝ่ายบริหารมาแทรกแซง เพราะยิ่งทำให้สังคมมีข้อกังขามากขึ้น

ที่มา หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับที่ 13749