“ไข้เลือดออก” ภัยที่มองไม่เห็น แต่ป้องกันได้
ช่วงนี้มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างหนัก ในปีนี้ (2558) มีผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศแล้วแสนกว่าราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 102 ราย ซึ่งนับเป็นโรคติดต่อที่คุกคามสุขภาพของคนไทยมาโดยตลอด การระบาดในปีนี้นับว่ารุนแรงเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนเร็วกว่าทุกปี ทำให้ตัวลูกน้ำยุงลายใช้เวลาที่น้อยลงจาก 7 วันเป็น 5 วันทำให้จำนวนยุงเพิ่มเร็วขึ้น
สาเหตุของโรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Denguevirus) พบใน “ยุงลาย” (Aedes aegypti) เชื้อไวรัสเดงกี่จะอาศัยอยู่บริเวณผนังกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง ดังนั้น เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ที่ต่อมน้ำลายไปกัดคน เท่ากับว่าคนคนนั้นรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปเต็ม ๆ และจะมีอาการไข้ประมาณ 2-7วัน ซึ่งในช่วงนี้หากยุงกัดผู้ป่วย ก็จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นต่อไป โดยเชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ โดยทั่วไปหากผู้ป่วยได้รับเชื้อสายพันธุ์ใด ก็จะมีเพียงภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้น ๆ ซึ่งอาจมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกได้อีกจากเชื้อไวรัสเดงกี่สายพันธุ์อื่น ๆ
เมื่อได้รับเชื้อจากยุงลายที่มากัด จะมีไข้ขึ้นสูง 2-7วัน (อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส) เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง ในรายที่มีเกล็ดเลือดต่ำ อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง เนื่องจากมีเลือดออกที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคไข้เลือดออก อาจมีอาการปวดท้อง เนื่องจากมีตับโตในช่องท้อง ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มากและหายได้เอง แต่มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีอาการรุนแรง เลือดออกมาก โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร หรือมีสารน้ำรั่วออกจากหลอดเลือดมากจนความดันต่ำ ช็อกและหมดสติ แพทย์จึงต้องคำนึงถึงโรคไข้เลือดออกก่อนเสมอ กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไข้แบบเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว รวมทั้งต้องซักประวัติและสอบถามถึงที่พักอาศัย
ในการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการก่อน อาทิ คลื่นไส้อาเจียนมาก กินน้ำและอาหารได้น้อย ปากแห้ง ก็จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และหากอาเจียนมีเลือดปน หรือถ่ายเป็นสีดำ จะต้องให้เลือดทดแทน หลังจากมีไข้ หากมีมือเท้าเย็น เนื่องจากความดันเลือดต่ำ จะต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในปริมาณที่มากขึ้นอย่างทันท่วงที
ในช่วงที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานยาลดไข้โดยต้องเป็นไปตามแพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามใช้ยาแอสไพรินโดยเด็ดขาดเพราะทำให้เลือดออกง่าย ถ้าหากมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือดื่มน้ำเท่าไหร่ก็ไม่พอ มือเย็นเท้าเย็น ต้องรีบนำส่งแพทย์ทันที
ในการป้องกันไข้เลือดออกนั้น ต้นทางคือการป้องกันยุงลายมาเพาะพันธุ์ในบริเวณโดยรอบที่พักอาศัย โดยยุงลายจะใช้ภาชนะที่มีน้ำขังนิ่งๆ ค่อนข้างสะอาด เช่น ตุ่มน้ำ ถังซีเมนต์ใส่น้ำอาบ น้ำรองขาตู้กับข้าว ยางรถยนต์เก่าๆ กระป๋อง เป็นต้นช่วงเวลาที่ยุงลายชอบออกหากินที่สุด คือ ช่วงเช้าเวลาประมาณ 9.00 – 11.00 น. และช่วงบ่ายประมาณ 14.00 – 16.00 น. ดังนั้นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นวิธีป้องกันยุงลายได้ดีที่สุด เช่น ปิดตุ่มน้ำ เลี้ยงปลาสำหรับกินลูกน้ำยุงลาย เช่น ปลาหางนกยูง น้ำหล่อขาตู้กับข้าวให้ใส่ทรายอเบท ขวดแก้ว ภาชนะที่อาจมีน้ำขังให้คว่ำ หลุมบ่อรอบบ้านที่อาจมีน้ำขัง ให้กลบทำลายเพราะอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
นอกจากนี้การมีต้นไม้ไล่ยุง ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ยุงถอยห่างจากเราได้เช่นกัน ซึ่งต้นไม้ที่นำมาไล่ยุงนั้นจะเป็นต้นไม้ที่มีน้ำมันหอมระเหยในตัวเอง มีกลิ่นแรงและยุงไม่ค่อยชอบนัก มาปลูกไว้ในบริเวณบ้านก็ช่วยในการไล่ยุงได้เช่นกัน โดยต้นไม้ที่นิยมมาทำเป็นต้นไม้ไล่ยุง ได้แก่ ตะไคร้หอม แคทนิป หรือกัญชาแมว โหระพา สะระแหน่ เจอเรเนียม มอสซี่ บัสเตอร์ เป็นต้น
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=780
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1447746791