จับตา! ราคาน้ำมันถูก กระทบภาคการเกษตร

จากราคายางพาราที่เป็นน้ำยางสดราคาเคยขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยราคา 174.44 บาท/ กก.แต่ทว่าหลังจากนั้นราคายางพาราก็เข้าสู่ภาวะการลดลงต่อเนื่องจนตอนนี้ราคาของยางพาราโดยเฉพาะในส่วนของน้ำยางราคาลดลงมาอยู่ที่ 37.5 บาท/กก. (ราคา ณ วันที่ 19 ม.ค.59 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา) ผ่านไปเพียง 5 ปีราคาที่ลดลงไปเกือบ 80% จากราคาสูงสุด นั่นหมายถึงรายได้ที่ชาวสวนยางได้ในปี 58 รายได้ลดลงไปทันทีเกือบ 80%  แล้วปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ยางพาราราคาตกต่ำได้ถึงเพียงนี้

เริ่มที่ภาพใหญ่นั่นคือเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว นับตั้งแต่วิกฤติการเงินครั้งใหญ่ของโลกตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยระยะยาว การฟื้นตัวในฝั่งของการลงทุนและบริโภคจากประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป มีสัญญาณการฟื้นตัวช้ามาก จนต่อมาได้ขยายกลายเป็นตัวจุดชนวนวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับประเทศเกิดใหม่รวมถึงประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สำคัญ  ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลกจึงประสบปัญหาราคาตกต่ำที่เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกันราคายางพารานั้นสัมพันธ์กับราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนกันได้กับยางพารานั้น มีวัตถุดิบต้นทางจากกลุ่มปิโตรเลียมเมื่อราคาน้ำมันลดลงยางสังเคราะห์ที่เป็นคู่แข่งย่อมราคาต่ำลงเช่นกัน และด้วยราคาน้ำมันดิบปัจจุบันนี้ที่ราคา 29.72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (อ้างอิงราคาน้ำมัน WTI ณ วันที่ 19 ม.ค. 59 ) สะท้อนว่าราคายางพารายังอยู่ในระดับต่ำอีกระยะหนึ่งจนกว่าแรงกดดันและปัจจัยเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และภาวะราคาขาลงของน้ำมัน จะกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต

สิ่งที่ต้องจับตาสำหรับปีนี้นั่นคือ “ราคาน้ำมัน” ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่เชื่อมโยงเข้ากับสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ เพราะน้ำมันเป็นสินค้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของโลก ภาคธุรกิจพลังงานมีบทบาททั้งในภาคเศรษฐกิจจริงและในตลาดทุน มีการซื้อขายทั้งในรูปของหุ้นธุรกิจน้ำมัน และ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเป็นส่วนที่กำหนดราคาน้ำมันของโลกว่าจะไปในทิศทางใด

โดยในปี 2558 นับเป็นปีที่ราคากลุ่มพลังงานมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมากโดยเฉพาะ “ราคาน้ำมัน” ซึ่งราคาลดต่ำลงมาตลอด โดยมีปัจจัยจากด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้งและความรุนแรงในตะวันออกกลางจากกรณีกลุ่ม ISIS และการเปลี่ยนนโยบายที่เคยปิดกั้นทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านของชาติตะวันตก จะส่งผลให้อิหร่านกลับมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ปัจจัยถัดมาคือพลังงานแหล่งใหม่ อาทิ Shail Oil ตลอดจนพลังงานทดแทนประเภทต่างๆที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ขนส่ง และการผลิตทางอุตสาหกรรม ส่งผลให้ประเทศนำเข้าน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกคือ สหรัฐอเมริกาลดการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง รวมถึงหลายประเทศเริ่มให้พลังงานทดแทนมีบทบาทมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

จึงทำให้ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกเริ่มใช้กลยุทธ์ทางด้านราคา ด้วยการลดราคาขายน้ำมันให้แก่ประเทศสำคัญในยุโรปและเอเซียเพื่อให้คู่แข่งขันในธุรกิจพลังงานต้องประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต เนื่องจากการขุดเจาะน้ำมันของซาอุดิอาระเบียมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการขุดน้ำมันจาก Shail Oil แม้ว่าน้ำมันได้ถูกลดราคาลงมามากแล้วก็ตาม แต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันทุกประเทศยังคงสถานะการผลิตน้ำมันอย่างต่อเนื่อง จนเวลานี้เกิดภาวะการผลิตน้ำมันล้นเกินจำนวนมหาศาลที่กลายเป็นจุดสำคัญว่าจะมีประเทศไหนกลับมาเป็นผู้ดูดซับภาวะส่วนเกินของปริมาณน้ำมันจำนวนมหาศาลที่ผลิตขึ้นมาทุกวัน ในขณะที่ประเทศผู้บริโภคสำคัญๆต่างประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวทั้ง บราซิล จีน รัสเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในยุโรปเองยังไม่ฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา

ปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งในเวลานี้คือ เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มของการหดตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมา เนื่องจากจีนเป็นเป็นโรงงานของโลกมาประสบปัญหายอดสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญหดตัวรุนแรงส่งผลให้ต้องลดกำลังการผลิตในภาคการผลิตจึงทำให้การบริโภคน้ำมันของจีนลดลงตามมา ประกอบกับภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจจีนได้กลายเป็นระเบิดเวลาที่หลายฝ่ายกังวลถึงภาวะฟองสบู่แตก ที่อาการออกมายังตลาดหุ้นไปแล้ว จนทำให้ความมั่งคั่งของคนจีนหายไปหลายล้านล้านดอลลาร์

ด้วยปัจจัยของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในเรื่องราคาและปริมาณการผลิต การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ดังปัจจัยข้างต้นทำให้ราคาน้ำมันยังอยู่ในแนวโน้มขาลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ทองคำ ทองแดง เงิน ก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนสินค้าเกษตรต่างๆ เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน ข้าว และยางพารา ไปในทิศทางเดียวกัน จึงทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลายประเภทในปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้อยู่ในแนวโน้มการลดลงของราคาอย่างต่อเนื่อง ถ้าปัจจัยจากราคาน้ำมันยังไม่มีเสถียรภาพ

จากการที่กลไกตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ ประกอบด้วยผู้นำเข้า นักเก็งกำไรในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่างๆ รวมไปถึงการคำนวณปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเช่นสภาวะภูมิอากาศที่ผันผวน ทำให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลก แม้ว่าไทยเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้ ด้วยกำลังการผลิตถึงปีละ 4.3 ล้านตันจึงยังไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาแต่อย่างใด

ดังนั้นในปีนี้จึงต้องจับตาสินค้าเกษตรด้วยความเป็นห่วง เพราะราคาน้ำมันที่ตกต่ำยาวนานจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรไม่อาจกลับมามีราคาสูงได้ การที่สินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มต้องเผชิญกับวิกฤติด้านราคาครั้งใหญ่จะทำให้กระทบกับกำลังซื้อของเกษตรกรที่ซ้ำเติมปัญหาด้านหนี้ครัวเรือน จนส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 2559 อาจไม่เป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ จึงย่อมเป็นโจทย์สำคัญมากของรัฐบาลนี้จะรับมือภาวะเช่นนี้อย่างไร เพราะการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรได้ถูกตราประทับในทางลบกล่าวหาว่าเป็นประชานิยมที่ไม่ควรทำไปแล้ว

อ้างอิง
–   ธนาคารแห่งประเทศไทย
–   Bloomberg News
–   การยางแห่งประเทศไทย