ทั่วโลกล้วนอุดหนุนเกษตรกร โดย นิติ นวรัตน์

นายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ พูดถึงการพัฒนาสหกรณ์ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน รับใช้ประธาน กรรมการ ผู้ตรวจสอบ ฝ่ายจัดการ ฯลฯ ของสหกรณ์การเกษตร 8 จังหวัด ภาคกลาง 250 คน ที่โรงแรมสองพันบุรี จ.สุพรรณบุรี พฤหัสบดีวันนี้ 15.00-17.00 น.

ตอนไปพูดให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรฯ ที่เชียงใหม่ เมื่อเดือนมกราคม มีท่านผู้ฟังถามกันมาเยอะว่า ประเทศอื่นมีการอุดหนุนสินค้าเกษตรกันบ้างหรือเปล่า? ขอเรียนว่า “มีครับ” และมีเยอะซะด้วย แม้ว่าจะมี GATT และ WTO มีกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศอะไรมากมาย แต่ประเทศใหญ่ๆละเมิดข้อตกลง โดยที่ไม่มีองค์กรโลกระดับไหนจะจัดการลงโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยครับ

อย่างสภาข้าวสาลีแคนาดาที่เรียกว่า Canadian Wheat Board ก็เคยมีมาตรการอุดหนุนข้าวสาลีและเมล็ดธัญพืชเพื่อตัดราคาคู่แข่ง พอโดนตำหนิ แคนาดาก็แก้ตัวน้ำขุ่นๆว่า ข้าพเจ้าต้องทำ เพื่อตอบโต้การกระทำของประเทศต่างๆที่ใช้มาตรการในลักษณะนี้

รัฐบาลอเมริกันและแคนาดาช่วยเกษตรกรในประเทศของตนเยอะนะครับ แถมยังโม้ว่า มาตรการที่ตนนำมาช่วยเกษตรกรนี่ ไม่เป็นการบิดเบือนราคาทั้งในประเทศและตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น การประกันราคาพืชผล การให้เกษตรกรกู้ยืมเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำ การค้ำประกันเงินกู้ให้เกษตรกรกู้เงินไปซื้อที่ดินและเครื่องมือเกษตรกรรม แม้แต่การใช้มาตรการ tax write–offs ซึ่งหมายถึง การตัดบัญชีด้านภาษี ก็ไม่ทำให้มีการบิดเบือนราคา

เมื่อมาเปรียบเทียบกับมาตรการการจำนำและประกันราคาข้าว ของไทย ขอเรียนว่าวิธีการของเรานั้นจิ๊บจ๊อยมาก

มาตรการของอเมริกา มีทั้งการพยุงราคาสินค้าเกษตร การจำกัดการผลิตไม่ให้มีผลผลิตมาก รัฐบาลอเมริกันสั่งให้เกษตรกรลดการผลิต โดยเอาเงินไปยัดใส่มือเกษตรกรที่เลิกทำการเกษตรอย่างถาวร ถ้าใคร ศึกษาเรื่องรัฐบาลอเมริกันช่วยเกษตรกรก็จะพบว่า รัฐบาลอเมริกันจ่าย ส่วนต่างระหว่างราคาตลาด กับราคาเป้าหมาย ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรจะคุ้มทุนให้แก่เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง

ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศตัวดีที่อุดหนุนเกษตรกรของตนมากเช่นกัน รัฐบาลญี่ปุ่นใช้ price stabilization หรือมาตรการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ใช้การควบคุมผลผลิตด้วยการผูกขาดโดยรัฐหรือองค์กรกึ่งรัฐ สมัยก่อนยิ่งแย่กว่าสมัยนี้เยอะ ท่านเชื่อไหมครับว่า เมื่อไม่นานมานี้ ราคาข้าวสาลีในญี่ปุ่นสูงกว่าราคาในตลาดโลกถึง 8 เท่า สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นราคาสูงหมด ข้าว เนื้อวัว อะไรพวกนี้ ญี่ปุ่นช่วยเกษตรกรตัวเองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

สงครามอุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกรและอุดหนุนการส่งออกนั้น เล่นกันแรงมากระหว่างประชาคมยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา สหภาพยุโรปเคยมีนโยบาย price and sales guarantees ซึ่งเป็นการประกันราคา และการประกันการขาย ประเทศใหญ่ๆในสหภาพยุโรปเคยทำหมดแล้วครับ ไม่ว่าจะอุดหนุนเกษตรกร จนเกษตรกรมีรายได้มั่นคง ราคาตลาดจะเป็นยังไง เกษตรกรไม่ต้องตกใจ รัฐบาลกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับการซื้อขายภายในประชาคมยุโรปไว้ให้เรียบร้อย

ยุโรปต่างกับอเมริกาตรงที่ยุโรปไม่จำกัดการผลิตภายในประเทศ เกษตรกรที่แม้ไม่เก่ง ก็ยังผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีกำไร ถ้าสินค้าเกษตรมีมากจนล้นตลาด ยุโรปก็ช่วยด้วยการรับซื้อผลผลิตในราคาสูง เรื่องผู้ส่งออกก็เหมือนกัน ครั้งหนึ่ง ยุโรปคืนเงินให้แก่ผู้ส่งออกสินค้า เกษตรเพื่อสนับสนุนให้มีการส่งออกผลผลิตการเกษตรไปในตลาดโลก โดยมีการจ่ายชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาในยุโรปกับราคาในตลาดโลกให้แก่ผู้ส่งออก

รัฐบาลของแต่ละประเทศให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเต็มที่ เพราะเกษตรกรเป็นผู้สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในความมั่นคงของประเทศ แม้ว่าพรรคการเมืองจะโจมตีพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่ก็จะไม่โจมตีนโยบายที่ช่วยเกษตรกร

ในสหรัฐอเมริกา มีการต่อสู้กันรุนแรง ระหว่างริพับลิกัน ซึ่งเป็น พรรคที่หนุนคนรวย ดูแลพวกเล่นหุ้น พ่อค้าเงินตรา และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กับพรรคเด็มโมแครต ที่หนุนคนยากคนจน แต่พรรคริพับลิกันก็ไม่เคยตีการอุดหนุนเกษตรกรของเด็มโมแครต

ส่วนหนึ่งขององค์กรที่เชิญพ่อของผมไปสาธยายให้ความรู้ ในปัจจุบัน เป็นองค์กรที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ขูดรีดจากคนอาชีพอื่น โดยเฉพาะจากพวกนายทุนชาติและนายทุนขุนนางมาอย่างยาวนาน ได้ฟังปัญหาของท่านเหล่านี้ ทำให้ผมมั่นใจว่า อีกไม่นาน กาที่มีน้ำกำลังเดือดโดยไม่มีรูระบาย กำลังจะระเบิด.

คุณนิติ นวรัตน์
[email protected]
www.nitipoom.media
www.facebook.com/nitipoom.thailand

ที่มา : www.thairath.co.th