ทำความรู้จักพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีน

ประเทศไทยเป็นประเทศปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะความสวยงามของธรรมชาติ อัธยาศัยและการต้อนรับนักท่องเที่ยวของคนไทยได้สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก การท่องเที่ยวจึงเป็นรายได้สำคัญของเศรษฐกิจไทย ตลอดหลายทศวรรษที่การท่องเที่ยวของไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทำรายได้เข้าประเทศนับล้านล้านบาทการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้สร้างรายได้และการกระตุ้นเศรษฐกิจลงไปถึงระดับรากหญ้า ในทุกรัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวไทยมาโดยตลอด

กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างมากในตลาดท่องเที่ยวของไทยคือกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2588 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 4,006,584 คน (ระหว่างมกราคม – ธันวาคม2558)  ซึ่งลดลงจากปี 2557  ที่ประมาณ 13.58% จากเดิม 4.6 ล้านคน ขณะที่อันดับ 2  คือ มาเลเซียในปี 2558 อยู่ที่ 1.6 ล้านคน ลดลงจากปี 2557 มากถึง 35.91% หรือจาก 2.6 ล้านคน ขณะที่อันดับ 3 เป็นชาวญี่ปุ่นในปี 2588 อยู่ที่ 6.75 แสนคน จากเดิมในปี 2557อยู่ที่ 1.2 ล้านคน ลดลงมากถึง  46.7%

หลังจากที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ออกเดินทางไปต่างประเทศขึ้นแตะ 100 ล้านคนในปี 2014 นั้นโดยมีอัตราการโตปีละ 20% ซึ่งจะพุ่งขึ้นไปที่ประมาณ 174 ล้านคนภายในปี 2019 โดยมีเป้าหมายปลายทางอยู่ประเทศใกล้เคียงโดยเป้าหมายสำคัญในการเดินทางได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า รวมกันราว 70% และที่เหลือจะเดินทางไปที่ เกาหลีใต้ ไทย ญี่ปุ่น และเวียดนาม  

ล่าสุดสถาบันการวิจัยท่องเที่ยวต่างประเทศของจีน (COTRI – China Outbound Tourism Research Institue) ได้ออกรายงานพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ภายในรายงานได้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนว่ามีการใช้จ่ายเงินของตนเองไปในเรื่องใดบ้าง ช่องทางใดบ้าง ตลอดจนเป้าหมายของการเดินทางและด้วยนักท่องเที่ยวจีนปีละ 100 ล้านคนมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในรายงานดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า เป้าหมายของการเดินทางของคนจีนนั้นเป็นไปเพื่อการพักผ่อนเป็นหลัก74.7% รองลงมาคือเพื่อการช็อปปิ้ง 43.9% ขณะที่การเดินทางมีเป้าหมายเพื่อมาเยี่ยมญาติ เพื่อนฝูงอยู่ที่ 6.8% เจรจาธุรกิจ 6.2% ตามลำดับ  โดยจะทำการท่องเที่ยวราว 6-8 วัน ราว 43.6% รองลงมาคือ 3-5 วัน 37% มากกว่า 8 วัน 18% และ 1-2 วันเพียง 1% เท่านั้น

ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยในการเดินทางมาท่องเที่ยวของคนจีน เน้นหนักไปที่การช็อปปิ้ง 57.8% ส่วนที่พัก 17.8%  ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าพาหนะ 10.9%  ค่าอาหาร 5.8% โดยเงินที่นำมาช็อปปิ้งนั้น คนจีนจะเน้นหนักไปที่ร้านค้าปลอดภาษี หรือ Duty Free  82% รองลงมาคือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่  70% ร้านค้าแบรนด์ชั้นนำ  51% และร้านจำพวก Outlet 38% จะพบว่าการช็อปปิ้งของคนจีนส่วนใหญ่มีการจับจ่ายลงไปที่ร้านค้าตามท้องถิ่นยังน้อยมาก ซึ่งภาครัฐสามารถนำตัวเลขนี้ไปปรับปรุงการท่องเที่ยวและการจับจ่ายของคนจีนให้ลงไปที่ท้องถิ่นมากขึ้น

ขณะที่การเดินทางของนักท่องเที่ยวจะชอบเดินทางพร้อมกับครอบครัวที่มีเด็กหรือลูกไปด้วย 54% เดินทางกับสมาชิกในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง 46% เดินทางพร้อมเพื่อน 45% เดินทางคู่รัก (ไม่มีลูกหรือเด็ก) 26%  และเดินทางท่องเที่ยวเพียงคนเดียว 16% จะพบว่าคนจีนเดินทางกับคนในครอบครัวสูงมาก และอีกเกือบครึ่งของนักท่องเที่ยวจีนคือกลุ่มที่มากับเพื่อน สะท้อนว่าการเดินทางของคนจีน คู่รักหรือสมาชิกในครอบครัวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและการเลือกในการเดินทางไปยังที่ใดเป็นอย่างมาก

ขณะที่พฤติกรรมสมัยใหม่อย่างการแชร์ข้อมูลและพฤติกรรมรู้แล้วต้องบอกต่อผ่านโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ได้กลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดกระแสทำตามกันเป็นอย่างมาก ดังที่กระแสของหนังจีนเรื่อง Lost in Thailand ได้กลายเป็นกระแสและสิ่งดึงดูดให้คนจีนมาเที่ยวไทยมาแล้วด้วยยอดนักท่องเที่ยวจีนในปีนั้นกว่า 3 ล้านคน จากกระแสของหนังทำให้การหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวผ่านออนไลน์การจองตั๋วออนไลน์และที่พักออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

 นอกจากนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีน โดยเฉพาะผู้ที่เกิดหลังปี 2530 เป็นต้นมามีลักษณะการท่องเที่ยวที่แตกต่างกับคนรุ่นก่อนมากขึ้นโดยเน้นท่องเที่ยวด้วยตนเองโดยไม่ผ่านบริษัททัวร์ เพราะการท่องเที่ยวนอกจากจะเป็นการพักผ่อนให้รางวัลกับชีวิตแล้วยังเป็นเรื่องของการผจญภัยอีกด้วยทำให้ทางเลือกของนักท่องเที่ยวจีนเน้นการเดินทางด้วยกลุ่มเล็กหรือการเดินทางด้วยตัวคนเดียวมากขึ้นในอนาคต และด้วยเทคโนโลยีที่สะดวกมากขึ้นทำให้การจองที่พักและตั๋วพาหนะเดินทางต่างๆง่ายดายยิ่งขึ้น ตลอดจนการทำธุรกรรมทางการเงินได้เอื้ออำนวยให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆได้

แต่ทว่าการที่นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอัตราการเติบโตที่เป็นเช่นทุกวันนี้ สิ่งที่เป็นคำถามที่สำคัญคือ ประเทศไทยพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมหาศาลแล้วหรือยัง เพราะระบบสาธารณูปโภคของเราออกแบบมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและคนไทยพร้อมกัน ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งใดเป็นการเฉพาะด้วยตัวเลขจำนวนมหาศาลที่เข้ามาไทยพร้อมๆกันได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเตรียมการรองรับอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้แล้ว พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนจีนได้สร้างปัญหาหลายประการกับธุรกิจและชาวบ้านท้องถิ่นไม่น้อย ทำให้อาจเกิดทัศนคติเชิงลบต่อนักท่องเที่ยวจีน จนอาจสร้างปัญหาบานปลายในระยะยาว ซึ่งการท่องเที่ยวคงจะเป็นการบ้านโจทย์ใหญ่ตั้งแต่ชาวบ้านในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับรัฐบาลในการสร้างความพร้อมของการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี

อ้างอิง
1.   http://skift.com/2015/09/09/7-charts-revealing-the-behavior-of-chinese-travelers/
2.   http://hospitality-on.com/en/news/2015/08/31/more-than-100-million-chinese-tourists/
3.   https://2baht.com/7-charts-chinese-travelers/
4.   ศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
http://intelligencecenter.tat.or.th:8080/apex/f?p=1:27:0::NO:::