รู้จักกับ Universal Periodic Review กลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีการปรับปรุงกลไกใหม่ให้ทันสมัยและเท่าทันการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศที่มีความเสี่ยง หรือประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ดียิ่งขึ้น ในกลไกใหม่นี้เรียกว่ากระบวนการ Universal Periodic Review หรือ UPR ซึ่งนับเป็นเครื่องมือใหม่ที่ใช้บนฐานที่เน้นการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทุกประเทศ

โดยเป้าหมายใหญ่ของ UPR นี้คือเพื่อให้เกิดการปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในทุกประเทศให้เกิดขึ้น พร้อมทั้งการสนับสนุน ขยายการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกระจายไปทั่วโลก รวมถึงการช่วยเหลือทางเทคนิคให้กับรัฐเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการด้านสิทธิมนุษยชนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ อย่างเท่าเทียมและเคารพหลักสิทธิมนุษยชน

UPR นี้ถูกตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Right Council: UNHRC) ทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ถูกทบทวน (State under review) ซึ่งประเทศที่ถูกสหประชาชาติให้ทบทวนนั้นจะต้องส่งรายงานของประเทศนั้น (National Report)  ไปยังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) โดยกลไกนี้จะทำการรวบรวมรายงานจากผู้มีส่วนร่วม (stakeholder report) และรายงานจากเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติที่จะเข้ามารวบรวมข้อมูลประเด็นสิทธิมนุษยชน ดังกรณีของไทย ที่ล่าสุดตัวแทนสหประชาชาติเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อรับทราบข้อมูลและสถานการณ์ล่าสุดของเมืองไทย

รายงานทั้งสามฉบับได้แก่  1) รายงานจากประเทศที่ถูก Review (National Report) จัดทำขึ้นโดยประเทศที่ถูกทบทวนมีความยาว 20 หน้า  2)รายงานข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนจากกลไกประจำอนุสัญญา (treaty bodies) กลไกพิเศษ (special Procedures) และเอกสารสหประชาชาติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย OHCHR เป็นผู้รวบรวม ความยาวไม่เกิน 10 หน้า  และ 3)  รายงานจากผู้มีส่วนร่วมในประเทศนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่ม NGO หรือนักกิจกรรมต่างๆ  (stakeholder report)  โดย OHCHR เป็นผู้รวบรวมและสรุป มีความยาวไม่เกิน 10 หน้า

จากนั้นคณะทำงาน UPR จะจัดทำรายงานโดยมีคณะกรรมการ Troika ซึ่งจะมีทั้งสิ้น 3 ประเทศ ซึ่งจะเป็นผู้จัดทำรายงานตลอดจนตรวจสอบความถูกต้อง หลังจากนั้นจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนรับรองต่อไป  ดังนั้น รายงาน UPR จึงเป็นรายงานที่จะถูกพิจารณาทบทวนจากสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนทั้งคณะในลักษณะ peer review ประเทศที่ถูกทบทวนจะต้องตอบคำถามในประเด็นที่ประเทศสมาชิกอาจมีข้อสงสัยต่างๆ แล้วประเทศที่ถูกทบทวนจะต้องนำข้อเสนอที่ได้รับมา นำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งหากประเทศที่ถูกทบทวนไม่ปฏิบัติตามหรือไม่ให้ความร่วมมือ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติสามารถทำการลงโทษประเทศที่ถูกทบทวนได้

กระบวนการ UPR นี้นับเป็นกระบวนการที่สำคัญในประเด็นสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติเพราะเป็นการประมวลข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั้งจากหน่วยงานรัฐของประเทศที่ถูกทบทวน ในกรณีประเทศไทย หน่วยงานที่รับผิดชอบในการทำรายงานคือ กระทรวงการต่างประเทศและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งทุกขั้นตอนของกลไก UPR นั้นจะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ จึงทำให้กระบวนการ UPR นั้นมีความโปร่งใสเป็นอย่างมาก

สำหรับประเทศไทยเคยถูกให้เป็นประเทศที่ถูกทบทวนมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปี 2554 และปัจจุบันประเทศไทยก็อยู่ในประเทศที่ถูกทบทวนอีกครั้ง ซึ่งอยู่ในช่วงรายงานกลางเทอม ระหว่างปี 2012-2014  ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ในรายงานกลางเทอม ได้แก่ ปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งมีปัญหาในอุตสาหกรรมประมงโดยเฉพาะเรือประมง ฟาร์มกุ้ง และเรื่องแรงงานเด็ก การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ตลอดจนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มเฉพาะเช่นผู้ต้องขังหญิง ความรุนแรงในสตรีและเด็ก ปัญหาแรงงานข้ามชาติ การบริหารงานยุติธรรม  

ทั้งนี้การทบทวนในรอบสองซึ่งไทยจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2016 ขณะที่รายงานประเทศ (National Report) นั้นจะต้องส่งภายในวันที่ 25 มกราคม 2016 ที่ผ่านมา  หลังจากนี้ก็จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนตามกลไกของ UPR  ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อรายงานที่ได้รับการรองรับออกมาแล้ว จะได้เห็นข้อเสนอแนะให้ไทยต้องปฏิบัติตามออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อกลไกสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างแน่นอน

อ้างอิง
กระทรวงการต่างประเทศ
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
สยาม อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต

http://www.ohchr.org/EN/HRBodies/UPR/Pages/UPRMain.aspx
http://www.ohchr.org/EN/HRBodies/UPR/Pages/BasicFacts.aspx
http://www.mfa.go.th/humanrights/
http://www.siamintelligence.com/universal-periodic-review/