มาตรการช่วยเหลือ SMEs จะรอดหรือจะร่วง ??

ไม่ว่ารัฐบาล คสช.ทุ่มมาตรการช่วยเหลือ SMEs อย่างไม่อั้นมาตั้งแต่หม่อมอุ๋ยมาจนถึงยุคนายสมคิด พบว่าใช้เงินไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาทเพื่อช่วยเหลือ SMEs  แต่ทว่าสถานการณ์ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ยังมีอัตราการเพิ่มของการเลิกกิจการอย่างต่อเนื่องล่าสุดเดือนธันวาคม 2558 การยกเลิกกิจการมีจำนวน 5,805 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.9% 

โดยมาตรการของรัฐบาล คสช.สามารถจำแนกออกเป็น 2 มาตรการหลัก คือ มาตรการสินเชื่อ และมาตรการภาษี  ทั้งสองมาตรการมุ่งเน้นให้ธุรกิจมีต้นทุนการเงินลดลงและมีสภาพคล่องมากขึ้น เริ่มจากมาตรการภาษีที่รัฐบาล คสช.หมายมั่นปั้นมือในการดึงเอา SMEs ที่ยังอยู่นอกระบบภาษีให้เข้ามาในระบบมากขึ้น ผ่านการจูงใจด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ธุรกิจมีกำไรตั้งแต่ 3 ล้านขึ้นไปเสียภาษี 10% เป็นเวลา 2 ปีบัญชี ซึ่งการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นริเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่นำร่องลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาจากแต่เดิมที่ 30% มาเป็น 23% แล้วมาเป็น 20%  แม้ว่าการจูงใจทางภาษีดูน่าสนใจแต่ในทางปฏิบัติยังเป็นข้อสงสัยอยู่ว่าจะสามารถดึง SMEs เข้าระบบภาษีได้มากน้อยเพียงใด 

ขณะที่มาตรการสินเชื่อ ได้แก่ ธนาคารออมสินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1 แสนล้านบาท และ ธนาคารพาณิชย์ให้คิดดอกเบี้ยสินเชื่อที่ 4% รวมทั้งมาตรการส่งเสริมธุรกิจ Start-upวงเงิน 6 พันล้านผ่านแบงค์รัฐคือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน  และ เอสเอ็มอีแบงค์ คงต้องติดตามดูว่าเงินที่อัดฉีดเข้าระบบสามารถสร้างสภาพคล่องให้กับธุรกิจ SMEs ได้นานแค่ไหน เพราะความผันผวนของเศรษฐกิจโลกยังไม่จบตลอดจนเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในช่วงถดถอย ไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว ทำให้ตลาดส่งออกไปจีนล่าสุดเดือนมกราคมหดตัวลงไปที่ -6.13% หรือแม้แต่อาเซียนยังหดตัว -8.79% จากตัวเลขดังกล่าวจะย้อนกลับมาที่ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานและเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออกจำนวนมาก

สองมาตรการของรัฐบาล คสช.ที่มุ่งหวังจะช่วยเหลือในการยกขีดความสามารถ SMEs นั้นอาจเป็นได้เพียงการต่อลมหายใจของ SMEs เสียมากกว่า ทั้งเรื่องเงินหมุนเวียนและการลดต้นทุนทางภาษีเท่านั้น ทว่าเรื่องการลดต้นทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ต้นทุนการหาลูกค้ารายใหม่ ตลอดจนต้นทุนความเชื่อมั่นของนักลงทุน  ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาล คสช.ไม่อาจลดต้นทุนเหล่านี้ได้เลย 

เมื่อมองไปข้างหน้าจะเห็นว่า SMEs ไทยจะต้องเผชิญความรุนแรงในการแข่งขันที่มากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จากธุรกิจขนาดใหญ่มีขนาดใหญ่มากขึ้น มีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้น การค้าระหว่างประเทศกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากกรณีของ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือ Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement:TPP (เป็นความตกลงการค้าเสรีในกรอบพหุภาคีนำโดยสหรัฐอเมริกาโดยมีเป้าหมายการเปิดเสรีการค้าทั้งสินค้าและบริการในระดับมาตรฐานเดียวกันมี 12 ประเทศที่บรรลุข้อตกลงนี้แล้วคิดเป็น  40% ของ GDP โลก) ที่จะส่งผลต่อการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ล้วนแล้วแต่กระทบกับ SMEs ไทยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาล คสช. ยังไม่เคยให้คำตอบหรือข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น 

มาตรการช่วยเหลือ SMEs สองมาตรการนั้น จึงเป็นเพียงก้อนน้ำแข็งที่อยู่เหนือน้ำที่ยืดลมหายใจ SMEs เท่านั้น ส่วนการทำให้ SMEs ไทยสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ความได้เปรียบทางการแข่งขัน การเตรียมการให้ SMEs เข้าสู่โลกดิจิตอลดังเช่นประเทศพัฒนาแล้ว กลับไม่มีทิศทางแต่อย่างใด แต่กลับมีมาตรการแปลกๆ อย่างเช่น นโยบาย Single Gateway ที่จะจำกัดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในด้านเทคโนโลยีดิจิตอลและบั่นทอนธุรกิจ Start-Up ให้ไม่สามารถโตได้ แม้จะมีเงินสนับสนุนจากรัฐผ่านธนาคารออมสินก็ตาม

ถ้ารัฐบาล คสช.ไม่มีมาตรการหรือนโยบายที่ชัดเจนต่อธุรกิจ  SMEs ตลอดจนธุรกิจใหม่อย่าง Start-Up แล้ว แม้จะออกมาตรการสนับสนุนทางการเงินมาเท่าไหร่ จะลดภาษีไปเท่าไหร่ สุดท้ายก็เป็นเพียงเงินที่หายไปกับสายน้ำ ไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจและยังไม่สามารถสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ SMEs ไทยได้อย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ ถึงตอนนี้คงไม่ต้องสงสัยว่าอนาคต SMEs ไทยจะรอดหรือร่วงกันแน่ ??