TPP ความตกลงทางเศรษฐกิจที่มาแรงที่สุด
“ ยุทธศาสตร์อีกประการหนึ่ง
คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ที่นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว 12
ประเทศ
มีรายได้ประชาชาติรวมกันมากกว่าร้อยละ 40 ของรายได้ประชาชาติของโลก”
ดร.ทักษิณ ชินวัตร
สถาบันนโยบายโลก (World Policy Institute)
ข้อตกลงการค้าเสรีปัจจุบันมีกรอบการเจรจาหลายกรอบอย่างมาก
โดยความตกลงทางการค้าล่าสุดที่มาแรงและเป็นความตกลงทางการค้าที่จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในปัจจุบันต่อประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไปในอนาคต
นั่นก็คือ “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ Trans – Pacific Partnership (TPP) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา
ที่เวลานี้มีประเทศเข้าร่วมแล้ว 12 ประเทศและกำลังเป็นความตกลงทางการค้าที่มี GDP รวมกันสูงที่สุดในโลก หรือ 40% ของ GDP โลก
อะไรคือ TPP มีความสำคัญอย่างไร
TPP
เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐอเมริกาในการยืนยันว่ายังเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
ที่มีความมั่นคงเป็นอันดับ 1 ของโลก
โดยสหรัฐอเมริกาต้องการให้มีการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มเอเปค
มาตั้งแต่ปี 2541 โดยมีการหารือกันเฉพาะกลุ่มโดยมีออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ชิลี
และสหรัฐฯ แต่ความเห็นที่แตกต่างกันจึงเหลือเพียง 2 ประเทศคือ
นิวซีแลนด์และสิงคโปร์ที่เจรจาในระดับทวิภาคีสำเร็จ
ในเวลาต่อมาชิลีได้เข้าร่วมลงนาม โดยเวลานั้นเรียกความตกลงว่า “Pacific Three Closer Economic Partnership – P3 CEP” ต่อมาเมื่อบรูไนได้เข้าร่วมในปี 2548 จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น TPP
ความสำคัญของ TPP
ถูกขยายความสำคัญมากขึ้นเมื่อสหรัฐฯได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 2552
จนปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมแล้ว 12 ประเทศ ประกอบไปด้วยสหรัฐฯ
ญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไนและเวียดนาม
โดยกรอบความตกลงครอบคลุมประเด็นทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง 5 ประการด้วยกันคือ
1)
ยกเลิกภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีทั้งสินค้าและบริการ
2)
เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและการผลิต
3)
ครอบคลุมประเด็นที่คาบเกี่ยวกัน
ประเด็นที่สอดคล้องร่วมกันด้านกฎระเบียบ การแข่งขัน และการส่งเสริม SMEs
4)
ส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค
Digital Economy รวมถึงสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม (Green Technologies)
5)
ตอบสนองต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางการค้าในอนาคต
รวมทั้งการเปิดรับสมาชิกใหม่
ความตกลง TPP
จะมีขอบเขตอย่างกว้างขวาง
(Comprehensive) ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าทั้งหมด
รวมถึงประเด็นที่คาบเกี่ยวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุน เสริมสร้างการค้าในระดับภูมิภาค
ส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีส่วนร่วมในการค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
และยกระดับมาตรฐานการครองชีพ
ด้วยกลไกการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
ที่มีการวางไว้ในรูปของสถาปัตยกรรมภูมิภาค ที่เน้นการเจรจาในรูปของภูมิภาคอาเซียนแล้วทำการบวกประเทศที่ต้องการเจรจาเข้ามา
ประกอบกับในแต่ละประเทศมีการทำข้อตกลงการค้าในรูปของ FTA
กับประเทศคู่ค้าในแบบทวิภาคีอยู่แล้ว
แต่ยังมีเงื่อนไขบางประการที่การเปิดการค้าเสรียังไม่บังคับสินค้าบางประเภท เช่น
สินค้าเกษตร สิทธิบัตรยาที่หมดอายุแล้ว เป็นต้น
ทำให้ยังมีข้อติดขัดในการเจรจาเข้าร่วม TPP อยู่ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย
แต่อย่างไรก็ตาม
การเข้าร่วมความตกลงทางการค้า TPP
ยังมีความสำคัญกับประเทศและมีความจำเป็นอย่างสูงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต
เพราะประเทศที่ลงนามเข้าร่วม TPP ล้วนแล้วแต่มีบทบาทในการนำเงินเข้ามาลงทุนทั้งทางตรง หรือ FDI
และเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนทางอ้อมในรูปสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสิงคโปร์ โดย 3 ประเทศนี้มีเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงมาก
สัดส่วนคิดเป็น 55.49% ของการลงทุนทั้งหมดจากต่างประเทศ (ตัวเลขปี 2010
จากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)
ขณะเดียวกันประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยในการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนเช่นเวียดนามหลังจากได้ลงนามเข้าร่วม
TPP แล้ว ได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนแห่งใหม่ ซึ่งย่อมส่งผลสำคัญโดยตรงต่อการลงทุนในประเทศไทยอย่างแน่นอน
และจะส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขัน ประสิทธิภาพการผลิต การจ้างงาน
และดุลการค้าของประเทศในระยะยาว
แน่นอนว่าการเข้าร่วมความตกลงการค้า
TPP มีเงื่อนไขที่อาจส่งผลต่อธุรกิจและอุตสาหกรรม
รวมทั้งประเด็นทางสังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย
จึงจำเป็นต้องศึกษาลงลึกในรายละเอียดที่จำเป็นต่อการเจรจา
เพราะความตกลงนั้นขึ้นกับว่าประเทศไทยสามารถเจรจาความตกลงให้สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศได้มากน้อยเพียงใด
แต่เราก็ไม่อาจจะตกขบวนความตกลงเศรษฐกิจTPP นี้ไปได้ เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่งผลเสียหายในระยะยาวต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก.
อ้างอิง : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
SCB Economic Intelligence Center
Siam Intelligence Unit