ประชามติในต่างประเทศ

    “ประชามติ” เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปกครองตามหลักประชาธิปไตยทางตรง  ภายใต้ระบบประชาธิปไตย ประชามติทำหน้าที่เป็นกลไกเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นช่องทางให้ประชาชนธรรมดาได้ร่วมใช้สิทธิแบ่งปันการใช้อำนาจในการตัดสินใจทางการเมือง  เช่น การใช้สิทธิร่วมเสนอกฎหมาย การเข้าชื่อถอดถอนตัวแทนในสภา

   เนื่องจากการทำประชามติเป็นกลไกที่สามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนที่ชัดเจนที่สุดกลไกหนึ่ง จึงถูกนำมาใช้มากขึ้นทั่วโลก ตัวอย่างการทำประชามติที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีหลายกรณี เป็นที่น่าสนใจหยิบมาศึกษาข้อมูลในครั้งนี้ ได้แก่กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด อย่างการลงประชามติ “จัดตั้งมหานครโอซากา” ที่ประเทศญี่ปุ่น

   ในเดือนพฤษภาคม 2558 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดให้มีการลงประชามติการตั้งโอซากาเป็นมหานคร ซึ่งจะทำให้โอซากามีสถานะเทียบเท่ากับกรุงโตเกียว นครนิวยอร์ก หรือกรุงลอนดอนของอังกฤษ ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุน โดยจะแบ่งเป็นเขตการปกครองพิเศษ 5 เขต ซึ่งแต่ละเขตจะมีนายกเทศมนตรีคอยกำกับดูแล และมีสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ในการดูแลด้านบริการสาธารณะทั้งหลาย ส่วนการพัฒนาเมืองและงบประมาณยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของจังหวัดโอซากาเหมือนเดิม

   บรรยากาศก่อนมีการลงประชามติในครั้งนี้มีทั้งผู้ที่สนับสนุน และผู้ที่ไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ในการลงประชามติอย่างคึกคัก กลุ่มที่สนับสนุนสองกลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งโอซากา  กลุ่มธุรกิจหวังว่ามหานครโอซากาจะช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารงบประมาณ รวมทั้งสามารถออกมาตรการจูงใจเพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกิจได้ และฝ่ายสนับสนุนอีกกลุ่มคือ ประชาชนกลุ่มรากหญ้าที่เชื่อตามการรณรงค์ว่า มหานครโอซากาจะลดขั้นตอนระบบราชการและทำให้ชาวบ้านได้รับสวัสดิการที่ดีขี้น

   ด้านกลุ่มที่คัดค้านคือ กลุ่มข้าราชการและชนชั้นกลางเกือบทั้งหมดที่อาศัยในโอซากา ประชาชนกลุ่มนี้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม จึงเห็นว่าการจัดตั้งมหานครโอซากาเป็นความเสี่ยงเกินไป เพราะไม่แน่ใจว่าการบริหารรูปแบบใหม่จะดีหรือแย่กว่าเดิม ผู้ที่คัดค้านยังตั้งคำถามว่า มหานครโอซากาจะมีความหมายอะไร หากรัฐบาลกลางที่กรุงโตเกียวไม่ยอมกระจายอำนาจจากส่วนกลาง


ภาพข่าว : http://www.japantimes.co.jp/news/2015/04/27/national/politics-diplomacy/osaka-merger-referendum-gets-underway

ท้ายสุดแล้วผลการประชามติ
มีประชาชนออกมาใช้สิทธิกว่า 1.4
ล้านคน จากผู้มีสิทธิ 2.1
ล้านคน ผลปรากฎว่าชาวโอซากาลงประชามติ ‘ไม่รับร่าง’ การเปลี่ยนเมืองเป็นมหานครในครั้งนี้
ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นอันต้องระงับไป

และการทำประชามติที่เป็นที่จับตาของโลกอีกครั้ง เมื่อย้อนกลับไปในปี 2014 สกอตแลนด์ได้ทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษ  เนื่องในปี 1707 ได้มีการรวมราชอาณาจักรสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษและไอร์แลนด์ โดยเป็นการเข้ามาอยู่ร่วมกันภายใต้พันธะสัญญาบางอย่างแบบหลวมๆ ไม่ได้เป็นลักษณะรวมพื้นที่เป็นรัฐเดี่ยว แม้จะมีการรวมตัวเข้าด้วยกันแต่กระแสค้านภายในยังมีมาโดยตลอด

   นายดูวิต บรุน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์สกอตแลนด์แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ชาวสกอตแลนด์ต้องการเป็นเอกราช คือ การขยายตัวทางช่องว่างระหว่างนโยบายของรัฐบาลผสมแห่งเวสต์ มินสเตอร์ (นำโดยพรรคอนุรักษ์นิยมของนายเดวิด คาเมรอน) ตั้งแต่ปี 2010 กับสิ่งที่ประชาชนชาวสกอตต้องการ ปัจจุบันชาวสกอตจำนวนมากต่อต้านความพยายามของรัฐบาลเวสต์ มินสเตอร์ที่จะปฏิรูปรัฐสวัสดิการ โดยพวกเขามองว่าเป็นการบ่อนทำลายมากกว่า และรัฐบาลนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวสกอตจากหลายปัจจัย เช่น การที่มี ส.ส.จากพรรคอนุรักษ์นิยมเพียงคนเดียวเป็นตัวแทนในสกอตแลนด์ นับตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรี นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ การแบ่งแยกก็เริ่มขยายตัวขึ้น และความรู้สึกของชาวสกอตก็เริ่มแตกต่างจากชาวอังกฤษมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการที่อังกฤษปฏิเสธโบสถ์ เพรสไบเทอเรียน ซึ่งแสดงถึงรัฐบาลปกครองตนเองและอัตลักษณ์ของชาวสกอต

ท้ายที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2011 พรรคชาติสกอตแลนด์ ฝ่ายชาตินิยมซึ่งหาเสียงด้วยการสัญญาว่าจะจัดการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษ สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาสกอตแลนด์ได้ ต่อมาในเดือนตุลาคม 2012 รัฐบาลสกอตและสหราชอาณาจักรเห็นชอบร่วมกันว่าจะจัดการลงประชามติ ก่อนจะมีการเห็นชอบเรื่องคำถามสำหรับถามผู้ใช้สิทธิ์เมื่อต้นปี 2013 ทำให้การทำประชามติเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2014

การลงประชามติของสกอตแลนด์ครั้งนี้ เป็นการลงประชามติของคนเชื้อชาติสกอต หากพิจารณาจากผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีอยู่ถึง 4 ล้านคน จะพบว่าหมายถึงผู้ที่จ่ายเงินภาษีให้รัฐบาลสกอตแลนด์ คือผู้ที่มีบ้าน หรือจ่ายภาษีบ้าน (Council Tax) ให้รัฐบาลท้องถิ่นของสกอตแลนด์

บรรยากาศก่อนที่จะมีการทำประชามติ ได้มีการรณรงค์ชี้ให้เห็นถึงทั้งผลดีและผลเสีย จากฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้าน โดยผู้นำการรณรงค์คนสำคัญของฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช คือนายอเล็กซ์ ซาลมอนด์ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีแห่งสกอตแลนด์  


ภาพบรรยากาศการรณรงค์โหวตให้สกอตแลนด์แยกตัวเป็นเอกราช นำโดยนายอเล็กซ์ ซาลมอนด์

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนไม่ให้เกิดการแยกตัวฯ คือ นายอลิสแตร์ ดาร์ลิง ส.ส.ชาวอังกฤษจากพรรคแรงงาน หัวหน้ากลุ่ม ‘เบทเทอร์ ทูเกเตอร์’ (Better Together: อยู่ร่วมกันดีกว่า)


นายเอ็ด มิลิแบนด์ รณรงค์ให้ชาวสกอตโหวตไม่แยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษ

มติการแยกตัวของสกอตแลนด์ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเป็นอย่างมาก ทั้งทางทหาร และโดยเฉพาะเศรษฐกิจ เหล่านักธุรกิจจำนวนนับร้อยต่างให้ความเป็นห่วงต่อความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผลการลงประชามติในวันที่ 18 กันยายน 2014 จากผู้มีสิทธิลงคะแนน 4.2 ล้านคน ฝ่ายที่ลงมติไม่แยกตัว มีคะแนนเสียงมากกว่าถึง 55.3% เป็นอันว่าสกอตแลนด์ยังคงอยู่กับอังกฤษต่อไป

ตัวอย่างการทำประชามติที่เกิดขึ้นจากทั้งสองประเทศ  เห็นได้ชัดเจนว่าการทำประชามติเป็นกลไกที่สำคัญต่อการแสดงเจตนารมณ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบทางตรง และในการทำประชามติที่เห็นจากตัวอย่าง มีการรณรงค์ให้ข้อมูลทั้งผลดีและผลเสียจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเองอย่างเสรีและมีการยอมรับผลของการทำประชามติอย่างมีอารยะ