ทำความรู้จักกับมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

ในช่วงรอบปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าวในธุรกิจประมงจนถึงขั้นอาจทำให้สหภาพยุโรปสั่งห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศไทย นับว่าเป็นปัญหาใหญ่มากและจะสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน 

จากปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้กลายมาเป็นประเด็นของการค้าในปัจจุบันที่ทุกประเทศจะต้องทำได้ตามมาตรฐานแรงงานและข้อกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานและสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศเป็นการค้าเสรีเกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการอย่างเสรีมากขึ้น และมีการลดการจัดเก็บภาษีลดลง  แต่ประเด็นด้านสุขภาพอนามัย การปกป้องธุรกิจบางประเภทในประเทศต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจภายในสามารถเติบโตจนแข็งแกร่งมากพอจะรับการแข่งขันจากต่างประเทศ รวมทั้งประเด็นสากลอื่นๆ เช่น สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ทำให้มีการใช้มาตรการทางการค้าและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น แบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.มาตรการที่มิใช่ภาษี  (Non-Tariff Meeasure: NTMs) เป็นกฎระเบียบทางด้านการค้าระหว่างประเทศที่ WTO ให้สามารถใช้อย่างเป็นธรรม เท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเพื่อการคุ้มครองชีวิต สุขภาพมนุษย์ พืช และสัตว์  มาตรการที่มิใช่ภาษีได้แก่

-มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช

-มาตรการอุปสรรคทางการค้าด้านเทคนิค

-มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด

-มาตรการตอบโต้การอุดหนุน

2.อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs)  เป็นข้อบังคับที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นอุปสรรคต่อประเทศคู่ค้าในลักษณะการกีดกันการนำเข้า ซึ่งจะมีลักษณะการบังคับใช้ที่เข้มงวดหลายครั้งถูกมองว่ามาตรการที่บังคับนั้นไม่เป็นธรรม อุปสรรคที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบในการส่งออกสินค้าอย่างมาก มาตรการที่นำมาใช้ได้แก่

-โควตาภาษี

-สวัสดิภาพสัตว์

-มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการค้า

-การปิดฉลากสินค้าตกแต่งสารพันธุกรรม

-มาตรฐานแรงงาน

-การใช้มาตรการฝ่ายเดียวและอ้างว่าประเทศคู่ค้าไม่ปฏิบัติตามความตกลงของ WTO 

อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา

-ข้อบังคับเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบสินค้าและพิธีการศุลกากร

-เงื่อนไขการลงทุนและนโยบายการแข่งขัน

ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าไทยหลายรายการได้รับผลกระทบจากมาตรการและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยกลุ่มใหญ่ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหารส่งออก เช่น ไก่ต้มสุก กุ้งแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง เนื้อไก่แช่แข็ง เป็นต้น

ในขณะที่ประเด็นการให้ใบแดงของสหภาพยุโรปต่อการทำประมงของไทย เนื่องจากถูกมองว่าการทำประมงของไทยนั้นมีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย โดยสหภาพยุโรปได้หันมาให้ความสนใจในเรื่องการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงผิดกฎหมายโดยบังคับใช้มาตั้งแต่  1 มกราคม 2553  โดยเรียกว่า Illegal  Unreported  and Unregulated  Fishing  หรือ IUU Fishing) 

โดย IUU Fishing  นับเป็นมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีอย่างหนึ่งที่ได้นำมาบังคับใช้ต่อประเทศที่มีการส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรป จะพบว่ามาตรการ IUU Fishing  ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อรัฐบาลไทยตลอดจนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประมง รวมทั้งกลุ่มไต้ก๋งและกลุ่มแรงงานต่างด้าวหลายหมื่นคน 

จะเห็นได้ว่ามาตรการทางการค้าทุกวันนี้มีการบังคับใช้ที่เข้มงวดและรุนแรงมากขึ้น มาตรการ IUU Fishing  อาจเป็นมาตรการแรกที่ถูกนำมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด ส่วนหนึ่งอาจมาจากรัฐบาลทหารที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก จึงถูกบังคับใช้มาตรการอย่างรุนแรง ทว่าส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน  ดังนั้นเมื่อมาตรการนี้ถูกบังคับใช้อย่างเต็มที่จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงได้  จึงนับว่าทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญมากต่อมาตรการทางการค้าและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่จะปรากฏมากขึ้นในอนาคต 

อ้างอิง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
สำนักเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ฐานเศรษฐกิจ