เศรษฐกิจ New Normal ความท้าทายใหม่ที่ต้องเผชิญ

ทุกวันนี้เราจะได้ยินเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าที่ควรเป็นจนชินชา แต่นี่เป็นแนวโน้มที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกเพราะบริบทโลกในเวลานี้อยู่ในภาวะของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำและเติบโตช้าขึ้น อันเกิดขึ้นจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อมิติด้านต่างๆจนเรียกว่าเป็น “New Normal” หรือ บรรทัดฐานใหม่ ซึ่งกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมไทย

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยที่เอื้อประโยชน์ให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจก้าวกระโดดเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานการผลิตจากบริษัทของญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากพลาซ่าแอคคอร์ด จึงย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนจนเกิดการสร้างห่วงโซ่อุปทานด้านการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ จนทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมประเภทนี้ รวมถึงนโยบายอีสเทิร์นซีร์ (Eastern-Seaboard)บอร์ด ที่เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตเคมีและท่าเรือ รวมทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมทั้งหลังยุคสงครามเย็นไทยได้รับอานิสงค์จากค่าเงินและนโยบายส่งเสริมการลงทุนประกอบกับแรงงานของไทยมีราคาถูกและมีประสิทธิภาพจนกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในยุค 30 ปีมาโดยตลอดและกำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

ปรากฎการณ์ New Normal ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นสืบเนื่องจากวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาในปี 2551 ซึ่งเกิดจากวิกฤติหนี้บ้านและผลิตภัณฑ์ทางการเงินของสถาบันการเงินที่ซับซ้อนพังทลายลงมาเป็นขั้นๆ จนนำไปสู่วิกฤติสถาบันการเงินที่ล้มละลายตามมาและกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งรองจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่หรือ Great Depression ในปี 2472(ค.ศ.1929) และได้สร้างวิกฤติถัดๆมาไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป รัสเซีย  วิกฤติหนี้กรีซ วิกฤติตลาดทุนของจีน แม้จนถึงปัจจุบันผลของวิกฤติในครั้งนั้นยังคงสร้างสภาพของเศรษฐกิจโลกที่ไม่อาจกลับมาฟื้นตัวได้เหมือนในอดีต

หลังวิกฤติทางการเงินในสหรัฐได้ส่งผลกระทบต่อระบบการค้าระหว่างประเทศให้ไม่เติบโตอย่างเดิมโดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้แก่
   การค้าระหว่างประเทศ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ผ่านมาได้เป็นผู้บริโภคทรัพยากรและสินค้าจำนวนมากและได้ส่งออกสินค้าราคาถูกไปทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจจีนเข้ามาสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น มีความสำคัญต่อการค้าโลกมากขึ้นและพึ่งพิงกันมากขึ้นทั้งจากที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่และเป็นผู้บริโภครายใหญ่นี่เองที่ทำให้ช่วยผยุงเศรษฐกิจไทยไว้เมื่อคราวเกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐที่ยอดการส่งออกของไทยไปจีนยังดีอยู่ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบในวิกฤติครั้งนั้น แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลเป็นอย่างมากต่อการค้าระหว่างประเทศไปทั่วโลกทำให้การค้าโลกชะลอตัวนั่นส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อาทิ น้ำมัน ทองคำ ทองแดงราคาตกต่ำอย่างมากและสร้างแรงกระเพื่อมต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

   ตลาดการเงินเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากหลังวิกฤติการเงินในสหรัฐที่ธนาคารกลางได้เข้ามาเป็นผู้มีบทบาทต่อตลาดการเงินทั้งจากนโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยจนปัจจุบันหลายประเทศใช้ดอกเบี้ยนโยบายแบบติดลบรวมทั้งการพิมพ์เงินออกมามหาศาลหรือนโยบาย QE (Quantiative Easing) จนทำให้เวลานี้ปริมาณเงินในระบบการเงินโลกมีมากกว่าการนำเงินเหล่านี้ไปใช้เพื่อการลงทุนหรือการค้าแต่กลับไปลงทุนในตลาดทุน ตลาดพันธบัตรและตลาดการเงิน ที่สำคัญนโยบายการพิมพ์เงินนี้เกิดการดำเนินการโดยธนาคารกลางในชาติสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกเช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น จนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อต่ำและในหลายประเทศก้ำกึ่งระหว่างภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด จนเศรษฐกิจชะลอตัว

   ตลาดแรงงาน ด้วยโครงสร้างประชากรของไทยรวมทั้งในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เกิดภาวะที่เรียกว่าสังคมผู้สูงอายุ โดยมีกำลังแรงงานไม่เพียงพอในตลาดแรงงานไม่อาจชดเชยที่ขาดแคลนไป เนื่องจากนโยบายคุมกำเนิดประสบความสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนโดยคนในยุค Baby Boomer เมื่อต่อมากลุ่มแรงงานเหล่านี้เข้าสู่วัยชราทำให้รัฐต้องแบกภาระทั้งด้านสวัสดิการเพิ่มสูงขึ้นเช่น ญี่ปุ่น ประเทศในยุโรปหลายประเทศ เป็นต้นขณะที่แรงงานที่เป็นผู้สร้างรายได้และเป็นผู้เสียภาษีต้องถูกแบกรับภาระนี้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะที่คนในประเทศแก่ก่อนรวย หรือ มีเงินออมไม่เพียงพอในยามเกษียณ และส่งผลอย่างมากต่อการเก็บภาษีของรัฐในระยะยาว

การเปลี่ยนแปลง 3 ด้านนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเกิดขึ้นของ New Normal แต่เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลอย่างมากต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย นอกจากนี้ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ราคาต่ำส่งผลอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศขณะที่ความสามารถทางการแข่งขันโดยเปรียบเทียบ ไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่คงที่และค่อนไปทางลดลงเนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญ นั่นหมายถึงโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมที่เน้นการส่งออก การผลิตโดยใช้แรงงานราคาถูก การท่องเที่ยว การผลิตโดยการลงทุนจากต่างประเทศจะเริ่มถูกลดทอนความสำคัญลงไป

นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องเน้นการขยายตัวจากภายในประเทศมากขึ้น วางสมดุลการค้าในประเทศกับการส่งออกมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน เพราะอนาคตการใช้โปรแกรม AI หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถทดแทนแรงงานจะมากขึ้น เน้นการสร้างอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงด้วยการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

นอกจากนั้นการวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศไม่ว่าจะเป็นระบบรางทั้งรางคู่ ระบบรางรถไฟความเร็วสูง ระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนการพัฒนาพลังงานทดแทน รวมทั้งเรื่องระบบการโทรคมนาคมสื่อสารที่เน้นการถ่ายโนนข้อมูลปริมาณจำนวนมหาศาลหรือ Big Data ให้มากขึ้น และรวมถึงการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ที่มีประสิทธิภาพตลอดจนการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียมกันอาจมีส่วนช่วยสำคัญในการสร้างเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาวได้