ประชาคมอาเซียนกับโอกาสในอนาคตของเศรษฐกิจไทย

กลุ่มประเทศอาเซียนมีความสำคัญกับประเทศไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ
การเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนเรื่องความมั่นคงและปัญหาทางสังคมเช่น ผู้ลี้ภัย
โรคติดต่อ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ทั้งประเทศที่มีชายแดนติดกัน และอยู่ร่วมกันในภูมิภาค
การร่วมกันผ่านกลไกลักษณะต่างๆ
และการมองไปข้างหน้าร่วมกันทั้งภูมิภาคในการรวมตัวกันเพื่อต่อรองกับประเทศมหาอำนาจและรับมือกับภัยคุกคามของศตวรรษที่
21 จึงนับเป็นเรื่องสำคัญของไทย

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้วหรือในปี 2510 ประเทศผู้ก่อตั้ง 5 ประเทศร่วมกันลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯเพื่อก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หรืออาเซียนและได้พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันมาตลอด 50 ปี จนมีความก้าวหน้าตามลำดับ จนสามารถร่วมกันจัดตั้งเป็นประชาคมอาเซียนและเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยเมื่อ
31 ธันวาคม 2016 ที่ผ่านมา

ประเทศในอาเซียนเป็นตลาดขนาดใหญ่และเป็นตลาดที่สำคัญอย่างมากของเศรษฐกิจไทย
โดยมูลค่าการค้ากับตลาดอาเซียนอีก 9 ประเทศอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท (2016) การส่งออกสินค้าของไทยไปยังอาเซียนเติบโตอย่างมาก มูลค่าการส่งออกของไทยไปอาเซียนแต่ละปีเกือบ
2 ล้านล้านบาท (2016) และน่าจะเกิน 2 ล้านล้านบาทภายในอีกไม่นาน ซึ่งไทยยังได้ดุลการค้านี้อีกด้วย
ถือว่าอาเซียนเป็นอนาคตสำหรับประเทศไทยอย่างแท้จริง ถ้ามองจากภาคการส่งออกของไทย

ขนาดเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนมีขนาด 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (2014) เป็นเขตการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกและเป็นอันดับ 3 ของเอเชียด้วยประชากรประมาณ 622 ล้านคน (2014)
ถือว่ามีประชากรเป็นรองเพียงจีนและอินเดีย
โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศภายในด้วยกัน มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น
ซึ่งถ้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเดินหน้าเต็มตัวการค้าระหว่างกันและนอกกลุ่มอาเซียนจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีหลักการสำคัญ 4 ประการคือ 1)
เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน (Single Market
and Production Base)  2) เป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง (Competitive Economic Region) 3) เป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน  (Equitable
Economic Development) 4)
เป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (ASEAN’s Integration Into the Globalized
Economy)

โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 การแข่งขันที่สูงมากขึ้น
การสร้างความสามารถทางการแข่งขันด้วยการรวมกลุ่มกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดประสิทธิภาพและเอื้อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง
การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค จึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น
ผ่านกลไกหลักๆ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายแรงงาน บริการ ทุน ให้เสรีมากขึ้น
เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ละประเทศและในภูมิภาค

กรณีที่เกิดในขณะนี้คือ
การย้ายเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง
ดังเช่นการนำเงินลงทุนจากไทยไปลงทุนในเวียดนามมูลค่ากว่า 7.7
พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเงินไปลงทุนมาตลอด 10
ปีที่ผ่านมาโดยคิดเป็นเงินลงทุนจากต่างประเทศถึง 21.4%
ของเงินลงทุนทั้งหมดจากอาเซียนมูลค่ากว่า 23.3
พันล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นปิโตรเคมี โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจค้าปลีกโดยประเทศเวียดนามเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก
ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 5.1% ของจีดีพี ขณะที่ไทยอยู่ที่ประมาณ
2% ของจีดีพี

ขณะที่ประเทศที่เริ่มต้นการเชื่อมเข้ากับโลกาภิวัตน์อย่างจริงจัง
เช่น เมียนมาร์ ก็มีอัตราการเติบโตประมาณ 7.3% (2016) เป็นอีกประเทศหนึ่งมีการค้าขายกับไทยตามแนวชายแดนปีละหลายหมื่นล้านบาทโดยไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเข้าสู่เมียนมาร์
รองจากจีน และเป็นประเทศที่มีโอกาสเป็นอย่างมากในการลงทุนทั้งอุตสาหกรรม
ภาคการเกษตรและภาคบริการที่ไทยมีความถนัด

ที่ผ่านมาประเทศรอบข้างไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากกว่าอัตราการเติบโตของไทยมาหลายปีสะท้อนว่าก่อนการรวมเป็นประชาคมอาเซียน
เศรษฐกิจอาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและโอกาสทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานและเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
และเมื่อรวมเข้ากับประชาคมอาเซียน การไหลเวียนของทั้งเงินทุน แรงงานมีฝีมือ
ตลอดจนการย้ายเทคโนโลยี ความรู้จะมีมากขึ้น

มีการคาดการณ์กันว่า
ภายในปี 2025 จะมีครัวเรือนที่มีกำลังบริโภคจากเดิม 67
ล้านครัวเรือน ที่มีรายได้มากกว่า 7,500
เหรียญสหรัฐต่อปี ในปี2010 จะเพิ่มเป็น 125
ล้านครัวเรือน ทั้งมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจเมือง การเชื่อมต่อกันทางเศรษฐกิจ
ตลอดจนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นภายหลังวิกฤติการเงินปี 2008 ทำให้หลายประเทศเริ่มพยายามปรับสมดุลเศรษฐกิจภายในตนเอง
และที่สำคัญประเทศอาเซียนได้พยายามทำให้ภูมิภาคนี้เป็น Hub  การค้าเพื่อแข่งขันกับ Hub
การค้าอื่นๆของโลก เช่น อเมริกาเหนือ  อียู
และจีน
/ฮ่องกง

ถ้าดูจำนวนบริษัทระดับโลกโดยวัดที่ขนาดของบริษัทพบว่า
อาเซียนมีบริษัทขนาดใหญ่ในระดับโลกจำนวน 227 บริษัทมีรายได้รวมกัน 1.068 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
เป็นอันดับ 7 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี
อังกฤษและฝรั่งเศสเท่านั้น
ดังนั้นอาเซียนคือโอกาสใหม่ของเศรษฐกิจไทยที่ต้องเชื่อมเข้าด้วยกันให้แนบแน่น
โดยมีมาตรการกลไกที่เอื้ออำนวยให้เกิดการไหลเวียนเงินทุน
แรงงานมีฝีมือจากอาเซียนเข้ามาลงทุนในเมืองไทยให้มากขึ้น
เปิดโอกาสและมุมมองต่อประเทศอาเซียนใหม่
เพราะอาเซียนเป็นอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อ้างอิง

http://www.thai-aec.com/aec-blueprint#ixzz4YFsrJOEs

http://www.mckinsey.com/industries/public-sector/our-insights/understanding-asean-seven-things-you-need-to-know

http://www.asean.org/storage/2015/11/ASEAN_Statistic_Leaflet_2015.pdf

http://www.thai-aec.com/aec-blueprint

http://asia.nikkei.com/Politics-Economy/Economy/Can-Myanmar-sustain-growth-momentum

https://brandinside.asia/world-in-2050-pwc/

http://www.vir.com.vn/thailand-invests-77-billion-in-viet-nam.html