เกษตรอัจฉริยะ : ทางเลือกเกษตรกรยุคไอที
เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm หรือ
Intelligent Farm) เป็นการทำเกษตรสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์
เครื่องจักร ฯลฯ ที่มีความแม่นยำสูงเข้ามาช่วยในการทำงาน
โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด
มีเป้าหมายเพื่อผลผลิตจำนวนมากที่ได้คุณภาพพร้อมเสิร์ฟเป็นอาหาร
หรือใช้ในด้านอื่นๆ เช่น เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตน้ำมัน เป็นต้น
ในสถานการณ์แรงงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ที่แรงงานในภาคการเกษตรลดลง คนมีอายุมากขึ้น แต่ยังอยู่ในภาคเกษตร
คนรุ่นใหม่สนใจการทำเกษตรน้อยลง
แต่มนุษย์ยังจำเป็นในการบริโภคสินค้าเกษตรเพื่อการยังชีพและมีชีวิตต่อไป
ทำให้ภาคเกษตรเริ่มมีการปรับตัวเองโดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยผู้นำได้แก่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย เป็นต้น
แนวคิดการทำเกษตรอัจฉริยะ คือ การเกษตรแม่นยำสูง
(Precision Agriculture หรือ
Precision Farming)
โดยเป็นการทำเกษตรที่เข้ากับสภาพพื้นที่โดยเน้นพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่เกษตรขนาดใหญ่
เน้นประสิทธิภาพในการเพาะปลูก ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จนถึงกระบวนการปลูกที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจวัดทั้งเรื่องของสภาพดิน
ความชื้นในดิน แร่ธาตุในดิน ความเป็นกรดด่าง (หรือที่เรียกกันว่า ดินเค็ม/ดินเปรี้ยว)
สภาพปริมาณแสงธรรมชาติ รวมถึงเรื่องศัตรูพืชต่างๆ
บางประเทศมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมผ่านการปลูกในโรงเรือน
เพื่อป้องกันศัตรูพืชและสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้เข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อไม่นานมานี้บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นบางแห่งได้ลองตั้ง
“โรงงานปลูกผัก” ในหลายประเทศ เช่น บริษัทฟูจิซึ ได้ตั้ง “โรงงานปลูกผัก”
ในฟินแลนด์เนื่องจากประเทศฟินแลนด์ประสบปัญหาไม่สามารถปลูกพืชได้
เนื่องจากในฤดูหนาวมีแสงอาทิตย์น้อย โรงงานนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาให้ปลูกพืชในระบบปิดหรือปลูกในที่ร่ม
โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมแสง อุณหภูมิ น้ำ ให้เป็นไปแบบอัตโนมัติ
และคาดว่าจะให้ผลผลิต 240
ตัน/ปี หรือบริษัทชาร์ปที่มีโรงงานปลูกสตรอเบอร์รี่ในตะวันออกกลาง
มีการฟอกอากาศด้วยเทคโนโลยี “พลาสมาคลัสเตอร์” ทำให้ได้สตรอเบอร์รี่ที่หวานเหมือนปลูกในญี่ปุ่น
การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยแบบนี้ทำให้ไม่มีศัตรูพืช ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง จึงปลอดภัย
ได้ราคาและคุณภาพสูง ปลูกได้ตลอดปี แต่มีข้อเสียที่ต้นทุนสูงกว่าปลูกแบบธรรมชาติ
ความแตกต่างของภูมิประเทศแต่ละที่ทำให้สภาพของดิน
น้ำ ความสมบูรณ์ของแร่ธาตุต่างๆ แสง ศัตรูพืช พืชท้องถิ่น แมลงท้องถิ่น
ที่เป็นปัจจัยจำนวนมากในการสนับสนุนและเป็นอุปสรรคต่อการทำเกษตรให้มีประสิทธิภาพและได้พืชผลตามขนาดที่ต้องการ
จะเห็นได้ว่าฟาร์มอัจฉริยะมีความต้องการและความแตกต่างจากการทำเกษตรแบบปกติเป็นอย่างมาก
โดยมีวัตถุประสงค์อีกข้อหนึ่งคือ การไม่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง
ดังนั้นความแม่นยำในการเสริมปัจจัยต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด จึงเป็นกุญแจสำคัญในการทำเกษตรอัจฉริยะที่ได้ประสิทธิภาพ
องค์ประกอบที่สำคัญในการทำฟาร์มอัจฉริยะจะต้องมี
3
ด้านด้วยกัน จึงจะทำให้ฟาร์มอัจฉริยะมีประสิทธิภาพนั่นคือ
1.
การระบุตำแหน่งพื้นที่เพาะปลูก 2. การแปรวิเคราะห์ข้อมูลที่ตรงกับระยะเวลาของการเพาะปลูกพืช
3.
การบริหารจัดการพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร และต้องเข้ากับการเพาะปลูกพืชในชนิดนั้นๆ
การทำฟาร์มอัจฉริยะเป็นเรื่องของความแม่นยำเพื่อนำไปสู่การเพาะปลูกพืชที่เข้ากับพื้นที่บริเวณนั้น
ผ่านการตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้อง โดยช่วยลดต้นทุนกระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่
สร้างมาตรฐานการผลิต ควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ผลผลิตจึงได้ราคาสูงกว่าฟาร์มทั่วไป
ปัจจุบันความรู้ทางด้านการเกษตรอัฉริยะมีมากขึ้นในอินเทอร์เน็ต
เพราะเป็นแนวโน้มที่สำคัญของการทำการเกษตรในศตวรรษที่ 21
หลายฟาร์มเริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยี Precision Farming เพื่อควบคุมความแม่นยำทั้งการให้น้ำที่ถูกต้องทั้งปริมาณ
ระยะเวลา ผ่านจากสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ของฟาร์มเอง
มีการนำเอาเซนเซอร์มาควบคุมเพื่อวัดอุณหภูมิร่วมกับการปล่อยน้ำเพื่อรักษาอุณหภูมิ
รวมไปถึงการให้ปุ๋ยผ่านการพ่นน้ำ
ในบ้านเราเองก็มีตัวอย่างการทำเกษตรอัจฉริยะที่ประยุกต์เอาเทคโนโลยีมาช่วย
อย่างกรณีของอาจารย์ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ได้คิดค้นแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเพื่อช่วยผู้ที่เลี้ยงปลานิลส่งขาย
ภายในแอพพลิเคชั่นสามารถแสดงสภาพอากาศ คุณภาพ ปริมาตรน้ำ ผลตอบแทน ราคา วัดน้ำหนักและขนาดปลาได้
เพิ่มความสำเร็จในการสร้างรายได้มากขึ้นเพียงปลายนิ้วคลิก
ตัวอย่างคนไทยอีกรายที่มีความสามารถในการเขียนโปรแกรม
ได้ประกอบอุปกรณ์สำหรับแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ ให้มีเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ ค่ากรดต่างๆ
ใช้ Relay (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่เป็นสวิตซ์ตัด-ต่อวงจร)ในการควบคุมปั๊มแรงดันเพื่อพ่นละอองน้ำ
ทำให้สะดวกในการปลูกและไม่เสียเวลาดูแลมากนัก มองอีกแง่หนึ่ง ถือเป็นโอกาสดีสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีการเกษตรที่จะใช้ความถนัดด้านการพัฒนาด้านซอฟแวร์
หรือผลิตเครื่องจักรกลด้านการเกษตรเข้ามาทำตลาดได้
ทุกวันนี้เราสามารถซื้ออุปกรณ์ไฮเทคในการดำรงชีวิตด้านอื่นๆ ได้ง่ายในราคาถูก
แต่ในด้านการเกษตรที่เกี่ยวกับปากท้องคนจำนวนมากกลับหาได้ค่อนข้างยากและมีราคาแพง ส่วนใหญ่คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ
เหล่านั้นก็ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่เริ่มห่างไกลวิถีเกษตรกรรม
จะดีไม่น้อยหากมีการสนับสนุนคนรุ่นเก่าที่มีความรู้ทางการเกษตรดีอยู่แล้ว ให้เข้าถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น
เรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้
คงต้องพึ่งหลายฝ่ายรวมถึงภาครัฐด้วย พอจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคต เราจะเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่แพร่หลายและราคาไม่สูงมากนัก
ที่มา
www.landactionthai.org/land/index.php/content/1155-“เกษตรอัจฉริยะ”…จุดเปลี่ยนอนาคตอาหารโลก.html
cmmakerclub.com/2015/06/micro/arduino-2/การเพาะปลูกแบบ-smart-farm/
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/606451
http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/1074-img.pdf
https://www.facebook.com/smartfarmthailand/?ref=ts&fref=ts
https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_23510
http://www.thairath.co.th/content/448146
https://brandinside.asia/smart-farming-thailand-opportunity/