นานาทัศนะ : เสียงจากแรงงานไทย โดยอดีตสส.เพื่อไทย น.ส.ฐิติมา ฉายแสง จ.ฉะเชิงเทรา

ได้รับฟังปัญหาประชาชนผู้ใช้แรงงานจากบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และบริษัทโครงสร้างเหล็ก มาสะท้อนประเด็นเรื่องแรงงานนอกระบบ ปัญหาสวัสดิการของแรงงานจ้างเหมา (Sub Contract) ตลอดจนสภาพค่าจ้างเทียบกับค่าครองชีพในทุกวันนี้

คนที่ 1 ตัวแทนจากพนักงานบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อายุ 30 ปี

Q: ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ใด บ้านอยู่ไกลจากที่ทำงานหรือไม่?

A: ทำงานที่บริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำมาได้ 1 ปีกว่า ที่ทำงานไกลจากบ้านพอสมควรแต่มีรถรับส่งจากบริษัท ต้องตื่นตีสี่ เพราะรถจะมารับประมาณตีห้าครึ่ง เริ่มงานเจ็ดโมงตรง ถ้าเป็นในระยะเวลาการทำงานปกติจะเลิกบ่ายสามโมงเย็น หลังจากนั้นจะเป็นโอที

Q: ทำโอทีหรือไม่?
A: ทำถึงหนึ่งทุ่ม เป็นอย่างนี้ทุกวัน ตั้งแต่จันทร์ถึงเสาร์ วันอาทิตย์ก็อยู่กับครอบครัว

Q: ถือว่าเป็นการทำงานหนักหรือเปล่า?
A: มองในมุมผมยังหนัก คือเราต้องพยายามทำงานมากกว่าเดิมเพื่อให้เรามีชีวิตปกติ ในความหมายคือ การทำงานมากกว่าเดิมคุณควรมีชีวิตที่ดีขึ้น

Q: กลับถึงบ้านกี่โมง?
A: ราวสองทุ่มกว่าๆ

Q: ใช้ชีวิตแบบนี้มานานหรือยัง?
A: ตั้งแต่อายุ 17 ไม่ได้ทำงานที่นี่ที่เดียวมาตลอด เราก็เปลี่ยนงานหลายสายงาน เราลองทำดูหมดทุกอย่าง

Q: ค่าจ้างหรือสวัสดิการในที่ทำงานตอนนี้เป็นอย่างไร?
A: บริษัทที่อยู่ในตอนนี้ไม่ได้ให้มากไปกว่าใคร แต่สิ่งที่ให้มากกว่าคือเขาดูแลเรา ดูแลครอบครัวเรา ดูแลพ่อแม่ ลูกเรา

Q: เป็นบริษัทไทยหรือต่างชาติ?
A: บริษัทต่างชาติ เขามีประกันนอกเหนือจากประกันสังคม หากเจ็บป่วยก็นอนห้องประกันสังคม แต่ถ้าเป็นที่นี่ หากเจ็บป่วยคุณจะได้นอนห้องพิเศษ คุณจะได้รับการดูแลอย่างดีเพราะเรามีหลักประกันมากกว่า

Q: ถ้าถามถึงเรื่องค่าจ้างถ้าเปรียบเทียบในยุครัฐบาลนี้กับรัฐบาลที่แล้วเป็นอย่างไร?
A: ผมว่าแตกต่างชัดเจน ในยุครัฐบาลที่แล้วค่าจ้างจาก 200 ขึ้นเป็น 300 บาท ก็ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือค่าครองชีพเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อต้นทุนการผลิตสูงค่าครองชีพจะสูงขึ้นตามไปด้วย พอมาในยุครัฐบาลนี้รายได้ก็น่าจะขึ้นอยู่ราวๆ 8 บาท จาก 300 เป็น 308 บาทถ้าผมจำไม่ผิด ซึ่งค่าครองชีพมันกระโดดขึ้นทุกวัน มันแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจน

Q: ปัญหาที่เจอในการทำงานมีอะไรบ้าง?
A: ขณะที่ทำงานอยู่ปัญหาอาจจะยังไม่เยอะ แต่เมื่อไหร่ที่ไม่มีงาน คนที่เคยใช้แรงงานจะเกิดปัญหาทันที มันไม่มีหลักประกันอะไรรองรับพอที่ว่าเราจะอยู่หางานภายในเวลาที่สมควร ถามว่าหลักประกันมีหรือไม่ มันมี เช่น เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีตกงาน แต่ถามว่ามันใช้ประโยชน์ได้ 100% จริงหรือไม่มันยังไม่ 100% แล้วเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นจนมันไล่กันไม่ทัน ระหว่างค่าแรงกับค่าครองชีพมันไล่ตามกันไม่ทัน

Q:มีอะไรอยากสะท้อนให้รัฐบาลได้ฟังบ้าง?
A: ที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลคือด้านสวัสดิการ ด้านชีวิตความเป็นอยู่ เรามีหลักประกันที่เพียงพอแล้วหรือยัง หลักประกันพื้นฐานที่ใช้ได้จริง คำว่ามีแล้วใช้ได้ กับมีไว้เฉยๆ มันแตกต่างกัน ทำไมต่างประเทศเวลาเกษียณเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบายทำไมคนไทยทำไม่ได้ ย้อนกลับมาถามว่าเราเก็บกองทุนประกันสังคมเท่าเขาหรือไม่ ก็ไม่เท่า แล้วเหตุผลอะไรที่เราทำไม่ได้แบบเขา ถ้ารัฐบาลเข้ามาศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังผมว่ามันทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ เมื่อไหร่ที่เราไม่มีความมั่นคงในชีวิต บั้นปลายชีวิตเราแย่แน่ๆ เราทำงานหนักได้แต่เราต้องได้เท่าที่เราหนัก สมมุติว่าเราทำงานมากขึ้นเราควรจะมีชีวิตที่ดีกว่าที่เราไม่ได้ทำอะไรแต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นว่าเราทำงานมากขึ้นๆๆ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้เท่าเดิม

Q: ปัจจุบันยังได้เงินประกันสังคมอยู่ใช่หรือไม่? คิดว่าเพียงพอหรือยัง?
A: ผมว่าน่าจะเข้มข้นกว่านี้เราจะไปคิดฝ่ายเดียวว่าจะให้รัฐมาถมให้ก็ไม่ได้ เราก็ต้องรู้วินัยตัวเองด้วยมันเหมือนการออม เมื่อไหร่ที่เราออมเยอะบั้นปลายชีวิตเราก็จะดีขึ้น

Q: ตอนนี้อยากให้รัฐเข้ามาศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้น?
A: ผมคิดว่าเขาไม่ได้ศึกษาด้วย ผมคิดว่าเขาใช้งานเก่าเพิ่มเติมนิดหน่อยให้มันดูดี ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปแย่แน่นอน เพราะถ้าเกษียณแล้วคุณไม่คิดวางแผนว่าคุณจะไปทำอะไรคุณจะเป็นคนแก่ที่ไร้ประโยชน์ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ประเทศเราก็จะเกิดภาระ ผมคิดว่าเขายังน่าจะทำประโยชน์อะไรให้ได้มากกว่านี้

Q:  มีอะไรอยากฝากถึงรัฐบาลหรือไม่?
A: ส่วนตัวผมแอนตี้กับระบบ sub-contract มาก ผมคิดว่ามันเป็นการเอาเปรียบคนใช้แรงงาน สมมติบริษัทต่างชาติบริษัทหนึ่งมาตั้งกิจการในบ้านเราเอาเครื่องจักรเข้ามา โรงงานกับเครื่องจักรไม่มีปัญหาแน่นอนเพราะมันควบคุมได้ แต่คนควบคุมไม่ได้ เขาก็จะตัดภาระไปเลยว่าจ้างบริษัท sub-contract ดีกว่า เพื่อให้ไปหาคนมาทำงานให้ โดยที่ผมจ่ายให้เท่านี้แต่คุณจะจ่ายเท่าไหร่เรื่องของคุณ ปัญหาคือแรงงานจะไม่ได้รับสวัสดิการเท่าที่ควรจะได้จากบริษัทแม่ ถ้าคุณมีความจริงใจที่จะจ้าง ก็ควรจะจ้างเป็นพนักงานของคุณ ซึ่งค่าจ้างสวัสดิการต่างๆมันแตกต่างอย่างสูง เช่น ค่าแรง บริษัทที่เข้ามาลงทุนที่จะจ้าง sub-contract เขาไม่ได้จ่ายค่าแรงขั้นต่ำ เขาจ่ายค่าแรงสูงมากเพื่อตัดปัญหาที่เขาจะไม่ต้องมารับผิดชอบ อย่างเช่นเกิดกรณีลูกจ้างไม่พอใจประท้วง หรือยื่นข้อเสนอต่างๆ บริษัทพวกนี้จะปัดความรับผิดชอบ คือคุณไม่ใช่พนักงานบริษัทของผม คุณเป็นพนักงานบริษัท sub-contract ที่เข้ามาทำงานให้กับผม เพราะฉะนั้นคุณจะเข้ามาเรียกร้องอะไรกับผมไม่ได้ มันคือจุดอ่อน

Q: แล้วถ้าบริษัทแม่เกิดไม่พอใจจะทำอย่างไร?
A: ทั้งเหตุผลที่ไม่พอใจและประสบปัญหาอย่างเช่นประเทศไทยตอนนั้นประสบปัญหาเศรษฐกิจก็โละบริษัท sub-contract ไปเลย เขาไม่ได้ใช้เขาก็เลิกจ้างพนักงานเขาใช้คำว่าเลิกจ้างบริษัท sub-contract เขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เงินชดเชยก็ยังคงได้อยู่ตามกฎหมายแต่ไม่มีใครอยากได้เงินชดเชย เพราะเงินตรงนี้ถ้าตี 100,000 บาท คุณจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งเดือน หนึ่งครอบครัวทำงานเป็นเสาหลักหนึ่งคน มีพ่อแม่ ภรรยา มีลูกอีกสองคนรวมตัวเองก็เป็นหกคน ผ่อนบ้านผ่อนรถยนต์ ค่ากินค่าอยู่ ทุกอย่างต้องคิดหมด เพราะฉะนั้นบริษัทแม่ควรจะจ้างโดยตรงไปเลย จะได้ไม่ปัดความรับผิดชอบและเขาดูแลเราดีกว่าบริษัท sub-contract

Q: สภาพเศรษฐกิจเมืองไทยตอนนี้มีผลกระทบอะไรกับตนเอง เพื่อน หรือโรงงานอื่นๆ ที่เคยผ่านมาหรือไม่?
A: มีผลกระทบมากถ้าพูดถึงสภาพเศรษฐกิจตัวผมเองบริษัทอาจจะเป็นบริษัทต่างชาติซึ่งมาประกอบธุรกิจส่งออกต่างชาติ 100% มันก็อาจจะไม่มีผลในเรื่องของงานที่จะเข้ามา แต่ถ้าในเพื่อนฝูงที่ทำบริษัทญี่ปุ่น มันส่งผลกระทบอย่างรุนแรง เมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจแย่ ทุกอย่างแย่หมด มันจะเริ่มจะเริ่มไม่มีออร์เดอร์ งานน้อยลง ไม่มีโอที ไม่มีการเข้ากะ เพราะออเดอร์ไม่มีเขาไม่สามารถทำงาน 24 ชั่วโมงได้มันก็จะลดลงมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นทำวันเว้นวัน ทำสองวันหยุดสามวัน

Q: ในช่วงนี้จะได้ยินแบบนี้ ในรัฐบาลที่แล้วได้ยินแบบนี้บ้างหรือไม่?
A: ไม่มีนะ ถ้าเศรษฐกิจดีๆ ช่วงนั้นรู้สึกจะบูมมากในระดับโรงงาน งานเยอะ ตอนนั้นออกจากงานไม่กลัว บริษัทเยอะแยะ จะไปทำงานที่บริษัทไหนก็ได้ เปิดรับสมัครทั่วไปหมด แต่ทุกวันนี้บางคนหนึ่งวันหาบริษัทที่รับสมัครยังไม่ได้เลย เข้าไปที่ไหนก็บอกว่ายังไม่เปิดรับสมัคร

Q: ตอนนี้ที่ฉะเชิงเทรามีโรงงานที่ต้องปิดตัวลงเยอะหรือไม่?
A: โรงงานที่ปิดตัวน่าจะอยู่นอกนิคม ซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็ก ก็จะมีปิดตัวบ้าง แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่บริษัทต่างชาติซึ่งมีทุนสูง เขาก็จะไม่ใช้คำว่าปิดตัวเขาก็จะใช้คำว่า ‘ย้ายฐานการผลิต’ บริษัทใหญ่ๆ อย่างเช่น บริษัทเกาหลี บริษัทโทรศัพท์ เขาก็จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ไปเวียดนาม ไปที่ไหนที่เขาคิดว่ามันคุ้มค่าแก่การลงทุน แล้วก็มั่นคง

มันเกิดไปแล้ว จนเขาไปแล้วมันแย่เขาเลยหันหลังกลับมา เพราะว่าฝีมือแรงงาน แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีฝีมือ เราไม่ได้บอกว่าต่างชาติไม่มีฝีมือแต่เขาอาจจะไม่ได้รับการฝึกฝนซึ่งไม่มีใครเก่งมาก่อน คนไทยที่มีฝีมือได้ก็เพราะได้รับการฝึกฝนจากบริษัทต่างชาติพวกนี้แหละ ถ้าเกิดว่าเขาไปฝึกต่างชาติล่ะ เขาไม่หันมองเราล่ะ เราจะต้องตามหลังเขาหรือไม่ เรายังดีใจอยู่ว่าปัจจุบันเราล้ำหน้าเขา แต่ก็เหมือนหลอกตัวเองว่าล้ำหน้าเขา ผมมองว่าไม่เกิน 20 ปี หรอก เราจะต้องหันกลับมารับความจริง เราจะต้องหันกลับมามองว่าเราช้ากว่าเขาแล้ว

นอกจากเรื่องค่าครองชีพแล้ว เรื่องการรับฟังความคิดเห็นจากคนที่อยู่ ณ จุดจุดนั้นจริงๆ อันนี้สำคัญ การจะแก้ปัญหาอะไรสักอย่างคุณจะต้องเข้ามารับฟัง เข้ามาเรียนรู้ด้วย ถ้าคุณเข้ามาแก้โดยที่ไม่รู้ พูดง่ายๆ เหมือนการผูกเชือก คุณไม่รู้ว่าผูกยังไงคุณจะแก้ถูกหรือไม่ หลักการมันใช้ได้ในบางกรณี
ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปในแต่ละวัน โลกเราเปลี่ยนตลอดเวลา หลักการที่เขียนไว้ ณ เวลานั้นกับเวลานี้มันใช้ไม่ได้ ใช้ได้ก็ไม่เต็มที่ อันดับแรกคือคุณต้องฟังก่อน

Q: มีแรงงานด้านอื่นที่น่าเห็นใจที่รัฐบาลควรจะหันไปดูแลมากขึ้นหรือไม่?
A: ผมว่าแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบ แรงงานพื้นฐานรัฐบาลน่าจะเข้าไปช่วยเหลือมากขึ้น ทำยังไงให้เขาเข้ามาอยู่ในระบบ ให้เขามีพื้นฐานเดียวกับเราให้ได้ ถ้าพื้นฐานเป็นพื้นฐานเดียวกันตรงนี้มันจะไปง่ายขึ้น เมื่อไหร่มันมีความเหลื่อมล้ำ คุณกับผมก็ทำงานเหมือนกัน ได้รับค่าแรงเหมือนกัน แต่ทำไมคุณมีสวัสดิการที่ดี แต่ทำไมผมไม่มี ตรงนี้อยากให้รัฐบาลเข้าไปดูแล พวกเขาน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าเราที่เริ่มคิดแล้วว่าถ้าเกษียณเราจะทำอะไรต่อ เราจะอยุ่เฉยๆไม่ได้ มันจะไม่พอกับที่เราต้องใช้จ่าย เขาอาจจะไม่ใช่แรงงานไทยแต่ผมคิดว่าน่าจะยกระดับให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ มันจะมองเป็นสากลขึ้น อย่างเช่น ทำไมคนไทยถึงอยากจะไปทำงานต่างประเทศ คนที่เขาอยากมาทำงานในไทย เพราะเขาเห็นในส่วนที่ดี มันก็จะเป็นภาพลักษณ์ของประเทศเรา

คนที่ 2 ตัวแทนจากพนักงานบริษัทโครงสร้างเหล็ก  อายุ 36 ปี
Q: คุณทำงานบริษัทแบบใด?
A: เป็นโรงงาน แต่ไม่ใช่คนที่ลงไปทำงานอยู่ในไลน์ผลิต ทำมาประมาณ 7 ปี แต่งงานแล้ว มีลูกหนึ่งคน ครอบครัวอาศัยอยู่ด้วยกัน จะได้หยุดทำงานวันอาทิตย์หนึ่งวัน

Q: เขาจ้างหรือสวัสดิการที่ทำอยู่ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลชุดที่แล้วกับรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร?
A: ค่าจ้างกับสวัสดิการที่บริษัทก็ถือว่าโอเค  ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างรัฐบาลชุดที่แล้วกับรัฐบาลนี้รัฐบาลที่แล้ว จะปรับจาก 200 กว่าบาทมาเป็น 300 บาท แรงงานจะได้มากขึ้น แต่รัฐบาลชุดนี้ที่เพิ่งประกาศปรับไป เขาจะปรับเป็นพื้นที่ไม่ได้ปรับทั่วทั้งประเทศ ที่จังหวัดฉะเชิงเทราได้ประมาณ 308 บาท ยุครัฐบาลที่แล้วบริษัทเรามีการเปิดทำงานเป็นกะ มี 2 กะ รัฐบาลชุดนี้มีออเดอร์งานน้อยลง ก็ยุบเหลือ 1 กะ นอนก็ได้น้อยลง ตอนนี้บริษัทก็จำกัดโอที เคยทำโอทีถึงสี่ทุ่ม ตอนนี้เหลือสองทุ่ม คนหนึ่งห้ามทำเกิน 60 ชั่วโมงต่อเดือน รายได้เราก็ได้น้อยลง


Q: ค่าครองชีพกับค่าจ้างที่ได้เป็นอย่างไรบ้าง?

A: ผมว่าเท่ากันทุกที่ตอนนี้ค่าครองชีพมันสูงขึ้น ต้องประหยัดมากขึ้น

Q: ปัญหาที่ต้องเจอในด้านแรงงานมีอะไรบ้าง?
A: ถ้าเป็นที่บริษัทถ้าเป็นพนักงานประจำจะไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ แต่มันจะมี sub-contract หรือ supplier ที่เขามาเหมาต่อจากบริษัทใหญ่เพื่อหาคนมาทำงานแทน ตรงนั้นจะมีผล

Q: คนทำงานให้ sub-contract แตกต่างจากคนทำงานออฟฟิศอย่างไร?
A: จะแตกต่างจากพนักงานประจำ วันหยุดนักขัตฤกษ์พนักงานประจำอาจจะได้เงิน แต่ sub-contract บางครั้งก็จะไม่ได้

Q: อยากให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไรบ้าง?
A: น่าจะปรับค่าแรงให้เท่ากันทุกพื้นที่และเรื่อง sub-contract ที่เข้ามาในบริษัทใหญ่บางบริษัท  น่าจะจ้างค่าหัวคนหนึ่งน่าจะเกินค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนด เขาจ้าง sub-contract อาจจะได้ 400 บาท แต่ทาง sub-contract ไปหาพนักงานมาให้ค่าแรงขั้นต่ำได้ 308 บาท กินส่วนต่างไป

และเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังจากพนักงานปลดเกษียณ บางบริษัทอาจจะมีให้ บางบริษัทอาจจะไม่มี ถ้าไม่มี พนักงานและอายุ 60 แล้ว คนนั้นก็จะไม่มีหลักประกัน นอกจากประกันสังคมที่มีให้ แต่ก็แล้วแต่ว่าทำประกันสังคมมากี่ปี ถ้ามีตรงนี้ขึ้นมามันก็จะดีกับพี่น้องแรงงานว่ามีหลักประกันแน่นอน ว่าคนอายุ 60 จะมีเงินสำรองเลี้ยงชีพอยู่ อาจจะเป็นทุนเล็กๆน้อยๆ ให้ปลูกบ้านหรือทำกิจการส่วนตัว อยากให้มีทุกบริษัทเพื่อความมั่นคงในชีวิต กองทุนตรงนี้พนักงานก็ต้องเก็บออมอยู่แล้ว แล้วรัฐบาลอาจจะสมทบช่วย หรือเจ้าของบริษัทสมทบช่วย

Q: ที่บริษัทอื่นๆเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบกับของเรา?
A: บางบริษัทก็ปลดพนักงานออกแต่เขาก็จ่ายค่าชดเชย ในรัฐบาลที่แล้วไม่มีขนาดนี้ ตอนนี้ก็มีสองสามบริษัทแล้วที่มาสมัครงานที่บริษัทผม