41 ปี อสม. กับการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย สร้างปชต. ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า อสม. คืออาสาสมัครที่ได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้สามารถทำการักษาพยาบาลได้อย่างง่ายๆ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน
โครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2520 ในระยะแรกเป็นโครงการทดลองใน 20 จังหวัด โดยทดลองในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ตำบล เรียกว่าเป็นการใช้ “การสาธารณสุขมูลฐาน” ซึ่งเป็นวิธีหลักในการพัฒนาสาธารณสุข
สาธารณสุขมูลฐานคืออะไร?
สาธารณสุขมูลฐาน คือการดูแลสุขภาพที่อยู่บนพื้นฐานของการปฎิบัติ โดยใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามหลักการและเป็นที่ยอมรับ ในการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ครอบครัว และชุมชน การจัดการสาธารณสุขมูลฐาน ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนและในทุกขั้นตอนต้องเกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน
การคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จะคัดเลือกโดยวิธีออกเสียงในที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วยกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน กลุ่มผู้สื่อข่าวสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล แต่จะไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากทางราชการ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจว่า อสม. เป็นข้าราชการ
อสม. ซึ่งกำเนิดขึ้นจากแนวทางในการใช้การสาธารณสุขมูลฐาน นับเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสาธารณสุขของพี่น้องประชาชนทั้งในการ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลเบื้องต้น และติดตามปัญหาสุขภาพ
กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีมติให้ วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เนื่องจากวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2522 เป็นวันที่รัฐบาลได้บรรจุให้การสาธารณสุขมูลฐานเป็นนโยบายและโครงการระดับชาติ
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี อาสาสมัครสาธารณสุข ได้มีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพอนามัยดีขึ้น ช่วยให้ประเทศชาติลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็นลง ได้อย่างมหาศาล
ปัจจุบันมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เป็นจำนวนกว่า 700,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งในเขตเมือง และชนบท ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ และส่งเสริมพี่น้องประชาชนในการดูแลสุขภาพ และทำตามสุขบัญญัติ เพื่อสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน
ถือเป็นตัวอย่างในการใช้หลักการประชาธิปไตย และสิทธิชุมชน ในการสร้างการมีส่วนร่วม และสร้างระบบสาธารณะสุขให้กับประเทศไทย