ไวรัสอู่ฮั่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักกว่าซาร์ส

ในที่สุด ผลกระทบ ของโรคระบาดที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “2019-nCoV”  หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” ในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก ก็แซงหน้าโรคซาร์ส (SARS หรือ โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง) ที่เคยแพร่ระบาดเมื่อปี 2546 แล้ว

โดยข้อมูลจากทางการจีนชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่นในขณะนี้ทะลุ 5,000 รายภายในเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ขณะที่เมื่อครั้งโรคซาร์สแพร่ระบาดเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือนถึงจะมีผู้ติดเชื้อ 5,000 คน ซึ่งนักวิเคราะห์ยังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจอาจจะรุนแรงกว่ากรณีของโรคซาร์สอีกหลายเท่า

แพร่กระจายไวกว่า
ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติของจีน (NHC) ชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแพร่ระบาดจะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าโรคซาร์ส แต่พัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันก็ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อในจีนขณะนี้อยู่ที่ระหว่าง 2-3% ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโรคซาร์สเมื่อปี 2545-2546 อยู่ที่ 10%
จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 พบว่า ยอดผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศจีนมีจำนวน 170 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตด้วยโรคซาร์สมีจำนวนเกือบๆ 800 คน

เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ในขณะนี้กับช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในช่วงปลายปี 2545 ถึงกลางปี 2546 จะพบว่า มีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้น่ากังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ประการแรกคือ ด้วยความทันสมัยและการเชื่อมโยงกันอย่างไร้พรม แดนของการขนส่ง และการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ทำให้เชื่อว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสอู่ฮั่นจะมีมากกว่าโรคซาร์ส (ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นกัน) เมื่อครั้งอดีต

เทศกาลกระตุ้นวิกฤติ
รายงานของ สำนักวิจัยโนมูระ ระบุว่า ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้น่าจะรุนแรงกว่าผลกระทบจากโรคซาร์สในปี 2546 “ช่วงไตรมาสแรกถึงไตรมาส 2 ของปี 2546 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน หดตัวลง 2% ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ดังนั้น เราจึงประมาณการว่าจีดีพีของจีนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 นี้ อาจจะลดลงจากระดับ 6% ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2562 ได้มากกว่า 2%

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นผลกระทบที่แรงและเฉียบพลันแต่จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น ไม่ส่งผลกระทบในระยะยาว ทั้งนี้ สถาบันวิจัยโนมูระเชื่อว่า ขนาดของความสูญเสียและระยะเวลาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จะขึ้นอยู่กับการค้นพบถึงต้นเหตุว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เกิดจากอะไรกันแน่ (ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่และเป็นเพียงการสันนิษฐานว่าอาจจะมาจากค้างคาว) นั่นจะทำให้ทั้งการรักษาและการป้องกันการแพร่กระจาย เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้าน นายทอมมี วู นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบัน ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดก็มีความสำคัญ การที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ ไวรัสอู่ฮั่น มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว นั่นก็เพราะเป็นเทศกาลวันหยุดตรุษจีนที่โดยปกติแล้วชาวจีนนับล้านๆ คนจะออกเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้ยากต่อการควบคุม แม้รัฐบาลจีนจะห้ามทัวร์จีนเดินทางออกนอกประเทศในภายหลังและมีการปิดพื้นที่ควบคุมการเข้า-ออกหลายเมืองใหญ่ รวมทั้งอู่ฮั่นที่เป็นเมืองต้นตอการแพร่ระบาดของโรค แต่ก่อนหน้านั้นไม่นาน ก็มีชาวเมืองอู่ฮั่นและชาวจีนจากเมืองอื่นๆ นับล้านคนเดินทาง ออกนอกประเทศไปแล้ว

จีดีพีจีน อาจวูบ2-3%
มาร์ค วิลเลียม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภาคพื้นเอเชียของบริษัทวิจัย แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ฯ ให้ความเห็นว่า ในช่วงที่ผลกระทบจากโรคซาร์สส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อเศรษฐกิจจีนนั้น จีดีพีของจีนในช่วงดังกล่าวหดหายไปถึง 3% หรือหดจากอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 8% เหลือเพียง 5% ในช่วงที่มีการระบาดหนัก ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดในขณะนี้คือการชะลอตัวของกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศจีน ซึ่งหลังจากช่วงวันหยุดตรุษจีนแล้ว ทางการเซี่ยงไฮ้ยังประกาศให้บริษัทเอกชนปิดต่ออีก 1 สัปดาห์

ขณะเดียวกันคำสั่งควบคุมพื้นที่ห้ามการเข้า-ออกก็ยังคงมีใน 20 เมืองใหญ่ บริการรถโดยสารและรถไฟความเร็วสูงเส้นทางไกลๆ หลายสายยังคงระงับให้บริการเป็นการชั่วคราว

“ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ร้านอาหาร-ภัตตาคาร ตลอดจนโรงภาพยนตร์จำนวนมากเลือกที่จะปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว และผู้คนทั่วไปก็หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก”

สถิติตัวเลขที่สนับสนุนในเรื่องนี้คือ ยอดการเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟของคนจีนในวันแรกของเทศกาลตรุษจีนลดลงถึง 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

ขณะที่การเดินทางทางรถยนต์ลดลง 25% ด้วยหลากปัจจัยดังกล่าว ข้างต้น ทำให้เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ จะสูงกว่าเมื่อครั้งการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2546 แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้น คงจะเห็นได้ชัดเจนในไตรมาสแรกของปีนี้

ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,545 วันที่ 2 – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 หน้า 23