“สุชาติ” อดีตขุนคลัง แนะรัฐออกมาตรการ QE เพิ่มเงินบาทในระบบช่วยให้เงินบาทแข็งอ่อนค่า กระตุ้นส่งออก – ศก.ปี63
ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยบทความระบบเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2563 ระบุว่า
1) ในปี 2562 ระบบเศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตต่ำมาก เพียง 2.4% ต่ำกว่า ประเทศในอาเซียน (ASEAN) ซึ่งเติบโต 6.5% ขึ้นไป (เว้น สิงคโปร์) ทั้งนี้ได้นับรวมผลจาก สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐกับจีนแล้ว
2) ส่วนต่าง อัตราเติบโตของ GDP ไทย จาก ASEAN มากถึง 4 percentage point นั้น เนื่องมาจากปัญหาภายในประเทศไทยเอง คือ (ก) ความไม่เชื่อมั่นในผู้บริหารประเทศ และปัญหา 2 มาตรฐานในขบวนการยุติธรรม (ข) รัฐบาลใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจตรงข้ามกับที่ควรจะเป็น นโยบายการคลังจะมีผลน้อยในการฟื้นระบบเศรษฐกิจที่เติบโตช้า รัฐบาลต้องใช้นโยบาย การเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีผลต่อ GDP มากกว่า เข้าช่วยด้วย (รูป 1)
3) การที่รัฐบาล ปล่อยปริมาณเงินบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจน้อยเกินไป เหมือนปล่อยน้ำจากเขื่อนเข้าสู่ไร่นาน้อยเกินไป ทำให้ได้ผลผลิตน้อย และต้นทุนสูง หรือ อาจเปรียบได้กับการมีน้ำน้อยเกินไปในบ่อปลา (ดูรูป ที่ 2 ทฤษฎีบ่อปลา) ทำให้ปลาไม่เติบโต และเมื่อมีปริมาณเงินบาทน้อยเกินไปในระบบเศรษฐกิจ ก็ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเรื่อยๆ เทียบ กับเงินต่างประเทศ จึงทำให้สินค้าส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศลด ลง ทำให้ลดการผลิต ลดการลงทุน รายได้ประชาชน และรายได้รวม (GDP) จึงตกลงมาก
4) รัฐบาลสามารถแก้ไขความเจริญเติบโตต่ำโดยเพิ่มปริมาณเงินบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วยการ
(ก) ใช้เงินบาทอิเล็กทรอนิคส์ ซื้อพันธบัตรรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ ในตลาดรองออกไปอยู่กับแบงค์ชาติ (Quantitative Easing: QE)
(ข) ยุติการออกพันธบัตร แบงค์ชาติ มาขายในตลาดเงิน ที่ออกปีละ 4 ครั้ง ครั้งละ 4-60,000 ล้านบาท เพราะยิ่งทำให้ปริมาณเงินบาทในระบบเศรษฐกิจลดลงไปอีก
(ค) ให้เปลี่ยนนโยบายการเงิน จาก การควบคุมเงินเฟ้อ (Inflation targeting) มา เป็นการดูแลค่าเงินบาทให้แข่งขันได้ (Exchange rate targeting) แบบสิงคโปร์
5) ควรปล่อยให้ประเทศไทย มีระบบประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อย่างแท้จริง และควรฟื้นฟูระบบความยุติธรรมในสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคมโลก ทั้งนี้เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโต มีความมั่งคั่ง และประชาชนอยู่ดีมีสุข
ที่มา สยามรัฐ