“อารยะขัดขืน” มติฝ่ายค้านอันทรงพลัง ต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63
ไม่ว่ามติของ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ว่า จะปฎิบัติหน้าที่ตามปกติ เซ็นชื่อเป็นองค์ประชุม แต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 จะปล่อยให้รัฐบาลรับผิดชอบตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นมาอย่างไรนั้น ก็ต้องยอมรับว่า “มติ” นี้ทรงความหมาย และจะสะท้อนบทบาทในสถานะแห่ง “อารยะขัดขืน” อันทรงพลัง ไม่เพียงแต่ต่อ 1 รัฐบาล หากแต่ยังต่อ 1 ศาลรัฐธรรมนูญ
ความหมายก็คือ ทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นปม กลายเป็นประเด็น ซึ่งไม่เพียงแต่ยากต่อการปฏิบัติตามความเป็นจริง ขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดคำถามไปยังรัฐบาลอันแหลมคมยิ่ง ว่า แท้จริงแล้วทั้งหมดนี้มีมูลรากมาอย่างไร และเป็นความผิดของใคร คำถามนี้จะทรงความหมายยิ่งในการประชุมวันที่ 13 ก.พ.
“ความเป็นจริงก็คือ ความผิดพลาดทั้งหมดมิได้เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายค้าน หากแต่เป็นความผิดพลาดอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในรัฐบาลเอง”
เริ่มจากการเปิดโปงจากพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการเสียบบัตรแทนกันของ 2 ส.ส. พรรคภูมิใจไทย เรื่องนี้ปรากฏหลักฐานอย่างเด่นชัด ไม่อาจโต้แย้งได้ จากนั้น ปรากฏภาพผ่าน “คลิป” ว่ามีการเสียบบัตรแทนกันเกิดขึ้น ไม่ว่าภายในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าภายในพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าภายในพรรคพลังท้องถิ่นไท ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ล้วนเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
ความเป็นจริงนี้ศาลรัฐธรรมนูญรับทราบ ทั้งยังเคยมีคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 ดำรงอย่างเป็นบรรทัดฐาน
ซึ่ง “บรรทัดฐาน” ต่างหากที่เป็นจริยธรรมค้ำคออย่างสำคัญ
มติของ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงดำเนินไปด้วยความสุภาพ นิ่มนวล แต่ก็มีความแข็งแกร่งอยู่ในกระบวนท่า เป็นความแข็งแกร่งใน “หลักการ” ในทาง “กฎหมาย” เป็นความแข็งแกร่งและเป็นการยืนหยัดทวงถามถึง “บรรทัดฐาน” อันกำหนดไว้แล้วในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และทวงถามสำนึกแห่งความรับผิดชอบของรัฐบาล
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจาณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวันที่ 13 ก.พ. จึงทรงความหมาย ทั้งทรงความหมายในเชิงจริยธรรม และทรงความหมายในเชิงการเมือง
ที่มา : มติชน