อดีตขุนคลังชี้รัฐเพิ่มวันหยุดยาวไม่ส่งผลดีกับเศรษฐกิจ
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลอาจประกาศเพิ่มวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากเดิมหยุดวันที่ 13-15 เมษายน เพิ่มวันหยุดอีก 2 วัน คือ วันที่ 16-17 เมษายน จะทำให้สามารถหยุดต่ออีก 2 วัน คือ วันเสาร์ที่ 18 เมษายน และวันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน ทำให้มีวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ถึงวันที่ 19 เมษายน รวม 9 วันนั้น
นายสุชาติ กล่าวว่า หากเป็นจริงจะทำให้ประเทศไม่เจริญเติบโต และทำให้ GDP ลดลง เนื่องจาก
1) การมีวันหยุดพิเศษมากๆ จะทำให้ผลผลิตและรายได้ ที่ควรจะได้ หายไป เพราะประชาชนไม่ได้ทำงาน ซึ่งทำให้ GDP ลดลง รัฐบาลควรส่งเสริมให้คนทำงาน ไม่ควรส่งเสริมให้คนหยุดงาน
2) การไปเที่ยว เป็นการลดทรัพย์สินและรายได้ของฺตนเอง เพราะเป็นการนำเอาเงินออมไปใช้ และไม่ได้ทำงาน ซึ่งหากการไปเที่ยวในประเทศ นับเป็นการสร้างรายได้ให้ผู้ให้บริการในประเทศ แต่การไปเที่ยวต่างประเทศ จะเป็นการลดทั้งทรัพย์สิน (Wealth of Nation) และรายได้ (GDP) ของประเทศ ดังนั้น จึงไม่ควรส่งเสริมให้นำเงินออกไปเที่ยวต่างประเทศ
3) มีกลุ่มคนที่เข้าใจผิด มักเสนอรัฐบาล ให้มีวันหยุดพิเศษมากหยุดติดต่อกัน และหยุดชดเชย เพราะเชื่อว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะมากขึ้น ทำให้ GDP ของชาติเพิ่มขึ้นตามนั้น ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นความจริง หากเราให้ทุกวันเป็นวันหยุด ประเทศจะไม่เจริญเติบโต
4) วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เป็นไปเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หลังจากทำงานหนักติดต่อกันมา 5 วัน สำหรับวันหยุดนักขัตฤกษ์นั้น เพื่อรำลึกถึงวันสำคัญของชาติบ้านเมือง (ความจริง..จึงไม่จำเป็นที่ต้องมีวันหยุดชดเชย) คนไทยควรทำงานเดือนละ 22 วัน ปัจจุบันทำงานเดือนละ 20.4 วัน วันหยุดพิเศษมีถึง 19 วัน ดูจำนวนวันหยุดแล้วค่อนข้างมากสำหรับประเทศยากจนอย่างไทย
5) GDP หรือรายได้ของชาติ วัดจากรายได้ที่ประชาชนไปทำงาน ดังนั้น รายจ่ายของประชาชนจึงไม่ใช่ GDP เห็นมีหลายท่านร่ำเรียนมาเพียงเบื้องต้น จึงน่าจะเข้าใจผิด
6) การใช้จ่าย(Consumption) หรือ การนำเข้าสินค้าและบริการ (Imports) เป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้ หากจ่ายซื้อของในประเทศจะเป็นรายได้ของผู้ขาย แต่ถ้าซื้อของต่างประเทศเป็นรายจ่ายอย่างเดียว ไม่เป็น GDP
7) การส่งเสริมให้คนไทยใช้จ่ายเงินมากขึ้น จะทำให้ทรัพย์สินของประเทศและของประชาชน ลดลง และประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น จึงไม่ใช่วิธีแก้เศรษฐกิจ
8) รัฐบาลต้องส่งเสริมให้คนทำงานมากขึ้น ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เก็บออมเงินไว้ไปลงทุนเอง หรือไปฝากธนาคารเพื่อให้คนอื่นกู้ไปลงทุน จึงเป็นการฟื้นระบบเศรษฐกิจที่ถูกต้อง
9) การฟื้นระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่ให้ประชาชนหยุดทำงานแล้วไปเที่ยว ทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น การฟื้นระบบเศรษฐกิจต้องปรับค่าเงินบาทให้อ่อนลง ให้แข่งขันได้ เพื่อให้ส่งออกได้มากขึ้น ประเทศจึงจะมีรายได้มากขึ้น (เพราะการส่งออกเป็นรายได้ของชาติ) GDP จึงจะเพิ่มขึ้น