คู่มือรับมือ “โควิด-19” จาก 25 ผู้เชี่ยวชาญ องค์การอนามัยโลก

สถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด-19 (COVID-19) กลายเป็นตัวแปรสำคัญทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก หลายบุคคล หลายองค์กรที่มีบทบาทในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ ออกมาชี้ให้เห็นถึงผลร้ายจากวิกฤติครั้งนี้ ในทิศทางเดียวกัน

โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจต่อเนื่องมาหลายปี แล้วต้องมาเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ ยิ่งส่งผลกระทบให้ความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศมีมากยิ่งขึ้น   

ล่าสุด ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาฐกถาเรื่อง “ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไทย 2020” ได้ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้การคาดการณ์ด้านเศรษฐกิจหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องการที่จะอาศัยการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยการขับเคลื่อนนั้นผิดพลาดหมด

จนอาจทำให้ ภาวะเศรษฐกิจปีกลายเผาหลอก ต้นปีนี้เผาจริง และปลายปีจะเก็บกระดูกไปลอยอังคาร

ผลกระทบการระบาดของไวรัส โควิด-19 ไม่เพียงทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศต้องตกที่นั่งลำบาก แต่วิถีชีวิตประจำวันของประชาชนคนไทย ในภาวะที่ภาครัฐยังไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาและควบคุมการระบาดได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาที่เนิ่นนานออกไป ย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนโดยตรงมากขึ้นหลายเท่า

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถคลี่คลายและควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด ข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับ เชื้อไวรัส โควิด-19 รายละเอียด ลักษณะการระบาด ไปจนถึงตัวอย่างการศึกษา เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจของประชาชน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ทุกคนสามารถเตรียมการป้องกันตนเองให้ได้เป็นลำดับแรก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ  

ล่าสุด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เผยแพร่รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้จากการส่งผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ จำนวน 25 คน เข้าไปสืบสวนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในประเทศจีน

โดยมี มาตรการหลักๆ ที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้  

– กรณีส่วนใหญ่ (78-85%) เกิดจากการติดต่อกันในครอบครัวจากละอองเสมหะ (droplet) ไม่ใช่จากการกระจายจากละอองลอย (aerosol) เป็นหลัก

– ช่วงการฟื้นตัวโดยเฉลี่ยราว 3-6 สัปดาห์ สำหรับรายที่อาการหนัก และ 2 สัปดาห์สำหรับรายที่ป่วยไม่มาก

– คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อ มักจะมีอาการในที่สุด แม้ว่าจะช้าเร็วต่างกัน ในกรณีที่ตรวจพบไวรัสแต่ยังไม่มีอาการนั้น หายาก และส่วนใหญ่จะป่วยในอีก 2-3 วันต่อมา

– อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ มีไข้ (88%) ไอแห้งๆ (68%) ไม่มีเรี่ยวแรง (38%) ไอแบบมีเสมหะ (33%) หายใจลำบาก (18%) เจ็บคอ (14%) ปวดหัว (14%) ปวดกล้ามเนื้อ (14%) หนาวสั่น (11%) อาการที่พบน้อยลงมาหน่อยคือ คลื่นไส้และอาเจียน (5%) คัดจมูก (5%) และท้องเสีย (4%)

– อาการที่ไม่ใช่สัญญาณโรคของโควิด-19 คือ น้ำมูกไหล

– อัตราการเสียชีวิตขึ้นเป็นอย่างมากกับ อายุ , สภาพร่างกายก่อนติดเชื้อ , เพศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบสุขภาพที่รับมือโรค

– วิธีการรับมือที่สำคัญแรกสุดที่จะช่วยป้องกันการกระจายของไวรัสได้อย่างชะงัด คือทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักโรคนี้มีจำนวนน้อย และขั้นตอนสำคัญรองลงมาคือ การเพิ่มจำนวนเตียง (รวมทั้งวัสดุและบุคลากร) จนกว่าจะมีเพียงพอสำหรับผู้ป่วยหนัก

– สภาพร่างกายก่อนการติดเชื้อ : อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อที่มีโรคระบบหลอดเลือดหัวใจในจีนคือ 2% ขณะที่สำหรับคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (เบาหวานที่ไม่ควบคุม) อยู่ที่ 9.2% และ 8.4% สำหรับโรคความดันสูง , 8% สำหรับโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และ 7.6% สำหรับโรคมะเร็ง

– คนที่ไม่มีอาการป่วยใดๆ ก่อนติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตที่ 1.4%

– อายุ : ยิ่งอายุน้อย ก็ยิ่งติดเชื้อยาก และแม้จะติดเชื้อ ก็จะป่วยไม่หนักเท่ากับผู้ที่อายุมากกว่า

นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การควบคุมโรคระบาดในจีนได้ผลชัดเจน เนื่องจากไม่มีการปกปิดข้อมูลจากผู้ป่วย เจ้าหน้าที่จะสัมภาษณ์คนติดเชื้อทุกคนทั่วประเทศและติดตามผู้ที่เคยสัมผัส ค้นหาผู้อยู่ในข่ายมาตรวจเชื้อได้ทุกคนโดยพบตัวหมดและตรวจสอบเชื้อได้ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ได้ลงมือลงแรงความพยายามในการควบคุมโรคอย่างทะเยอทะยานที่สุด รวดเร็วที่สุด และเข้มข้นที่สุด โดยไม่ประนีประนอมใดๆ และใช้มาตรการนอกเหนือจากทางเภสัชวิทยา เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่หลายอย่างก็ได้มอบบทเรียนสำคัญให้กับการรับมือระดับโลก.

ที่มา :
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เว็บไซต์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)