ในสถานการณ์วิกฤติ(โควิด-19) ต้องการรัฐบาลที่คิดล่วงหน้า ! เปิดมุมมอง “พิชัย นริพทะพันธุ์” กับ “4 เรื่องเร่งด่วน” ประคองเศรษฐกิจ-ชีวิตประชาชน

สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงน่าวิตก ขณะที่มาตรการการรับมือของภาครัฐ กลับยังไม่สามารถทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนได้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และที่สำคัญคือกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ 

ซึ่งในเรื่องนี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  มองว่า รัฐบาลยังสับสนในการบริหารจัดการประเทศช่วงวิกฤติ ขนาดจะปิดกรุงเทพหรือไม่ปิดกรุงเทพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ โฆษกรัฐบาลยังพูดไม่ตรงกัน และยังต้องแก้กันไปแก้กันมา 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลประกาศปิดสถานบริการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่กลับไม่ได้มีแผนรองรับว่าจะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร  

พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า การส่งออกหน้ากากอนามัย 5.6 ล้านชิ้นไม่มีจริง แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กลับยอมรับเองว่าได้รับอนุญาตส่งออกถูกต้อง 

ทั้งที่ต้องถามว่ายังจะให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัยกันอยู่อีกหรือ ทั้งๆที่ประชาชนขาดแคลนอย่างหนัก ต้องเข้าแถวซื้อหน้ากากกันยาวเหยียดเหมือนอดีตประเทศโซเวียตรัสเซียเข้าคิวซื้อแบ่งปันสินค้าก่อนที่โซเวียตจะล่มสลาย 

หรือแม้กระทั่งเรื่องจัดพิธีสวดมนต์ก็ยังสับสน ถึงแม้จะให้คนอยู่นอกอุโบสถก็ไม่ได้แปลว่าจะห้ามการแพร่กระจายของไวรัสได้ สุดท้ายประชาชนคงอยากสวดมนต์ที่บ้านตามศาสนาที่ตนศรัทธา เพื่อขอให้ได้รัฐบาลใหม่ที่ฉลาดและมีการบริหารจัดการประเทศที่ดีกว่ารัฐบาลปัจจุบัน

นายพิชัย มองว่า ในภาวะวิกฤตินี้รัฐบาลควรคิดให้ครบกรอบในหลายด้าน เพื่อรองรับปัญหาให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งอาจจะต้องอธิบายยาว ดังนั้นจึงขอแนะนำ 4 เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบางควรต้องทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนดังนี้ 

1. ให้รัฐบาล และ กระทรวงการคลัง ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% พร้อมเตรียมวงเงินซอฟท์โลน อัตราดอกเบี้ย 0% จำนวน  500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบให้ประคองตัวให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปให้ได้ ทั้งนี้สหรัฐเองก็ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0% เช่นกัน และประกาศอัดฉีดเงินกว่า 7 แสนล้านเหรียญ การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของไทยลงเหลือ 0% เหมือนของสหรัฐ จะช่วยลดภาระของธุรกิจได้มาก และจะลดภาระของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ อีกทั้งยังทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพื่อช่วยการส่งออก และจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น โดยไม่ต้องห่วงเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงต่ำมากเหลือเพียง 20 กว่าเหรียญสหรัฐต่อบาเรลเท่านั้น จากสงครามราคาน้ำมันของประเทศซาอุดิอาระเบีย และ ประเทศรัสเซีย อีกทั้งการออกซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท แก่ภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบ ที่อัตราดอกเบี้ย 0% เพื่อประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องขอความร่วมมือแกมบังคับจากธนาคารพาณิชย์ให้ลดค่าใช้จ่ายในการลดอัตราดอกเบี้ยให้กับภาคธุรกิจลงเช่นกัน โดยรัฐบาลยอมร่วมออกบางส่วนและธนาคารพาณิชย์ควรต้องเฉือนเนื้อตัดกำไรบ้างเพื่อช่วยสนับสนุนด้วย หลังจากปีที่แล้วที่ธนาคารพาณิชย์กำไรถึง 2.7 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นถึง 30.8%  โดยซอฟท์โลนนี้อาจจะต้องให้ยาวไปถึงหลังวิกฤติผ่านไปแล้วด้วย เพื่อให้หน่วยธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้ การที่จะต้องออกนโยบายการเงินและนโยบายการคลังให้สอดคล้องกันเป็นเรื่องจำเป็นในภาวะเช่นนี้ และรัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาลดภาษีหลายด้านเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในภาวะวิกฤติ ประเทศต้องการมาตรการที่รุนแรงเฉียบพลันและได้ผล ซึ่งจะมาคิดแบบอนุรักษ์นิยมเหมือนในภาวะปกติไม่ได้

2. เชื่อว่าในที่สุดแล้ว ประเทศไทยจะต้องประกาศปิดประเทศจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 เหมือนหลายประเทศที่ประกาศไปก่อนหน้านี้แล้ว และเป็นแนวทางที่ถูกต้องและควรเร่งปิดประเทศ แต่ก่อนที่จะปิดประเทศรัฐบาลควรจะต้องเตรียมการในเรื่องต่างๆ ทุกด้านให้พร้อม โดยเฉพาะการจัดการภาครัฐ ที่จะต้องรีบปรับตัวพัฒนาการเชื่อมต่อออนไลน์เพื่อรองรับการปิดประเทศ ไม่ใช่พอจวนตัวแล้วรีบปิดประเทศโดยไม่ได้สร้างระบบรองรับ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจจะยิ่งส่งผลรุนแรง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเตรียมพร้อมทุกด้านก่อน  ทั้งนี้ ในภาวะวิกฤติก็เป็นโอกาสดีที่ประเทศนี้จะพัฒนาราชการให้เป็นระบบออนไลน์ทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพ ใช้ภาวะวิกฤตินี้เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยทั้งภาคเอกชนและภาครัฐจะสามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันโลก

 

3. สั่งห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งหมดไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะได้รับ BOI หรือ มีลิขสิทธิ์ใดๆ เพื่อให้ประชาชนในประเทศมีหน้ากากอนามัยใช้ให้เพียงพอ ไม่ต้องไปเข้าคิวรอยาวเหยียดและเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัส เหมือนที่ประเทศไต้หวันสั่งห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งหมดตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ในภาวะวิกฤติ นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งการเรื่องนี้ได้ และทุกบริษัทต้องเข้าใจและต้องปฏิบัติตาม จะมาอ้างเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวกันไม่ได้ และเรื่องนี้เป็นความจำเป็นของประชาชน 

4. เร่งการใช้อุปกรณ์ตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบตัวเองได้ ที่ต่างประเทศได้คิดค้น ผลิต และมีจำหน่ายกันแล้ว หรือที่ กลุ่ม ปตท. คิดค้นได้แล้วก็ได้และราคาไม่แพง เพียงชุดละไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น เพื่อลดความกังวลของประชาชนว่าตนเองจะติดเชื้อไวรัสโควิท-19 หรือไม่ และหากพบว่าติดเชื้อไวรัส จะได้รีบพบแพทย์และกักตัวในทันที เพื่อทำการรักษา ซึ่งการพบแต่แรกและเร่งเข้ารับการรักษาจะช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้มาก และรัฐบาลอาจจะใช้อุปกรณ์นี้ในการตรวจประชาชนในกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพราะราคาถูก และไม่ต้องวิ่งไปหาผู้ที่จะป่วย แต่ผู้เสี่ยงที่จะป่วยจะวิ่งมาหาเอง

นายพิชัย ย้ำว่า นี่เป็นเพียง 4 เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรต้องรีบทำเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดล่วงหน้าว่าจะต้องออกนโยบายอะไร เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หมดสมัยแล้วที่จะมีรัฐบาลที่คอยแต่ตั้งรับปัญหา และแก้ปัญหาอย่างล่าช้า หากประเทศไทยจะรอดและพัฒนาต่อไปได้ จะต้องมีผู้นำและรัฐบาลที่คิดล่วงหน้าเพื่อป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดปัญหา 

ซึ่งในวิกฤติไวรัสโควิด-19 ของโลกครั้งนี้ พิสูจน์แล้วว่า “รัฐบาล” ที่ “ทำมากไปและทำเร็วไป” (Too much too soon) จะดีกว่า รัฐบาลที่ “ทำช้าไปและทำน้อยไป” (Too little too late)  เพราะจะสามารถช่วยเหลือชีวิตของประชาชนได้มากกว่า

หมายเหตุ – นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงความเห็นเอาไว้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563