“วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ” : ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี

เราเคยผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและหรือวิกฤตการณ์ทางการเงินเป็นระยะๆ มาหลายครั้งแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจอันเกิดจากโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะผ่านไปได้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอะไรจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลคงจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก บางครั้งมีแต่ทำให้สถานการณ์เลวลงด้วยซ้ำ

ที่เห็นได้ชัดก็คือ การกักตุนหน้ากากอนามัย และการกักตุนไข่ไก่ เพราะการเข้ามาขัดขวางการทำงานของกลไกตลาด การเข้ามาควบคุมราคา ซึ่งบางทีก็ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตหรือราคาส่งออก ทำให้ของหายไปจากท้องตลาด ถ้าปล่อยให้ราคาขึ้นลงอย่างเสรีตามหลักความต้องการซื้อความต้องการขาย หลักดีมานด์ซัพพลาย ปัญหาไข่ขาดตลาดก็จะไม่มี

เมื่อเกิดความตระหนกจากการเสนอข่าวที่น่าตกอกตกใจ จากกรณีความรุนแรงของการระบาดของไวรัสที่อิตาลี สเปน อังกฤษ และสหภาพยุโรป ลามไปถึงรัสเซียและประเทศยุโรปตะวันออก รวมทั้งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังสหรัฐอเมริกา แคนาดาและละตินอเมริกา ซึ่งประเทศต่างๆ ต้องประกาศปิดประเทศ ห้ามการเดินทางของมนุษย์ ห้ามเรือเดินสมุทรและอากาศยานเข้าออกประเทศ ทุกประเทศถูกปล่อยเกาะกลายเป็นโรบินสัน ครูโซ ที่ร้ายไปกว่านั้น ภายในประเทศของหลายประเทศยังปิดการเคลื่อนย้ายขนส่งระหว่างมลรัฐ ระหว่างเมือง ระหว่างเขตต่างๆ เสียอีก

โลกสมัยใหม่นี้มีการแบ่งงานกันทำ แบ่งงานกันผลิต เพื่อจะทำให้ผลผลิตมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด รถยนต์คันหนึ่งอาจจะมีชิ้นส่วนประกอบที่ผลิตจากประเทศต่างๆ มากกว่า 20-30 ประเทศก็ได้ เช่น ตะปูเกลียวชุดหนึ่ง ตะปูเกลียวตัวผู้อาจจะผลิตที่เม็กซิโก ส่วนเกลียวตัวเมียอาจจะผลิตที่ประเทศอินเดียหรือประเทศเวียดนามก็ได้ ไม่มีใครรู้

เมื่อเกิดการปิดประเทศ ห้ามการเดินทาง ห้ามการขนส่งระหว่างประเทศ ห่วงโซ่การผลิตก็จะขาดตอน การขาดแคลนก็คงเกิดขึ้นทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะสินค้าสำเร็จรูปเท่านั้น แต่รวมไปถึงวัตถุดิบชิ้นส่วนต่างๆ ด้วย ดังนั้นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจทางด้านการผลิตก็คงจะเกิดขึ้น

มาตรการการห้ามการชุมนุมกัน การปิดบริษัทห้างร้าน ก็จะทำให้รายได้ของทุกคนลดลง ทั้งผู้ใช้แรงงาน ทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่ขายปลีกขายส่ง ผู้ทำหน้าที่ขนส่งทั้งขนคนและขนของก็คงจะลดลงไปด้วย ไม่ใช่เฉพาะรถไฟ เรือเมล์ เครื่องบินและอื่นๆ อันจะทำให้กิจการต่อเนื่องต่างๆ ได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจก็คงจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่เหมือนวิกฤตการณ์อื่นๆ ที่เคยประสบมาแล้ว

 
วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เราพบ ทั้งที่พบเห็นด้วยตนเองและที่อ่านจากประวัติศาสตร์
ก็ได้แก่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ว่าฝ่ายพันธมิตรจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม แต่ฝ่ายพันธมิตรก็ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและกระจายไปทั่วโลก ที่เรียกว่า World Economic Recession กระทบกระเทือนมาถึงเมืองไทย ที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประสบการขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก แต่เนื่องจากสมัยนั้นระบบการเงินของโลกยังไม่พัฒนา วิชาเศรษฐศาสตร์ยังไม่พัฒนา การแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณคือการตัดงบประมาณรายจ่าย ซึ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง จน ลอร์ด จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลต้องขาดดุลมากขึ้น โดยการลงทุนจ้างงานสร้างถนนหนทางและทางรถไฟ ท่าเรือและอื่นๆ

แม้จะเริ่มมีการใช้เงินกระดาษกันแล้ว แต่การค้าระหว่างประเทศก็ยังต้องพึ่งทุนสำรองที่เป็นทองคำและเงินที่เป็นโลหะ การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินกลางเช่นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องระหว่างประเทศ หรือเงินปอนด์สเตอริงซึ่งขณะนั้นเป็นสกุลเงินที่อยู่ในมาตรฐานการค้าก็ยังไม่มี การใช้โลหะทองคำและเงินเป็นสื่อกลางในการค้าขายระหว่างประเทศ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ

ต่อมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสินค้าขาดแคลนเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การนำเข้าสินค้าหลายอย่างทำไม่ได้ สินค้าหลายอย่างที่รัฐบาลถือว่าเป็นยุทธปัจจัย เช่น ข้าว ยางพารา ดีบุกและไม้สัก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเราก็ถูกห้ามส่งออก เราจึงขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ รัฐบาลจึงจำกัดการนำเข้า คนไทยจึงต้องปลูกฝ้ายไว้ทอผ้าใช้เอง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มขาดแคลน นำเข้าไม่ได้ มะเกลือกับต้นครามขาดแคลนเพราะต้องใช้ย้อมผ้าสีดำและสีคราม หรือสีน้ำเงินเพราะสีย้อมผ้าขาดแคลน ต้องใช้วัตถุดิบในประเทศเช่น ขมิ้นและแก่นไม้ขนุนและอื่นๆ นำมาต้มใช้เป็นสีย้อมผ้า

นอกจากนั้น เนื่องจากเราเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อังกฤษบังคับให้เราจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นข้าวสารจำนวน 1 ล้านตัน เพื่อส่งมอบให้รัฐบาลอินเดียซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทำให้เกิดการกักตุนข้าวสาร รัฐบาลจึงห้ามการส่งออก รัฐบาลเป็นผู้ส่งออกผู้เดียวและกำหนดให้ผู้ที่ได้รับมอบทำการส่งออกแทน รัฐบาลต้องเสียภาษีขาออกในรูปพรีเมียมข้าว และจากการส่งออกทำให้ราคาข้าวสารในประเทศต่ำกว่าราคาในตลาดโลก

กว่าจะเลิกได้ก็เป็นสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2525 ผู้ที่คัดค้านการยกเลิกพรีเมียมและอากรขาออกข้าวที่ขันแข็งที่สุดคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จากพรรคประชาธิปัตย์ จนนายกรัฐมนตรีต้องใช้มติคณะรัฐมนตรีจึงสำเร็จ แต่ในที่สุดก็ไม่ต้องส่งมอบข้าวให้อินเดีย แต่นโยบายข้าวราคาถูกกว่าตลาดโลกก็ยังอยู่ ภาษีขาออกและพรีเมียมข้าวก็ยังคงอยู่ การผลิตข้าวจึงไม่ขยายตัวเท่าที่ควร

วิกฤตการณ์ต่อมาคือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจอันเกิดจากวิกฤตการณ์น้ำมัน ที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันโดยมีประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นหัวหอก รวมกลุ่มกันตั้งองค์การผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปค OPEC ลดปริมาณการผลิตลง ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น น้ำมันดิบที่เคยมีราคาเพียง 2 ดอลลาร์ต่อบาเรล ก็ถีบตัวสูงขึ้นกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาเรล ไทยเราเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ รายจ่ายเมื่อนำเข้าน้ำมันเคยมีสัดส่วนเพียง 2-5 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้า ก็พุ่งสูงขึ้นถึง 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 4 ของการนำเข้า ทำให้เกิดการขาดดุลอย่างหนัก

เมื่อรัฐบาลประกาศการควบคุมราคา น้ำมันก็หายไปจากท้องตลาด รัฐบาลจึงใช้มาตรการประหยัดไฟ ไฟถนน เปิดข้างปิดข้าง สถานีจ่ายน้ำมันมีกำหนดเวลาเปิดตี 5 ปิด 4 ทุ่ม ห้ามเติมเกินความจำเป็น แต่ก็ยังไม่สำเร็จจนต้องเข้าโครงการกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2525 และต้องเปลี่ยนระบบกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนจากการตรึงค่าเงินไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐสกุลเดียว มาเป็นตรึงไว้กับตะกร้าเงินซึ่งประกอบด้วยเงินหลายสกุล และในที่สุดก็ต้องลดค่าเงินบาท วิกฤตการณ์ทางการเงินจึงลดลง

แต่เนื่องจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ยังตรึงค่าเงินไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งเต็มไปด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทจึงคงแข็งเกินไป จนถูกโจมตีโดยกองทุนตรึงค่าเงินจากสหรัฐอเมริกา เกิดเป็นวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 อันเป็นสาเหตุที่เราต้องเข้าโครงการกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศอีก ถูกกองทุนการเงินระหว่างประเทศกำหนดเงื่อนไขตามมาตรการ “รัดเข็มขัด” อย่างเข้มงวด เพื่อลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น ขึ้นราคาน้ำมัน ไฟฟ้า น้ำประปา ขึ้นภาษี ตัดงบประมาณ เป็นที่เดือดร้อนกันทั่วไป

ซึ่งเป็นนโยบายที่ผิดพลาด เศรษฐกิจหดตัวโดยธรรมชาติอยู่แล้วยังมาให้ใช้โครงการ “รัดเข็มขัด” เพิ่มเติมอีก จึงทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าที่ควรจะเป็น

จนถึงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่สามารถชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศทั้งหมดได้ก่อนกำหนด เราจึงพ้นจากพันธกรณีรัดเข็มขัดจากไอเอ็มเอฟ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ สาปส่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่ให้ใช้นโยบายสูตรสำเร็จเดียวกับทุกคน หรือ one shirt fits all หรือ one formula fits all ดังนั้น จึงไม่มีใครโง่เขลาเรียกหาไอเอ็มเอฟอีกโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะประเทศไทย

ประเทศสุดท้ายที่ต้องเข้าโครงการกู้เงินไอเอ็มเอฟ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่โง่เขลาของไอเอ็มเอฟ คือประเทศกรีซ ที่ประชาชนเดินขบวนขับไล่รัฐบาลและเดินขบวนต่อต้านไอเอ็มเอฟ รัฐมนตรีที่เรียกร้องบริการจากไอเอ็มเอฟโดยไม่จำเป็นจึงเป็นรัฐมนตรีที่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่มีความรู้เรื่องการเงินระหว่างประเทศ เป็นที่น่าอับอาย เพราะวิกฤตการณ์ที่เรากำลังจะประสบคือวิกฤตการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากมาตรการป้องกันโรคระบาดไวรัสโคโรนา ไม่ใช่วิกฤตการณ์ทางการเงิน เพราะดุลการค้าบัญชีเดินสะพัดของเรายังไม่มีปัญหา

ปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเกิดจากการปิดเมืองโดยไม่มีมาตรการรองรับ ทำให้คนที่เป็นแรงงานกลับบ้าน นำเอาเชื้อโรคไประบาดในต่างจังหวัด แทนที่จะอยู่แต่กรุงเทพฯและปริมณฑล เกิดจากการฝ่าฝืนมติของคณะรัฐมนตรีของสนามมวยลุมพินีที่อยู่ภายใต้การกำกับของทหารบก กลายเป็นที่แพร่เชื้อโรค มาตรการควบคุมราคาทำให้อาหารการกินขาดตลาดและมีราคาแพง การบริหารราชการแผ่นดินที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้โรคระบาดแพร่เป็นวงกว้างยากต่อการควบคุม

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจของเราคราวนี้ไม่เกี่ยวกับคุณพ่อไอเอ็มเอฟ ไม่ต้องไปเรียกมา

.

ที่มา : มติชนออนไลน์
2 เมษายน 2563