กิตติ์ธัญญา วาจาดี : เทคโนโลยีง่ายๆ จากน้ำใจ “ชาวอุบลฯ” สู้โควิด-19

น้ำใจที่ประชาชนให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ อสม. ตลอดจนถึงผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และอาสาสมัครในทุกหมู่บ้าน ในวันที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นปรากฏการณ์ที่น่าประทับใจในสายตาของ ส.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี หรือ เปิ้ล เขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดอุบลราชธานี  

“ในพื้นที่อุบลราชธานีก็มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ เป็นพี่น้องของเราที่เดินทางกลับมาบ้านเกิดแล้วพบว่ามีอาการจนต้องส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัด” ส.ส.กิตติ์ธัญญา ลำดับเหตุการณ์ในภาพรวมของพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

หลังตรวจพบผู้ติดเชื้อ จังหวัดจึงมีคำสั่งระงับการเดินทางเข้าออกของบุคคล ยานพาหนะ และสิ่งของ โดยตั้งจุดคัดกรองทั้งรถยนต์และบุคคลทั่วไปทั่วจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทำให้ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันและตรวจสอบติดตามสถานการณ์ รวมทั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่อีกหลายคน   

“ในระดับจังหวัดตั้งจุดคัดกรองทางเข้าจังหวัด และเมื่อมีคำสั่งเคอร์ฟิวออกมา ในระดับหมู่บ้านก็ต้องมีจุดคัดกรองกันมากขึ้น ซึ่งก็เลยทำให้จุดคัดกรองกลายเป็นที่รวมคนจำนวนมากตั้งแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ไล่มาถึงผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อสม. อปพร. แต่ยิ่งคนมากก็ยิ่งต้องการสิ่งของจำเป็นพื้นฐานทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ น้ำดื่ม เพราะต้องทำงานผลัดเวรกันตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีหยุด” ส.ส.เปิ้ล บอกถึงรายละเอียดการทำงานในระดับต่างๆของพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับบอกว่า “ในส่วนของตรงนี้เราก็ได้ช่วยอำนวยการทำงานให้เขา โดยเฉพาะเรื่องหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ช่วยลดความเสี่ยงเพื่อความปลอดภัยกับตัวเขาเอง ซึ่งจะทำให้เขาสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น”

ในมุมมองของ ส.ส.กิตติ์ธัญญา มองว่า ผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้มีเฉพาะประเด็นของสุขภาพเท่านั้น แต่อีกประการสำคัญคือ ผลกระทบจากประกาศ “เคอร์ฟิว” ห้ามออกจากบ้านเรือนในเวลากลางคืน ตั้งแต่ 22.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ได้สร้างปัญหาให้กับประชาชนโดยตรงอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ที่ไม่สามารถขนส่งสินค้าเกษตรตามช่วงเวลาที่กำหนด รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้า ในท้องถิ่นที่ปกติจะไปซื้อของมาขายในช่วงเวลา 02.00 – 03.00 น. ก็ไม่สามารถไปซื้อสินค้ากลับมาขายได้ ส่วนร้านค้าทั่วไปก็ต้องปิดบริการและทำให้ต้องขาดรายได้

“ผลกระทบมันแผ่เป็นวงกว้างมาก พี่น้องมีปัญหาตกงานขาดรายได้ เราก็ต้องหาทางช่วย อย่างร้านที่เคยเย็บผ้ามีรายได้ ก็ปรากฏว่าขาดรายได้เพราะไม่มีงานเข้ามา แต่บังเอิญช่วงนั้นเราก็ต้องการหาคนมาเย็บหน้ากาก เพื่อใช้ทดแทนหน้ากากที่ขาดแคลนและมีราคาแพง อยากได้หน้ากากผ้ามัสลินดีๆ พอได้คุยกันกับกลุ่มแม่บ้าน ก็ให้เขารับจ้างเย็บหน้ากากผ้า ร้านขายผ้าก็ขายผ้าได้ ก็ทำให้แม่บ้านพอมีรายได้บ้าง เปิ้ลเองก็ได้หน้ากากผ้าดีๆ ในราคาไม่แพงไปมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในพื้นที่ เป็นการส่งกำลังใจให้แพทย์ พยาบาล และพี่น้องอาสาสมัครทุกคน” ส.ส.อุบลราชธานี เขตเลือกตั้งที่ 3 เล่าถึงการพยายามหาหนทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดรายได้ในช่วงวิกฤติ 

แต่ในสถานการณ์ที่ปัญหาทุกอย่างถาโถมเข้ามาพร้อมกัน ทั้งโรคระบาดและสถานการณ์เศรษฐกิจ ส.ส.กิตติ์ธัญญา ได้เห็นแง่มุมดีๆ ที่พี่น้องประชาชน ที่ได้พยายามช่วยเหลือกันในทุกทาง  

“ตั้งแต่มีปัญหาเรื่องโควิด-19 เราก็ได้เห็นพี่น้องชาววารินชำราบ ช่วยกันตั้งกลุ่ม LINE GROUP ขึ้น เพื่อระดมกำลังกันช่วยกันหาสิ่งของที่จำเป็นมาช่วยเหลืออาสาสมัครที่จุดคัดกรอง หรือโรงพยาบาลหรือตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ปรับเป็นสถานที่กักกันพี่น้องที่กลับมาจากต่างถิ่น ซึ่งเป็นการช่วยกับปรับตัวรับสถานการณ์วิกฤติแบบง่ายๆ ด้วยการใช้เครื่องมือสื่อสารง่ายๆ ที่อยู่แล้วของชาวบ้าน เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ยากลำบาก พวกเราไม่ได้ออกแบบระบบอะไรที่มีราคาแพง แต่ชาวบ้านก็พยายามช่วยกันสร้างระบบกันเองแบบง่ายๆ จากสิ่งที่มีอยู่และใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยเหลือสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ก็ได้ใช้ LINE ธรรมดาๆ นี่แหละ ในจังหวัดก็จะแจ้งกันว่าจุดไหนขาดแคลนอะไร เช่น ขาดน้ำดื่ม ขาดหน้ากากอนามัย คนที่พอจะมีเงินในจังหวัด ก็พยายามหามาช่วย อย่าง เจลแอลกอฮอล์ที่หายากมากและราคาสูง เปิ้ลก็พยายามหาและเปรียบเทียบราคา เจอเมื่อไหร่ก็เอาเงินเดือนตัวเองซื้อเพื่อเอามาช่วยแจกจ่ายสำหรับใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งใครขาดแคลนอะไรเขาก็จะแจ้งมาบอก และใครพอช่วยเหลืออะไรเขาก็จะแจ้งมาบอกซึ่งเราจะเห็นความมีน้ำใจกันในยามลำบาก”

ส.ส.กิตติ์ธัญญา สื่อสารการทำงานของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เช่นช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดก็เช่นกัน ส.ส.เปิ้ลเลือกใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียของตนเองในการสื่อสารกับประชาชน เช่นในไอดีทวิตเตอร์  @ple_022  บอกให้ประชาชนทราบว่าขณะนี้กำลังจัดทำหน้ากากอนามัย หรือได้นำหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ไปมอบให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลวารินชำราบแล้ว “วันนี้นอกจากทำหน้ากากอนามัยแล้ว เรายังรวมทีมคณะพัฒนาสตรีทำเจลแอลกอฮอล์เพื่อแจกจ่ายโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ อสม. เจ้าหน้าที่คัดกรองโควิดและจะนำไปมอบให้ในวันพรุ่งนี้ รอหน่อยนะคะ ทำด้วยใจให้ด้วยรักค่ะ”

ส.ส.กิตติ์ธัญญา บอกเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์แบบนี้ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกันทั้งหมด แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีใครหนักหน่วงกว่าใคร เพียงแต่อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างเท่านั้น แพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข ต้องรับหน้าที่ในการตรวจรักษาผู้ป่วย ส่วนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และอาสาสมัคร ก็ต้องมาทำหน้าที่ในการตรวจสอบ คัดกรองตั้งด่าน ซึ่งมีความเสี่ยง ส่วนพ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ชาวบ้าน ก็ได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพ บางคนไม่มีรายได้เลย ต้องขาดรายได้ในขณะที่ต้องคอยดูแลครอบครัวไปด้วย  “ที่ผ่านมาชาวอุบลราชธานีช่วยเหลือกันทุกอย่างค่ะ จึงอยากให้กำลังใจทุกคน ให้ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ ให้ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายแล้วหากใครสักคนหนึ่งยังประสบปัญหา พวกเราก็จะไม่ทิ้งกันแน่นอน”