“หนึ่งอิ่ม” เพื่อรอยยิ้มของนักสู้ “สรัสนันท์ อรรณนพพร” เติมพลังกาย เติมกำลังใจ ให้ชาวขอนแก่น
“มาตรการไหนผ่อนปรนได้ พื้นที่ไหนความเสี่ยงน้อย ขอให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนปรนตามความเหมาะสม เพราะตอนนี้ปัญหาที่สำคัญคือชาวบ้านไม่มีแม้แต่ช่องทางทำมาหากิน” สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 8 พรรคเพื่อไทย บอกเล่าถึงปัญหาของประชาชนในสถานการณ์ที่หลายๆ พื้นที่ยังถูกล็อกดาวน์
ในปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นยังพบผู้ป่วย แต่มาตรการควบคุมป้องกันอย่างเข้มแข็ง โดย อสม. ซึ่งใช้มาตรการเฝ้าระวัง แบบ อสม. 1 คนต่อบ้าน 10 หลัง พร้อมตั้งด่านดูแลทางเข้าหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ลูกบ้าน และ อสม. ตรวจตราผลัดเวรกัน 24 ชั่วโมง และที่สำคัญคือประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดีในทุกด้าน ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มมั่นใจในการเฝ้าระวัง
“ในเรื่องของมาตรการในพื้นที่ยังคงเข้มแข็ง แต่ปัญหาหน้างานที่เกิดขึ้นจริงกับคือ รัฐสั่งให้ อสม. ทำงาน มีแต่คำสั่งแต่ไม่มีงบประมาณและอุปกรณ์ป้องกันตัวที่เพียงพอ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ก็ต้องรับบริจาคหรือลงขันกันซื้อเอง ซึ่งก็มีราคาแพง เราก็เข้าใจและเราก็สนับสนุนเต็มที่อยู่แล้ว ปัญหาส่วนนี้ก็พอจะมีทางผ่อนคลายได้ แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่คือผลกระทบต่อการทำมาหากินของพี่น้อง ซึ่งยังต้องหาทางแก้ไข” ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามถึงปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อชาวบ้านโดยตรง
“หลายปีมานี้พี่น้องชาวนาราคาข้าวไม่ดี เขาก็พยายามดิ้นรนปรับตัวไปทำอาชีพอื่น เช่น ไปรับจ้างรายวันตามตลาดสด ไปเป็นพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัด ขายทุกอย่างทั้งของสดของแห้งของชำ รถพุ่มพวงเอาหมด ก็พอให้เขามีรายได้บ้าง แต่เมื่อมีการประกาศให้หยุดกิจกรรมบางอย่าง ปิดสถานที่บางแห่ง เช่นประกาศยกเลิกตลาดนัดเขาเคว้งทันที”
ส.ส.สรัสนันท์ เล่าว่า สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปหลังมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ ยืดเยื้อ โดยสังเกตได้จากการที่พี่น้องประชาชนเข้ามาร้องทุกข์ที่สำนักงาน ส.ส. ซึ่งตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาพบว่านอกจากจำนวนจะมากขึ้นแล้ว ระดับความทุกข์ยากของแต่ละกรณียังรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“คนขับรถสามล้อในตลาดที่เคยมีรายได้เข็นผักส่งแม่ค้าต้องขาดรายได้ ไปจนถึงคนที่มีภาระดูแลผู้สูงอายุเป็นคุณยาย โดยมีรายได้จากการรับจ้างทำงานในตัวเมือง เมื่อหยุดกิจการก็ทำให้ขาดรายได้ ไม่มีเงินไปดูแล จนเป็นเหตุให้ป่วยหนักขึ้นจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นความเดือดร้อนอีกมุมหนึ่งที่บางครั้งรัฐไม่ได้มีมาตรการรองรับจากผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง ในวันแรกๆ คนยังตื่นตกใจกับโรค แต่เมื่อผ่านมา 2 เดือน คนต้องกินข้าวทุกวัน รัฐพูดทุกวันว่ามีมาตรการดูแลชาวบ้านแต่ไม่เคยถึงประชาชนจริงๆ เลย วันนี้มาถึงจุดที่คนไม่มีกินแล้ว แค่วันนี้วันเดียวก็มีคนมานั่งร้องไห้กับฟ่างแล้วอย่างน้อย 3 คน ฟ่างมานั่งสะท้อนใจ คิดว่าในวันนี้จะช่วยชาวบ้านได้อย่างไร ทำไมมีแต่คนหิวและบอกว่าขอข้าวหน่อย เขาไม่มีสตางค์แล้ว” ส.ส.สรัสนันท์ เปิดเผยถึงสถานการณ์จริงที่ได้ประสบในช่วงสถานการณ์นี้ พร้อมบอกว่า “ฟ่างพูดไม่ออกเลย ไม่รู้จะพูดยังไง…ฟ่างเป็น ส.ส. ต้องหาทางช่วยเขาให้ได้ จึงมาคิดว่าถ้าช่วยเขาให้อิ่มได้สักวันละมื้อก็น่าดี”
ส.ส.สรัสนันท์ เริ่มจากการปรับสำนักงาน ส.ส. ให้เป็นโรงครัวชั่วคราว จัดหาอาสาสมัครแม่บ้านที่ว่างงานมาทำกับข้าวแบ่งปันให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยแต่ละวัน จะแบ่งปันข้าว 1 มื้อ ให้กับคนที่ต้องยากลำบากจากสถานการณ์นี้
“แม้จะเป็นข้าวแค่ 1 มื้อต่อวัน แต่ก็น่าจะช่วยให้คนๆ หนึ่งหายหิว และมีแรงสู้กับปัญหากันต่อไป” ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย บอกถึงความตั้งใจในการดำเนินการของเขา”
“ฟ่างเข้าใจดีค่ะว่า การตั้งโรงครัวเพื่อแบ่งปันอาหารให้พี่น้องในยามทุกข์ยากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่มันก็เป็นการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่ต้นทางยังไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ เงินเยียวยาซึ่งน่าจะช่วยทุกคนเพราะทุกคนคือผู้ได้รับผลกระทบ ก็ยังล่าช้า และมีปัญหาไม่ทั่วถึง การผ่อนปรนมาตรการก็ยังไม่ชัดเจน เราทำอะไรได้ก็ต้องทำไปก่อน ฟ่างก็หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีแรงลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาต่อไปอีกมื้อหนึ่ง เพื่อรอวันที่รัฐผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นวันไหน”
“ที่เราช่วยเหลือเขาถือว่าเล็กน้อยมากๆ หากเปรียบเทียบกับรอยยิ้มของเขาเมื่อได้รับ เราเห็นสีหน้าเขาทุกข์ เราก็ใจไม่ดี แต่พอเขาได้รับแล้วเขายิ้ม เราก็เดาเอาว่ารอยยิ้มของเขา น่าจะทำให้เขามีกำลังใจในการที่จะผ่านสถานการณ์นี้ไป ความตั้งใจของเราคือคิดว่าถ้าช่วยให้เขาอิ่มท้อง ให้มีแรงพร้อมที่จะกลับมาลืมตาอ้าปาก เขาจะได้มีแรงสู้ต่อไป จนถึงวันที่เขาจะสามารถกลับมาทำมาหากินด้วยลำแข้งตัวเอง เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ได้อีกครั้ง ก็น่าจะดีที่สุดในสถานการณ์นี้” ส.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ทิ้งท้ายถึงความตั้งใจเอาไว้อย่างหนักแน่น