“จิราพร สินธุไพร” พลิกวิกฤติโควิด เปิดช่องทาง Shopping Online เพิ่มโอกาส-เพิ่มรายได้ ต่อลมหายใจช่วยชาวร้อยเอ็ด

“โรคระบาดก็กลัว แต่กลัวโรคไม่มีสักบาทมากกว่า” เป็นคำพูดติดปากของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ยากลำบากของชาวบ้าน ในภาวะที่ต้องเผชิญปัญหาปากท้องจากผลพวงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

“ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจปากท้องก็ไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว อย่างภาคอีสานเอง ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ชาวบ้านทำไร่ ทำนา ก็มีปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ผลผลิตราคาตกต่ำ ขายได้ราคาไม่ดี พอเริ่มที่จะฟื้นตัว ก็มาเจอกับโควิด-19 อีก ยิ่งกังวลกันมากขึ้น กลัวสถานการณ์จะยืดเยื้อแล้วจะเอาอะไรกิน กลัวจะอดตายกันก่อน” จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เล่าถึงสถานการณ์ที่ชาวบ้านในพื้นที่ร้อยเอ็ดต้องแบกรับ

หลังมีการประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ด้วยมาตรการต่างๆ ทำให้หลายกิจการต้องยุติกิจกรรมเศรษฐกิจชั่วคราว ประชาชนส่วนหนึ่งตัดสินใจกลับไปตั้งหลักยังภูมิลำเนา ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดประเมินว่าอาจมีพี่น้องประชาชนเดินทางกลับบ้านเกิดมากกว่า 17,000 คน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามควบคุมการแพร่ระบาดทุกช่องทาง กระทั่งการจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นที่น่าพอใจ กลับกันผลที่เกิดขึ้นจากมาตรการต่างๆ สร้างผลกระทบต่อปากท้องของคนในพื้นที่ในระดับน่าเป็นห่วง

ส.ส.จิราพร บอกว่า ด้านหนึ่งชาวบ้านกลัวว่าจะติดโรค เพราะเป็นโรคระบาดใหม่ ไม่เคยพบเจอมาก่อน อุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างหน้ากากอนามัย ก็หายากมาก ในฐานะ ส.ส. ก็ได้จัดทำหน้ากากผ้า เฟซชิลด์ และเจลแอลกอฮอล์ ไปแจกจ่ายเบื้องต้น และใช้ช่องทางในโซเชียลมีเดียที่มีช่วยสร้างความเข้าใจ ทำคลิปแนะนำวิธีป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19 รวมถึงวิธีการกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่อีกแง่หนึ่งก็พูดได้เลยว่าชาวบ้านก็มีความกังวลเรื่องปากท้องมากกว่ากลัวติดโรคไปแล้ว เพราะในพื้นที่ทำมาหากินกันแทบจะไม่ได้

“คนที่เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ก็หาเงินไม่ได้ ไม่มีเงินส่งกลับมา ที่บ้านก็ยิ่งลำบาก กลัวจะอดตายกันก่อนที่จะติดเชื้อ การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เคอร์ฟิวหรือมาตรการต่างๆ มีต้นทุนทางเศรษฐกิจด้วย ประชาชนต้องแบกรับภาระ ลงทะเบียนมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ก็ตกหล่น ไม่ได้รับเงิน เหมือนรัฐบาลไม่เหลียวแล จนเรารู้สึกว่าไม่เคยอยากจะมีอำนาจขนาดนี้มาก่อนเลย ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ชาวบ้านน่าจะมีที่พึ่งมากกว่านี้”

“บางทีเราก็ได้ยินคนอื่นพูดเหมือนว่าทำไมชาวบ้านต้องมารอของบริจาคกัน เราก็เก็บมาคิดนะว่าถ้าชาวบ้านเขามีทางเลือก ก็คงไม่มีใครอยากมาแบมือขอหรอก ทุกคนก็อยากทำงานหาเงินเองทั้งนั้น แต่ตอนนี้มันหาไม่ได้ไง ใครไม่ได้ตกอยู่ในภาวะไม่มีเงิน ไม่มีงาน ไม่เข้าใจหรอกว่าคนที่ต้องเผชิญอะไรแบบนั้นเขาจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งรัฐบาลก็ควรต้องรีบหาทางเยียวยา ดูแลให้ทั่วถึง ต้องเตรียมแผนเปิดเศรษฐกิจบางส่วน ต้องคอยดูช่องทางทำมาหากินให้ประชาชนบ้าง ไม่อย่างนั้นอาจทำให้หลายคนไม่รอด”

ส.ส.จิราพร เล่าว่า เวลาลงพื้นที่ช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 จะสัมผัสสถานการณ์ที่ยากลำบากของชาวบ้านได้อย่างชัดเจน ทำให้ต้องกลับมาย้อนคิดเสมอว่าจะหาทางช่วยเหลือได้อย่างไร โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง จากผลกระทบต่างๆ

“เราเห็นว่าในแต่ละพื้นที่มีสินค้าบางอย่างที่น่าสนใจ อย่างเช่น ข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และสินค้าเกษตรอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งปกติจะขายผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่พอมาเจอวิกฤติแบบนี้ พ่อค้าคนกลางก็ไม่มารับซื้อ เขาก็ไม่มีที่ขาย รายได้ก็หายไป เราก็เห็นว่าตอนที่ประกาศเคอร์ฟิว ล็อกดาวน์ คนต้องตุนของให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค ดังนั้นจะเห็นว่าช่องทางสั่งสินค้าออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมระหว่างการกักตัวอยู่บ้าน แทนที่จะซื้อเฉพาะจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ก็มาคิดว่าช่องทางออนไลน์ที่เรามีอยู่ น่าจะพอใช้เป็นพื้นที่ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าของชาวบ้านได้ จะได้มีคนรู้จักสินค้าเขากว้างขึ้นแล้วรู้ว่าเขามีสินค้าดีๆอยู่ ถ้าสามารถทำให้มีการซื้อขายกันได้ ก็น่าจะเป็นการช่วยกระจายรายได้ไปให้ชาวบ้านและชุมชน คนตัวเล็กตัวน้อยจะได้มีรายได้ เวลาเราลงพื้นที่แล้วผ่านร้านไหน หรือมีคนที่รู้จัก เราก็จะช่วยถ่ายรูปแล้วก็โพสต์ในแฟนเพจของเราเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าให้เขา”

หลังจาก ส.ส.จิราพร ประกาศโครงการ “ของเด็ดเมืองร้อยเอ็ด ช้อปปิ้งออนไลน์ กระจายรายได้สู่ชุมชน” ผ่านแฟนเพจ “ จิราพร สินธุไพร ”  ก็ได้รับความสนใจจากชาวบ้านอย่างมาก เพราะนอกจากสินค้าของชาวบ้านและชุมชนจะได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างกว่าเดิม ซึ่งเท่ากับโอกาสการค้าขายก็จะมีมากขึ้น อีกส่วนคือชาวบ้านมีความรู้สึกว่าในภาวะที่ยากลำบาก ยังมีคนมองเห็นปัญหาที่เขาต้องแบกรับและพยายามหาทางช่วยเหลืออยู่

“ชาวบ้านอยากผลักดันสินค้าชุมชนของตัวเองที่ดีๆ ให้คนนอกพื้นที่ได้รู้จัก ก็มีทั้งคนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงหลังไมค์มาฝากสินค้า มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าภาคการเกษตร เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ของเกษตรกรอำเภอโพนทราย ที่เราโพสต์ไป ก็มีออเดอร์สั่งซื้อเข้าไปยังเกษตรกรมากขึ้น”

ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย บอกว่า แนวคิดเพื่อช่วยให้ชาวบ้านได้มีช่องทางขายสินค้าเพิ่มขึ้น ได้เตรียมยกระดับสู่การหารือกับผู้ประกอบการสินค้าชุมชน โอทอป และสินค้าครัวเรือนต่างๆ เพื่อหาหนทางช่วยเหลือที่ถาวรในอนาคต

“ชาวบ้านมีสินค้า แต่เขาไม่มีสตอรี่ เราเลยจะเข้าไปคุยเพื่อหาที่มาที่ไป แล้วช่วยคิดเรื่องราวการนำเสนอให้น่าสนใจมากขึ้น อย่างสินค้าโอทอปที่เราไปดู ก็เห็นว่าหลายอย่างมีคุณภาพและมีศักยภาพ แต่ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเลยล้มหายตายจากไป เลยมาคิดว่าน่าจะช่วยต่อยอดร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้ชาวบ้านสามารถยืนอยู่ได้ในระยะยาว

“ที่ผ่านมาชาวบ้านขายของผ่านพ่อค้าคนกลางมาตลอด เขาก็ไม่คุ้นชินกับการขายออนไลน์ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาเลยคิดว่าในอนาคตอาจจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พัฒนาสังคม พาณิชย์จังหวัด จัดคอร์สอบรมการตลาดออนไลน์ให้ชาวบ้าน หรือพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ตรงกับความต้องการตลาดในอนาคต” ส.ส.จิราพร สินธุไพร เล่าถึงแนวคิดและแนวทางเพื่อช่วยเหลือชาวร้อยเอ็ด ทั้งในระยะที่ต้องพากันผ่านวิกฤติโควิด-19 และระยะยาวหลังจากนี้