สะพานเชื่อม .. ช่วย “ผู้ป่วยติดเตียง” : สงวน พงษ์มณี
“เวลามีผู้ป่วยติดเตียงสักคนหนึ่ง ถ้าคนดูแลตกงาน ออกจากบ้านไม่ได้
หางานทำไม่ได้ คุณจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย ทั้งเรื่องกิน เรื่องอยู่
เรื่องค่ายารักษาตัว” สงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน เขตเลือกตั้งที่ 1
พรรคเพื่อไทย
เล่าถึงปัญหาใหญ่ของคนอีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่จังหวัดลำพูนที่เขาพยายามเข้าไปดูแลช่วยเหลือ
ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
“ถ้าคุณเคยดูแลผู้ป่วยติดเตียง
คุณจะรู้ว่ามากกว่าผู้ป่วยติดเตียง คือคนดูแล
ที่ในเวลาปกติแล้วก็มีความลำบากระดับหนึ่งแล้ว
ในสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้ ทั้งโรคระบาด ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่าย
คนดูแลจะต้องรับผิดชอบและคิดอะไรมากกว่าเดิมหลายเท่า” ส.ส.สงวน
เริ่มต้นบอกเล่าถึงเหตุที่เขาคิดว่าจะต้องให้ความสนใจดูแลคนกลุ่มนี้ในพื้นที่ของเขา
ทั้งในอำเภอเมืองลำพูน อำเภอบ้านธิ และอำเภอแม่ทา เป็นพิเศษ
ส.ส.สงวน
เล่าว่า เมื่อเริ่มเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
เขาก็ได้ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องต่างๆ
ในการติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มกำลังที่สามารถทำได้
พร้อมกับสำรวจผลกระทบต่อประชาชนเพื่อให้ทุกกลุ่มได้รับการดูแลโดยไม่ให้ตกหล่น
แต่สุดท้ายเขาก็ฉุกคิดขึ้นว่า
นอกจากชาวบ้านทั่วไปที่จะต้องใส่ใจช่วยเหลือแล้ว
ในพื้นที่ก็ยังมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งควรจะต้องได้รับดูแลอย่างใกล้ชิด
“ภรรยาผมก่อนที่เขาจะเสียชีวิต
เขาเป็นผู้ป่วยติดเตียงเกือบสองปีมาแล้ว
ผมรู้ดีว่าผู้ป่วยติดเตียงและคนรอบข้างทุกข์ใจขนาดไหน
ในภาวะปกติเขาก็ทุกข์ใจอยู่แล้ว มาตอนนี้ที่สถานการณ์ต่างๆ ยากลำบากมากขึ้น
เขาก็จะยิ่งทุกข์ใจมากกว่าเก่าหลายเท่า …
..
ผมมีลูกคนเดียวที่เป็นคนดูแลแม่เขาอยู่ ผมยังรู้สึกทุกข์เลย แล้วคนอื่นๆ
ล่ะ ทั้งคนป่วย ทั้งคนที่ดูแล ถ้าไปเห็น..น้ำตาตกนะ
เวลาดูข่าวคนไม่มีเงินเลี้ยงดูพ่อแม่แล้วฆ่าตัวตาย
คนที่ถูกเลี้ยงดูเห็นคนที่เลี้ยงดูอยู่ลำบากแล้วทนไม่ได้ ฆ่าตัวตาย
เพราะคิดว่าตัวเองเป็นภาระ เพื่อไม่ให้คนอื่นต้องมารับภาระ
เขาจะต้องทุกข์ขนาดไหน”
ส.ส.ลำพูน
พรรคเพื่อไทย ไม่ได้เพิ่งเริ่มช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่
ในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดเท่านั้น
แต่ในยามปกติก็ได้ติดตามช่วยเหลือมาตลอดเวลา
เพียงแต่ในภาวะนี้ก็ได้กำชับทีมงานให้ติดตามดูแลใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิม
เพราะทราบว่าปัญหาต่างๆ อาจทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างมาก
“ที่นี่มีคำว่า
ติดบ้านกับติดเตียง ติดบ้านหมายถึงคนป่วยที่ยังพอเคลื่อนไหวเองได้
แต่ถ้าติดเตียง ก็จะเป็นคนป่วยที่เดินไปไหนไม่ได้เลย” ส.ส.สงวน
อธิบายการแยกกลุ่มผู้ป่วย เพื่อเตรียมเข้าสู่แผนการทำงาน 3 ขั้นตอนของเขา
ขั้นตอนแรก
ส.ส.สงวน พงษ์มณี จะรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงทั้งหมด
จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ อสม. ท้องถิ่นในพื้นที่
ซึ่งในมือเขามีทั้งหมดประมาณ 600 คน
ขั้นตอนที่สอง ส.ส.สงวน
จะวางแผนไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยทุกราย
โดยวันไหนต้องไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ไหนก็จะใช้เวลาหลังเสร็จสิ้นภารกิจในการพูดคุยกับ
อสม. และชาวบ้าน
เพื่อให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ป่วยแต่ละรายในชุมชน
จากนั้นก็จะไปเยี่ยมให้กำลังใจ พูดคุยสอบถามถึงปัญหาเฉพาะของแต่ละราย
เพื่อหาทางช่วยเหลือในเบื้องต้น หรือฝากสิ่งของจำเป็นให้
อสม.ในท้องถิ่นไปมอบให้เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา
เพราะจากประสบการณ์ในการดูแลครอบครัว
ทำให้เข้าใจดีว่าหากผู้ดูแลมีปัญหาหรือหมดกำลังใจ
ก็จะเป็นปัญหาไปถึงผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากนั้นใน
ขั้นตอนที่สาม ก็จะแนะนำทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล
ให้ทราบถึงช่องทางในการเข้าถึงสวัสดิการรัฐและการช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ
ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง แล้วถ้าผู้ป่วยและญาติ ติดขัดปัญหา ส.ส.สงวน
จะเข้าไปช่วยเหลือประสานงานในทันที
โดยจะพยายามเชื่อมประสานให้ผู้ป่วยและญาติได้รับความช่วยเหลือดูแลตามสิทธิที่พึงมีอย่างเต็มที่
“ปัญหามันมีหลายมิตินะ
โดยเฉพาะกับเรื่องลักษณะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
โรคระบาดไม่ใช่มีแค่มิติของการจะป้องกันโรคระบาดอย่างไร
เพราะเรามีคนที่ได้รับผลกระทบหลายกลุ่ม อย่างกรณีนี้ พอเราลงไปเจอเขา
ได้เห็น ได้มองตาเขา ก็พอรู้แล้วว่าเขาลำบากกันขนาดไหน” ส.ส.สงวน
อธิบายผลกระทบลูกโซ่จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ซึ่งทำให้ทั้งผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแลผู้ป่วยต้องตกที่นั่งลำบากมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า
“คนป่วยบางคนบอกว่าเขาน่าจะตายไปเลยด้วยซ้ำไป ถ้าตายไป
อาจยังพอเหลือเงินไว้ให้ลูกบ้าง แต่นี่เหมือนเขากลายเป็นภาระให้ครอบครัว
ต้องมานั่งเฝ้าไข้ ไม่มีรายได้ บางคนลูกหลานก็ตกงาน ฟังแล้วก็เจ็บปวดนะ
เราซึ่งเป็นคนฟัง ได้ยินแล้วก็อึ้งไปเลยเหมือนกัน”
“ผมพยายามคุยกับ
อสม. และญาติผู้ป่วยติดเตียงแต่ละราย ให้พยายามประคองกันเรื่องสภาพจิตใจ
แล้วพยายามช่วยให้เขาเข้าถึงการช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด
อีกทางหนึ่งผมในฐานะ ส.ส.ก็เอาความเดือดร้อนต่างๆ
เข้าสู่กระบวนการของสภาในทุกช่องทาง
เพื่อให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ” ส.ส.สงวน พงษ์มณี
เล่าถึงแนวทางที่เขาเชื่อว่าจะเป็นสะพานเชื่อมให้คนที่ต้องตกที่นั่งลำบากในพื้นที่ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด