“คนกำลังกลัวอด มากกว่ากลัวโรค” ณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี สะท้อนเสียงจากหนองบัวลำภู ในวันที่ชาวบ้านต้องสู้ “โควิด-เศรษฐกิจ-ภัยแล้ง”
“เริ่มแรกที่มีการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางการได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. ชรบ. ตั้งด่านคัดกรองเฝ้าระวัง สิ่งแรกที่กระผมทำ คือ ออกไปเยี่ยมที่ด่าน ก็เห็นปัญหาหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะอุปกรณ์สำหรับป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ กระผมได้ประสานงานร่วมกับภาคเอกชนและน้องๆ เยาวชนซึ่งอยู่ในช่วงปิดเทอม มาช่วยกันผลิตหน้ากากผ้าและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เพื่อนำไปมอบให้เจ้าหน้าที่ที่ตั้งด่านดังกล่าวไว้ใช้ครับ อย่างน้อยๆเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เปรียบเสมือนนักรบแนวหน้า ก็จะได้มีอะไรไว้ใช้ป้องกันตัวเองระหว่างปฏิบัติหน้าที่จากนั้นผมก็ได้แบ่งปันหน้ากากผ้าและแอลกอฮอล์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ของผมอย่างทั่วถึง” ส.ส.ณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี จังหวัดหนองบัวลำภู เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคเพื่อไทย ย้อนเล่าสถานการณ์ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มการระบาด
ช่วงแรกเริ่มของการสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรคนั้นเขายังไม่เห็นความผิดปกติที่เกิดกับชาวบ้านมากนัก แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเนิ่นนานออกไป ส.ส.หนองบัวลำภู เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ปัญหาต่างๆ ที่ซ่อนอยู่มากกว่าโรคระบาดก็ค่อยๆ แสดงผลออกมา
“ปัญหาหลายอย่างค่อยๆ เพิ่มทวีมากขึ้น ตามเวลาที่ยืดเยื้อออกไป ชาวบ้านเริ่มได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง จากที่ลงพื้นที่กระผมสัมผัสได้ถึงความทุกข์ยากของชาวบ้านที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน”
ส.ส.ณัฐวุฒิ เล่าว่า สถานการณ์ในพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็นครั้งที่ชาวบ้านยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่ง นอกจากต้องเผชิญวิกฤติโรคระบาดที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจปากท้องตามมา เช่นเดียวกับที่คนไทยทั่วประเทศต้องประสบแล้ว คนในพื้นที่ยังต้องต่อสู้กับปัญหาภัยแล้ง ที่ยืดเยื้อยาวนานข้ามปีอีกด้วย
“ตอนที่เริ่มมีการล็อกดาวน์ ตลาดเป็นสถานที่อีกสถานที่หนึ่งที่ชาวบ้านจะออกมาเพื่อจับจ่ายใช้สอยหาของกินของใช้ที่จำเป็น กระผมลงพื้นที่ไปมอบหน้ากากและแอลกอฮอล์ตามตลาด ก็ได้พูดคุยถามข่าวกับพ่อค้าแม่ค้าโดยตลอด ซึ่งพ่อค้าแม่ขายเกือบจะทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วงก่อนมีโรคระบาดก็เงียบอยู่แล้ว พอเจอโรคระบาดเข้าไปก็ยิ่งหนักมาก โรคเขาก็กลัวแต่จะให้ทำอย่างไร แต่ถ้าไม่ออกมาทำมาหากินก็ไม่มีอะไรจะกิน” ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย สะท้อนเสียงของชาวบ้านชาวตลาดในสถานการณ์ที่ทุกคนพูดตรงกันว่าหนักหนาสาหัส
“ทุกวันนี้ถ้าลงพื้นที่จะเห็นภาพของประชาชนไปรวมตัวกันรอรับอาหารบริจาค โดยไม่กลัวไวรัสมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขากำลังจะไม่สนใจมาตรการของรัฐอีกแล้ว เพราะสิ่งที่เขากลัว คือกลัวจะไม่มีอาหารสำหรับดำรงชีพ… พูดกันตรงๆ คนเขากลัวอด มากกว่ากลัวโรคแล้ว” ส.ส.ณัฐวุฒิ ย้ำคำพูดของชาวบ้านในพื้นที่อีกครั้ง
ในมุมหนึ่ง สถานการณ์เรื่องเชื้อไวรัสเหมือนยังเป็นเรื่องที่พอจะหาหนทางป้องกันได้ด้วยการปรับตัวรับมือของชาวบ้าน แต่ปัญหาปากท้องซึ่งในขณะนี้ทำให้ชาวบ้านต้องตกทุกข์ได้ยากกลับดูเหมือนว่ายังไม่มีวี่แววความหวัง ที่จะมองเห็นสัญญาณในการช่วยผ่อนคลายความกังวลทุกข์ใจลงได้
“ภัยแล้ง ในภาคอีสาน เป็นปัญหาที่รุนแรงและยาวนานไม่แพ้ปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เลย แล้วเป็นปัญหาข้ามปีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แม้รัฐบาลบอกว่าได้แก้ไขแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นมาตรการระยะสั้น ซึ่งไม่ยั่งยืน ไม่ตรงกับความต้องการของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ก็อยากให้ภาครัฐช่วยทำแหล่งกักเก็บน้ำแทนการขุดลอก เช่น ฝายชะลอหรือฝายกั้นน้ำ ฝายแก้มลิง ฯลฯ”
“ลำพังภัยแล้งพี่น้องเกษตรกรก็ลำบากกันมากอยู่แล้ว ยังจะมาเจอโรคระบาดและปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องซ้ำเติมเข้าไปอีก เวลานี้รัฐบาลต้องเชื่อมั่นในประชาชนว่าไม่มีใครอยากให้เชื้อไวรัสระบาดไปมากกว่านี้ ประชาชนพร้อมจะร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่มีใครอยากให้ครอบครัวของตนเองต้องอด ดังนั้นเราต้องควบคุมโรคอย่างมีสติ ไม่ใช่ปล่อยให้ความทุกข์ยากและความตายจากพิษเศรษฐกิจแซงหน้าความป่วยไข้และความตายจากเชื้อไวรัส นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนักและรีบทำอย่างเร่งด่วน เพราะความเดือดร้อนของประชาชนไม่สามารถรอได้”
ส.ส.ณัฐวุฒิ บอกว่า ตลอดเวลาที่ลงพื้นที่พบปะให้กำลังใจชาวบ้าน ก็จะรับฟังปัญหาจากชาวบ้านไปพร้อมกันด้วย หลายเรื่องหากเป็นสิ่งที่เขาพอที่จะช่วยเหลือได้ ก็จะช่วยเหลือเต็มกำลังความสามารถที่จะทำได้ แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่เขาบันทึกเป็นข้อมูลไว้ เพื่อหาหนทางช่วยเหลือ โดยใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร
“ทุกวันนี้อากาศที่ร้อน ก็คงไม่ร้อนเท่าความทุกข์ในใจของชาวบ้าน เพราะต้องแบกรับปัญหาต่างๆมากมาย กระผมไม่ทราบว่ารัฐบาลได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้บ้างหรือไม่ และมีแนวทางมีนโยบายในการแก้ปัญหาในเชิงรุกหรือไม่อย่างไรให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนได้จบชีวิตลงในทุกๆ วัน เพราะพิษเศรษฐกิจ และการเยียวยาที่ล่าช้าในสภาวการณ์เช่นนี้ ? ” ส.ส.ณัฐวุฒิ ทิ้งคำถามไว้ให้หลายฝ่ายได้ครุ่นคิด