คำต่อคำ “นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายเหตุผลการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560

สรุปเหตุผลการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ญัตติ ของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

 

ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในวันนี้รัฐสภาจะได้มีการพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอันเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน พรรคฝ่ายค้านต้องขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้เสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณาในครั้งนี้ด้วย แม้หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นจะทำได้ยากยิ่งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ก็ตาม แต่ก็หวังว่าสมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาจะให้ความร่วมมือเพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสำเร็จลุล่วงไปได้

 

ขอกราบเรียนว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่กำหนดกลไกในการปกครองและบริหารประเทศที่กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมิได้ ดังนั้น ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็ควรต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ และกำหนดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญด้วย ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นั้น ได้จัดทำขึ้นโดยผลพวงจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กรอบความคิดต่างๆในรัฐธรรมนูญจึงมาจากกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่มากำหนดกติกาเพื่อปกครองคนทั้งประเทศ เนื้อหาในรัฐธรรมนูญจึงผิดเพี้ยนพิกลพิการและไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ดังที่ทราบอยู่

 

แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มักจะถูกฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญอ้างว่าได้ผ่านการลงประชามติจากประชาชนแล้วก็ตาม แต่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ากฎหมายการลงประชามติในครั้งนั้นได้ตราขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. กำหนดเงื่อนไขและกลไกภาครัฐเพื่อให้มีการรับร่างรัฐธรรมนูญอยู่ฝ่ายเดียว ห้ามมิให้มีการคัดค้านแสดงความคิดเห็นที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีการดำเนินคดีผู้ที่ไม่เห็นด้วยไปจำนวนมาก จึงเป็นประชามติที่บิดเบี้ยว มีคำถามพ่วงที่สอดแทรกเข้ามา เพื่อนำไปสู่การเขียนบทเฉพาะกาลเพื่อการสืบทอดอำนาจ

 

พรรคเพื่อไทยนั้นได้คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่เมื่อยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะเห็นถึงแนวคิดของ คสชที่ส่งผ่านไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า สิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นคือการถอยหลังประเทศ ถอยหลังประชาธิปไตย และจะต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะได้มาซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารนั้นมีการนำวิธีคิดที่พิสดารผิดเพี้ยนไปจากที่เคยใช้มาในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ทั้งนี้ เพราะผู้คุมกลไกในการจัดทำรัฐธรรมนูญ คิดวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่า รัฐธรรมนูญนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองในอนาคต และสามารถลดทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมืองใหญ่ที่มีอยู่ลงได้

 

สิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องเลวร้ายที่ไม่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็คือ การวางกลไกในการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งเป็นผู้ทำการรัฐประหาร ทั้งที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. ในขณะนั้น ได้ประกาศต่อหน้าสาธารณะหลายครั้งว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศในระยะเวลาสั้นๆ และจะอยู่ไม่นาน คำประกาศดังกล่าวกลับตรงกันข้ามกับที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเพราะในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ก็คือ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้ถึง 250 คน และกำหนดให้ท่าน ส.ว. ชุดนี้ มีอำนาจในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรได้ในระยะ 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญได้ด้วย โดยนัยของการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก็เท่ากับให้ท่าน ส.ว. ทั้ง 250 คนนี้ มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 2 ครั้ง เพราะอายุของสภาผู้แทนราษฎรมีเพียง 4 ปี เมื่อ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ภายใน 5 ปี ดังนั้น หากสภาชุดนี้อยู่ครบ 4 ปี ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส.ว. ชุดนี้ ก็เลือกนายกรัฐมนตรีได้อีก 1 ครั้ง สอดรับกับบทบัญญัติที่กำหนดไว้ให้นายกรัฐมนตรีมาจากรายชื่อของพรรคการเมืองที่เสนอไว้ในการเลือกตั้งทั่วไป โดยผู้มีรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตรงนี้เองที่ทำให้เห็นชัดเจนว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้ปูทางและเปิดทางไว้ให้สำหรับท่านหัวหน้า คสช. ในขณะนั้น ซึ่งก็คือท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั่นเอง

 

ทุกท่านคงจะจำเหตุการณ์อันโศกเศร้าในอดีตที่เกิดขึ้นกับบรรดานิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ได้ร่วมกันเรียกร้องเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนทำให้หลายคนต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และสูญหาย จนรัฐธรรมนูญหลายฉบับต่อเนื่องมาได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับละทิ้งหลักการดังกล่าว เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจในขณะนั้นให้ได้สืบทอดอำนาจต่อไปเท่านั้น ซึ่งการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีแบบที่เป็นอยู่นี้ไม่ควรจะมีอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศเสรีประชาธิปไตย แต่ควรมีเฉพาะในประเทศเผด็จการเท่านั้น จึงเป็นที่มาที่กระผมและคณะต้องแก้ไขในเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งขณะนี้ประชาชนทั้งประเทศได้เห็นถึงกระบวนการสืบทอดอำนาจที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว และยังไม่สายเกินไปที่ท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันแก้ไขเพื่อถอดสลักระเบิดลูกใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราทุกคนได้ปลอดภัย

 

ประเด็นถัดมาคือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ได้มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้มียุทธศาสตร์ชาติอย่างน้อย 20 ปี เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์ชาตินั้นมีหลักสำคัญอยู่ 2 ประการ

 

ประการแรก ยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะต้องถูกกำหนดโดยกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอน เพราะยุทธศาสตร์ชาติจะมีผลกระทบต่อทุกคนในประเทศ แต่ยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ถูกกำหนดโดยกรอบความคิดของ คสชซึ่งเป็นผู้นำเหล่าทัพเป็นหลัก แม้จะมีการแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะกรรมการร่วมด้วย แต่กรอบความคิดหลักคือ คสช. โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมใดๆ ทั้งสิ้น

 

ประการที่สอง ยุทธศาสตร์ชาตินั้นไม่ควรกำหนดระยะเวลาที่ยาวเกินไปเพราะสถานการณ์โลกและภายในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา การกำหนดระยะเวลาที่ยาวเกินไปจะเป็นพันธนาการประเทศไว้กับความคิดที่ล้าสมัย ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาตินั้นควรบัญญัติไว้โดยพระราชบัญญัติก็น่าจะเหมาะสม สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ทันสถานการณ์ได้ ไม่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อพรรคการเมืองและรัฐบาลในอนาคตที่จะมีนโยบายในการบริหารประเทศ

 

แผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ก็ไปเขียนเอาไว้เสียมากมายในรัฐธรรมนู แต่ขอถามว่าที่ผ่านมาใช้รัฐธรรมนูญมา 3 ปีแล้ว การปฏิรูปด้านต่างๆ มีความคืบหน้าแม้แต่เรื่องเดียวหรือไม่ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่า ถ้าสิ่งที่ท่านกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ได้ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและประเทศ มีความเจริญก้าวหน้านั้น ผมจะไม่ว่าเลย แต่หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นต้นมาประเทศชาติมีแต่จะแย่ลงและประชาชนมีความยากจน เดือดร้อนทั่วทุกหัวระแหง

 

เรื่ององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นปัญหาใหญ่ หลายท่านคงจะไม่ปฏิเสธว่ากลไกการได้มาซึ่งองค์กรอิสระและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระในปัจจุบันมีปัญหา เพราะการทำงานขององค์กรอิสระนั้นไม่อิสระจริงตามชื่อ ยังถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจได้ ขอยกตัวอย่าง 2 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. หลายคดีและหลายเรื่อง สังคมมีความกังขาในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะกรรมการขององค์กรอิสระเหล่านี้มีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในปัจจุบันซึ่งนั่นเป็นปลายเหตุ แต่ต้นเหตุมาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งการได้มาซึ่งองค์กรอิสระนั้นไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจประชาชน ไม่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะประชาชนไม่มีกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจของท่านได้เลย ขณะที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจของท่านมากมาย ดุลพินิจหลายเรื่องของท่านเป็นยุติเด็ดขาด ทั้งที่ขัดต่อสายตาประชาชน ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องมีการแก้ไข

 

หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256จะเห็นได้ว่า นอกจากจะได้มีการกำหนดกลไกการสืบทอดอำนาจไว้อย่างโจ่งแจ้งแล้ว ยังมัดตราสังรัฐธรรมนูญไว้เพื่อมิให้มีการแก้ไขได้ง่ายด้วย แล้วก็ยังไม่มั่นใจว่าในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะทำสำเร็จหรือไม่ ถ้าทำไม่สำเร็จก็ต้องถือว่าเป็นความโชคร้ายของประเทศชาติอย่างมหันต์ เพราะไปเขียนในรัฐธรรมนูญว่า ในวาระแรกขั้นรับหลักการ นอกจากได้เสียงข้างมากของทั้งสองสภาแล้วจะต้องมี ส.ว. ให้ความเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คน เช่นเดียวกับวาระที่ 3 นอกจากต้องมีเสียง ส.ว. เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 แล้ว ถ้าเป็นการแก้ไขในบางหมวด เช่น หมวดที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ จะต้องไปลงประชามติอีกด้วย ซึ่งไม่ได้ห่วงเรื่องการทำประชามติ เพราะเคารพในเสียงของประชาชน แต่เป็นห่วงเรื่องเสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 นี่แหละ ที่จะมีผลต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าจะสำเร็จหรือไม่ การกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมทำได้ยากเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อรัฐธรรมนูญและประเทศชาติ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อสถานการณ์ก็จะมีการใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญมาเปลี่ยนแปลงหรืออาจเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ อาจนำมาซึ่งความเสียหายรุนแรงได้ มาตรา 256 นี้ จึงควรต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นลำดับต้นๆ

 

มื่อรัฐธรรมนูญมีปัญหาในหลายส่วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันไปหมด การจะแก้ไขเป็นรายมาตราก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมด อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากผลพวงของการรัฐประหาร มีการวางกลไกต่างๆ ไว้ ซึ่งบางเรื่องอาจยังไม่เห็นปัญหาแต่อาจจะเป็นปัญหาในอนาคต โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนในการจัดทำตั้งแต่การได้มาซึ่งผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญและไม่มีส่วนในการกำหนดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เหตุนี้เองกระผมและคณะจึงได้เสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยผ่านกระบวนการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ... โดยมี ... ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละจังหวัด และ ... ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีการรับฟังข้อเสนอของประชาชนโดยตลอด ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประชาชนจะมีส่วนร่วมตั้งแต่การเลือก ... การกำหนดเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญและการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อันจะถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยประชาชน และเพื่อประชาชนโดยแท้จริง ดังนั้น ญัตติที่กระผมและคณะได้เสนอคือ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

สำหรับอีก 4 ญัตติที่ได้เสนอนั้น มีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องแก้ไข กล่าวคือ เราเห็นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญบางเรื่อง ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศ บางเรื่องไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน นอกจากนั้นกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ... อาจต้องใช้เวลาพอสมควร หากสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร การใช้บทบัญญัติเดิมตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่เท่ากับยังมีอุปสรรคสำคัญอยู่ การเมืองก็คงย่ำอยู่กับที่ พัฒนาต่อไปไม่ได้ กล่าวคือ

 

ญัตติแรก ให้ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 เกี่ยวกับอำนาจ ส.ว. ในการติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ การจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ     ซึ่งเห็นว่าเป็นอำนาจตามปกติของสภาผู้แทนราษฎรในการดำเนินการอยู่แล้วจึงไม่จำต้องกำหนดไว้ ส่วนกรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ ที่กำหนดให้ต้องกระทำในที่ประชุมของรัฐสภานั้นก็ไม่ควรกำหนดไว้ ควรให้เป็นไปตามขั้นตอนปกติตามรัฐธรรมนูญ

 

ญัตติต่อมาคือ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากรายชื่อของพรรคการเมืองที่แจ้งไว้ แก้ไขเพิ่มเติมเป็น ให้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ ขณะเดียวกันก็ให้ยกเลิกมาตรา 272 เกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

 

ญัตติต่อมา เป็นการยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ซึ่งมาตรานี้มีผลเป็นการสร้างความถูกต้องชอบธรรมให้กับการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จึงทำให้การใช้อำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. ที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมาก เป็นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แต่เหตุผลที่ขอยกเลิกนี้มิใช่เพื่อต้องการไปฟื้นฝอยหาตะเข็บในการเอาผิดกับ คสช. หรือบุคคลใด แต่เห็นว่าการคงบทบัญญัติดังกล่าวไว้จะกระทบต่อสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้บทบัญญัติต่างๆของรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจไม่สามารถใช้บังคับได้ เพราะจะถูกลบล้างโดยมาตรา 279 ดังกล่าว จึงเห็นว่าควรยกเลิกมาตราดังกล่าวเสีย

 

และญัตติสุดท้าย เป็นเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้นำระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้แทนระบบปัจจุบัน เนื่องจากเป็นระบบที่ใช้ในการเลือกตั้งมาหลายครั้งและประชาชนมีความเข้าใจและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เป็นระบบที่ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติมีความเป็นธรรมแก่ทุกพรรคการเมืองและสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นอย่างดี

 

ตามที่ได้กราบเรียนมาทั้งหมดนี้เพื่อให้ท่านประธานและท่านสมาชิกรัฐสภาได้ร่วมกันพิจารณาว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมในอดีตที่ คสช. ได้กำหนดไว้ เพื่อให้กติกาสูงสุดของประเทศเป็นสิ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดขึ้นใช้บังคับอย่างแท้จริง ไม่เป็นกติกาที่เอื้อประโยชน์สำหรับบางฝ่ายดังที่เป็นอยู่ ให้ได้กติกาของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล มีการถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจอธิปไตยอย่างถูกต้องเหมาะสม หยุดยั้งกระบวนการสืบทอดอำนาจและให้ได้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เลือกมาจากประชาชน ไม่ใช่ใครก็ไม่รู้มาแอบอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนที่เป็นอยู่ ระบบและสิ่งที่ไม่ดีจะต้องถูกแก้ไขในรัฐสภาชุดนี้ให้ได้