“ภูมิธรรม เวชยชัย” รำลึกจาก 19 ก.ย. 49 ถึง 19 ก.ย. 63 สังคมไทยเรียนรู้อะไร
19 กันยายน 2563 นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเพจ Phumtham Wechayachai ระบุว่า “จาก 19 กันยายน 2549 ถึง 19 กันยายน 2563 สังคมไทยเรียนรู้อะไร”
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้เกิดการรัฐประหารรัฐบาลของพรรคไทยรักไทยที่มี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็น นายกรัฐมนตรี โดยคณะรัฐประหาร ที่เรียกตัวเองว่า “คมช.”
การรัฐประหารในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบทอดอำนาจของเผด็จการสีเขียว ซึ่งยังได้ทำการต่อเนื่องอีกครั้งในปี 2557 โดยคณะ “คสช.” ที่เป็นต้นทางการสืบทอดอำนาจต่อมาของคณะรัฐบาลปัจจุบัน
การรัฐประหารที่เป็นมรดกจาก “คมช.” สู่ “คสช.” คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการต่างๆ ที่บิดเบี้ยว ทั้งนี้ด้วยเหตุผลเดียวคือ การทำลายคณะบุคคลที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ทำลายระบบความยุติธรรมของประเทศ ขัดกับหลักนิติธรรมจนขาดความน่าเชื่อถือ อีกทั้งตัดตอนกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ในกลไกการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของสังคมไทย จนส่งผลกระทบรุนแรงถึงระบบการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่รวมศูนย์อำนาจผ่านกลไก ส.ว. ระบบเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ไร้ทางออกที่กำลังส่งผลให้ประเทศและประชาชนกำลังจะล่มสลาย การใช้งบประมาณในการฟื้นฟูระบอบทหารด้วยการจัดซื้ออาวุธที่ไม่ได้มีความจำเป็นเพียงพอ เมื่อเทียบกับการขาดไร้ความมั่นคงทางปากท้อง ส่งผลต่อการไร้ความสุขและความหวังในชีวิตของประชาชนไทย สังคมไทย โดยผู้นำรัฐบาลทหารที่พยายามสร้าง “รัฐทหาร” ขึ้นใหม่ ได้นำพาประเทศถอยหลังกลับไปอย่างยากที่จะฟื้นตัวกลับมา
มาถึงวันนี้…ผมคิดว่ากระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ ได้เริ่มต้นอีกครั้ง อย่างมีพัฒนาการ เพราะในช่วงเวลานับตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 นั้น ท่ามกลางบริบทของสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และหลักการที่บิดเบี้ยว สองมาตรฐาน พวกเขาล้วนเรียนรู้ และเติบโตขึ้นมาซึ่งได้กลายเป็นที่มาของแนวคิดเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมของสังคม คำถามสำคัญที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ตั้งคำถามกับความล้มเหลวของกระบวนการต่างๆ ที่ผ่านมา และเป็นส่วนหนึ่งของการตกผลึกทางความคิดที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง อันเป็นเหตุผลในการนัดชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนนี้
สิ่งหนึ่งที่สำคัญและชัดเจน ที่อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของการเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชน ในช่วงปัจจุบันคือ “ระบอบเผด็จการ” ที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน และห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตย นั้น มิใช่คำตอบที่จะทำให้เกิดการกินดี อยู่ดี และชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และมิได้อำนวยให้เกิดความเคารพ และมีหลักประกันในสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชน
“คนดี มิใช่คำตอบที่มาทดแทนระบบที่ดี เพราะอำนาจที่ไร้การควบคุม ไร้การตรวจสอบ มักทำให้คนดีผิดเพี้ยนและคอร์รัปชัน แต่ในทางตรงข้าม ระบบที่ดีที่มีการตรวจสอบ และถ่วงดุลต่างหาก ที่สร้างหลักประกันและสามารถควบคุมอำนาจต่างๆ ให้ประชาชน เกิดความมั่นใจ”
นี่คือ…พัฒนาการของกระบวนการประชาธิปไตยที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ และต้องช่วยกันป้องกันมิให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ อย่างเช่นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ลูกหลานของเรา ได้สานฝันและกำหนดอนาคตที่พวกเขาพึงประสงค์ ด้วยตัวของพวกเขาเอง
“อนาคต และความเป็นประชาธิปไตย ต้องเกิดขึ้นและถูกกำหนดด้วยสองมือของพวกเขา และเสร็จสิ้นผ่านเจตนารมณ์และปัญญาบริสุทธิ์ของคนรุ่นเขาเอง”
หากจะมีการกระทำใดๆ ที่เป็นการใช้เงื่อนไขความรุนแรง เพื่อละเมิดสิทธิหรือทำร้ายเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนที่รักประชาธิปไตย ผมขอให้ร่วมกันจับตามอง เฝ้าระวัง เพื่อให้สายตาของสาธารณชนได้ร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามทำร้ายแก่ขบวนการประชาธิปไตย และป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่ก้าวสู่อำนาจใหม่อีกครั้งของเผด็จการในทุกรูปแบบ