พรรคเพื่อไทย เปิดเส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรียกร้องทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อหาทางออกจากวิกฤติประเทศ
14 กันยายน 2563 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาพรรค นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรค และนายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรค ร่วมกันแถลงถึงเส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า การยื่นแก้มาตรา 256 คือการไขกุญแจไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกออกแบบมาให้แก้ไขได้ยากมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เห็นพ้องกันที่จะแก้มาตรา 256 รวมทั้งการให้มี ส.ส.ร. คือการให้อำนาจการเขียนรัฐธรรมนูญจากผู้มีอำนาจมาสู่มือประชาชน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เขียนเพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งในขั้นตอนนี้เราก็ผลักดันจนได้รับการบรรจุและจะพิจารณาในวาระแรกวันที่ 23-24 กันยายนนี้ และมีการเสนอเพิ่มอีก 4 ญัตติ เพื่อหาวิธีการอย่างสันติวิธีในการแก้ไขวิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องของนายกฯคนนอก และไม่อยากเห็นการใช้ความรุนแรงจนเกิดวิกฤติประเทศจนไปถึงการรัฐประหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นทางออกอย่างสันติ เป็นการคืนอำนาจไปสู่มือประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และ ส.ว. มีความจริงใจ สนับสนุนให้มีการเปิดการประชุมรัฐสภาในสมัยวิสามัญในเดือนกันยายน เพื่อให้พิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกญัตติให้เสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม เพราะหากเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม อย่างน้อย 5 ญัตติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาไปเรียบร้อยแล้ว ก็จะเพิ่มโอกาสในการแก้วิกฤติครั้งนี้ได้ โดยเป็นหลักการที่เป็นสากลและเป็นไปด้วยความสันติ
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาและประเด็นที่จะต้องแก้ไขมากมาย เพราะจากการผูกโยงมาตราต่างๆ เป็นโครงข่ายไว้ด้วยกัน ทำให้จะแก้ไขเฉพาะมาตราใดมาตราหนึ่ง โดยไม่แก้ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องไม่ได้ เพราะฉะนั้น ญัตติในส่วนที่มี ส.ส.ร. เป็นส่วนที่จะทำให้เราได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ว่าจะมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ร่าง หรือมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นต่างๆ ในการที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งกระบวนการตรงนี้คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง จึงมีผู้ตั้งคำถามว่า ถ้าหากระหว่างนี้เกิดมีการยุบสภาแล้วต้องมีการเลือกตั้งใหม่ กติกาที่ใช้อยู่คือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ และมีผลทำให้ผู้มีอำนาจกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ จะแก้ไขอย่างไร เรามีกระบวนการแก้ไขหลักๆ ดังนี้ คือ 1. รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีการให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งได้ เราขอเสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ต่อไปถ้ามีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ส.ส. เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ลงมติเลือกว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี 2. ที่มาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดโอกาสให้คนนอกสามารถเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เราจึงเสนอตัดทิ้งออกไป และเปิดโอกาสให้กับคนในที่เป็น ส.ส. สามารถมีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ 3. มาตรา 279 เป็นบทบัญญัติที่นักกฎหมายต่างลงความเห็นว่าเป็นบทบัญญัติที่แย่ที่สุดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และแย่ที่สุดกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยมีมา เพราะว่าเป็นการทำให้ประกาศ คำสั่ง คสช. และการกระทำต่างๆ ของ คสช. ถูกต้องชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆ 4. การตัดอำนาจ ส.ว. ในการที่จะมาติดตามเรื่องการปฏิรูป และเรื่องที่มามีส่วนร่วมกับ ส.ส. ในการพิจารณายับยั้งกฎหมาย ซึ่งแต่เดิม ส.ส. กับ ส.ว. พิจารณาแยกกัน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้เรื่องบางเรื่อง กฎหมายบางประเภทต้องมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งต่างจากหลักการพิจารณากฎหมายทั่วไป ตรงนี้เราจึงตัดให้เป็นการพิจารณาตามปกติของแต่ละสภา
นายเกรียง กล่าวว่า การเสนอ 4 ญัตติ เพื่อแก้ 5 มาตรา ในครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเสนอเพื่อรองรับข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่กำลังเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นการขายฝัน แต่ก็เป็นความฝันที่คนไทยทั้งประเทศอยากจะเห็นความสำเร็จในครั้งนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับทางรัฐบาล และ ส.ว. ว่าจะเห็นด้วยกับญัตติที่เราเสนอหรือไม่ ซึ่งเราหวังว่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภา
นายวัฒนา กล่าวว่า ผลของการศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนประมาณ 12% เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีอยู่แล้ว อีก 19% เห็นว่ามีปัญหา ควรแก้ไขเป็นรายประเด็น และอีกประมาณ 62% เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหามาก ควรให้ประชาชนเป็นคนเขียนเอง โดย ส.ส.ร. เพราะฉะนั้นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเสนอไปจึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งการยื่น 4 ญัตติ คือเผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น นายกฯลาออก หรือยุบสภา ถ้าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะได้อยู่ในกติกาที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ทั้งนี้ อยากให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงในประเทศเป็นไปตามครรลอง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา แต่ขอให้ประชาชนอดทน เพราะตรงนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่หลายพรรคการเมืองร่วมกันเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตั้ง ส.ส.ร. เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ส่วนในมาตรา 256 ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ก็เห็นชอบเสนอเหมือนกัน แต่หัวใจสำคัญคือ ส.ว. อีก 84 เสียง ถ้าโหวตให้ ประชาชนก็จะได้อำนาจคืนไปเขียนร่างรัฐธรรมนูญของเขาเอง ซึ่งเขาจะเขียนกันอย่างไรก็ต้องเคารพกัน จึงอยากให้ ส.ว. เข้าใจความรู้สึกของประชาชนว่า ประชาชนก็อยากมีร่างรัฐธรรมนูญของเขา ถ้า ส.ว. อยากสนองตอบเจตนารมณ์ของประชาชน ที่จะได้เขียนรัฐธรรมนูญของประชาชนเองแล้ว สันติก็จะเกิดขึ้นกับประเทศนี้เอง